
“กิตติรัตน์” ประเดิมแก้หนี้ กยศ. 8.6 หมื่นราย ชี้คำนวณหนี้ใหม่ตามกฎหมาย กยศ.ล่าสุด “ตัดเงินต้นก่อนตัดยอดดอกเบี้ยปรับ” มอบเป็นของขวัญปีใหม่ เชื่อส่งผลดีผู้กู้ ช่วยลดภาระผู้ค้ำ เล็งขยายความช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มอื่นทั้งระบบ
วันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาหนี้ กยศ. ว่า ลูกหนี้ กยศ. จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับการช่วยเหลือ จากนี้จะขยายความช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มอื่น ๆ ต่อไปให้ครอบคลุมทั้งระบบ
โดยการแก้หนี้ กยศ. จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายกองทุน กยศ.ฉบับใหม่ ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2566 ซึ่งมีการกำหนดเรื่องอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเดิม และคำนวณภาระหนี้สินย้อนหลังด้วย จะทำให้ลูกหนี้หลายคนหมดหนี้ หรือแม้แต่คนที่ชำระไปแล้ว บางคนอาจจะได้เงินคืนด้วย
สำหรับลูกหนี้ กยศ.ที่อยู่ในชั้นของการบังคับคดี เช่น รายที่ถูกยึดทรัพย์ หรือรอการขายทอดตลาด ทาง กยศ.ก็จะคำนวณยอดหนี้ให้ใหม่เช่นกัน ซึ่งเชื่อว่าเมื่อมีการคำนวณยอดหนี้ใหม่แล้ว ความจำเป็นในการนำทรัพย์ไปขายทอดตลาดแทบจะไม่มีเลย เพราะยอดหนี้จะถูกปรับลดลงไปมาก
โดยคำนวณยอดหนี้ใหม่ ต้องมาดูว่าเงินที่ลูกหนี้จ่ายลูกหนี้เรามีหลายแบบที่ผิดนัด-ไม่ผิดนัดเลย บางคนก็มีการจ่ายเบี้ยปรับมาแล้ว แต่หลักการของเราคือจะนำเงินทุกคนของทุกคนนี่แหละครับมาคำนวณใหม่ตั้งแต่เดย์วันที่เขาเริ่มกู้
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วันนี้กฎหมายลำดับรอง ของ พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2566 ได้เริ่มมีผลแล้ว ซึ่ง กยศ.จะมีการปรับลำดับการตัดชำระหนี้ใหม่ โดยจะนำเงินที่ผู้กู้ยืมมาชำระให้กับ กยศ.ไปหักเงินต้นก่อนเป็นลำดับแรก จากนั้นตามด้วยดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ จากเดิมที่เป็นการตัดเบี้ยปรับก่อน แล้วตามด้วยดอกเบี้ย และเงินต้นในลำดับสุดท้าย
โดยลูกหนี้ที่ผ่อนมาแล้ว เมื่อคำนวณใหม่ จะมีกลุ่มที่ยอดหนี้ลดลงอย่างชัดเจน และอาจมีบางกลุ่มที่ยังผ่อนอยู่ และยังผ่อนไม่หมด แต่พอคำนวณใหม่ อาจจะปิดยอดได้เลย ส่วนลูกหนี้ที่ได้ปิดยอดไปแล้ว กยศ.จะไปคำนวณให้ใหม่ เพื่อดำเนินการให้ถูกต้อง
นายลวรณกล่าวต่อว่า กยศ. จะมีการสร้างซอฟต์แวร์แบบง่าย ๆ ซึ่งสามารถคำนวณด้วยมือให้ก่อน ในกลุ่มลูกหนี้ที่เร่งด่วน แบ่งเป็น 2 กลุ่มดังนี้ กลุ่มแรกลูกหนี้ที่ถูกฟ้องร้องและอยู่ในชั้นของกรมบังคับคดี จำนวน 4.6 หมื่นคน จะเริ่มทำให้เสร็จในเดือนธันวาคม 2566 นี้
กลุ่มที่สองคือลูกหนี้ที่จะหมดอายุความในเดือนมีนาคม 2567 ประมาณ 4 หมื่นคน เพื่อปรับโครงสร้างหนี้กับ กยศ.ใหม่ และจะดำเนินการให้เสร็จภายใน ธ.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นข่าวดีและเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับลูกหนี้ กยศ. ทั้งหมด
ด้านนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการ กยศ. กล่าวว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กยศ.มีการปล่อยกู้ไปแล้ว 7 แสนล้านบาท มีผู้กู้ 7 ล้านคน วันนี้มีผู้กู้ปิดบัญชีไปแล้ว 2 ล้านคน อยู่ระหว่างการศึกษา 1.3 ล้านคน และอีก 3.5 ล้านคน อยู่ระหว่างการผ่อนชำระ มีภาระหนี้ที่หมุนเวียนอยู่ประมาณ 4 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ ในจำนวน 4 แสนล้านบาท อยู่ในกรมบังคับคดีหลายหมื่นคดี โดยเฉลี่ย 1 คน ยอดหนี้อยู่ที่ 1.2 แสนบาท โดยในขณะนี้ กยศ.ดำเนินการยึดทรัพย์ ชะลอการฟ้อง และชะลอการขายทอดตลาด
ทั้งนี้ กยศ.จะเริ่มเปิดให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ในกรุงเทพฯ ก่อน จากนั้นจะทยอยเปิดในภูมิภาคต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของลูกหนี้ที่สามารถผ่อนได้ปกติ ก็ขอให้ผ่อนต่อไป เพื่อส่งต่อโอกาสให้รุ่นน้อง แต่ถ้าผิดนัดชำระหนี้ กยศ. ก็จะเปิดโอกาสให้ปรับโครงสร้างหนี้ได้