หุ้นไทยวอลุ่มบาง ปิดตลาดแค่ 3.7 หมื่นล้าน ต่ำสุดในรอบ 15 วัน

หุ้น

ตลาดหุ้นไทยปิดยืน 1,419.44 จุด เพิ่มขึ้น 0.26% มูลค่าการซื้อขายเบาบางแค่ 3.74 หมื่นล้านบาท วอลุ่มต่ำสุดในรอบ 15 วัน หุ้น PTT เทรดอันดับ 1 ปิดราคา 34.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.73%

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) วันนี้ปิดตลาดเย็น อยู่ที่บริเวณ 1,419.44 จุด เพิ่มขึ้น 3.66 จุด หรือ +0.26% เมื่อเทียบจากดัชนีวันก่อนหน้า โดยมีมูลค่าการซื้อขายรวมอยู่ที่ 37,420.63 ล้านบาท หุ้นในกลุ่ม SET50 +0.28% ส่วนหุ้นในกลุ่ม mai -0.55%

โดยระหว่างวันพบว่าภาคเช้าเคลื่อนไหวในแดนลบเป็นส่วนใหญ่ ก่อนจะพลิกกลับยืนแดนบวกได้ตลอดทางตั้งแต่ภาคบ่ายจนปิดตลาดเย็น ทั้งนี้ สำหรับ 5 อันดับหุ้นที่มีมูลค่าซื้อขายสูงสุด ประกอบด้วย

               

1. PTT มีจำนวน 1,741 ล้านบาท ปิดราคาที่ 34.50 บาท +0.73%
2. CPALL มีจำนวน 1,352.36 ล้านบาท ปิดราคาที่ 56 บาท -1.32%
3. PTTEP มีจำนวน 1,142.18 ล้านบาท ปิดราคาที่ 160 บาท +0.95%
4. TOP มีจำนวน 1,046.40 ล้านบาท ปิดราคาที่ 51.25 บาท +2.50%
5. BH มีจำนวน 964.53 ล้านบาท ปิดราคาที่ 225 บาท +2.74%

ซึ่งตามที่มีกระแสข่าวในวันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2566 ที่นักลงทุนรายย่อยได้นัดรวมตัวกันสร้างปรากฏการณ์ พร้อมใจหยุดเทรด เพื่อแสดงการต่อต้านต่อผู้กำกับดูแลตลาดทุน หลังตลาดหุ้นไทยเกิดวิกฤตความศรัทธาอย่างหนัก จากการทำธุรกรรมชอร์ตเซล และการใช้ระบบโปรแกรมเทรดดิ้งในการซื้อขายด้วยความเร็วและมีต้นทุนต่ำ ซึ่งสร้างความไม่เป็นธรรมในการลงทุนนั้น

โดยจากการตรวจสอบข้อมูลสถิติมูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยจากตลาดหลักทรัพย์ฯ (SETSMART) พบว่าวันนี้ภาพรวมมูลค่าซื้อขายค่อนข้างเบาบาง และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 15 วัน

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) รายงานว่า ดัชนี SET Index ภาคเช้าวันนี้แกว่งตัวไซด์เวย์ปิดที่ 1,417.97 จุด เพิ่มขึ้น 2.19 จุด (+0.15%) โดยได้แรงหนุนจากหุ้นในกลุ่มพลังงานต้นน้ำและกลางน้ำ กลุ่มปิโตรเคมีภัณฑ์ กลุ่มโรงพยาบาล รวมถึงหุ้น PTT, CPN และ DELTA ด้านแรงกดดันมาจากหุ้นในกลุ่มค้าปลีกและค้าส่ง กลุ่มสื่อสาร รวมถึงหุ้น AOT, KBANK และ TLI

ส่วนภาคบ่ายดัชนี SET Index ยังคงอยู่ท่ามกลางปัจจัยบวกลบที่เข้ามาหักล้างกัน โดยปัจจัยบวกมาจากราคาน้ำมันดิบ WTI ที่ยืนเหนือ 76 เหรียญต่อบาร์เรล โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า OPEC+ จะปรับลดอุปทานน้ำมันลงอีก ซึ่งจะเป็นแรงหนุนต่อหุ้นในกลุ่มพลังงานต้นน้ำและกลางน้ำ

ด้านปัจจัยลบมาจากภาพเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแอ หลังจีดีพีไตรมาส 3/2566 ขยายตัวได้เพียง 1.5% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน และ 9 เดือนแรกปีนี้ขยายตัว 1.9% ซึ่งห่างไกลจากระดับศักยภาพระยะยาวของไทยที่จะโต 3-4% และเป็นแรงกดดันต่อหุ้นในกลุ่ม Domestic play