ศิริกัญญาเตือน พ.ร.บ.เงินกู้แจก 10,000 บาท ไม่ผ่าน ส่อกระตุ้นทิพย์

ศิริกัญญา ตันสกุล
ศิริกัญญา ตันสกุล

ศิริกัญญาอภิปรายงบประมาณปี 2567 ตั้งคำถาม จัดงบฯไม่เหมือนมีวิกฤต อย่างที่นายกฯย้ำมาตลอด แถมงบฯดิจิทัลวอลเลตที่เป็นนโยบายเรือธง “ล่องหน” ระบุรัฐบาลฝากความหวังทั้งหมดไว้ที่ “พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้าน” ชี้หากกฎหมายไม่ผ่านจะกลายเป็น “การกระตุ้นเศรษฐกิจทิพย์” ทันที

วันที่ 3 มกราคม 2567 นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายงบประมาณปี 2567 ว่า หลังจากที่ตนได้ใช้เวลาอ่านเอกสารงบประมาณถึง 7 วันเต็ม ๆ ซึ่งมีกว่า 1 หมื่นหน้า หรือกว่า 20 เล่ม ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า วิกฤตเศรษฐกิจแบบใด ? ทำไมงบฯไม่เหมือนมีวิกฤต ซึ่งเรื่องนี้มาจากนายกรัฐมนตรีที่ย้ำในหลายวาระหลายโอกาสว่าเศรษฐกิจไทยวิกฤตแล้ว

“ถ้าเรากำลังจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจริง ๆ งบประมาณนี่แหละจะเป็นตัวบอกว่า ตอนนี้เรากำลังอยู่ในภาวะแบบใด แล้วจะมีการจัดสรรงบประมาณไว้เพื่อตอบสนองวิกฤตอย่างไรบ้าง”

โดยสิ่งแรกที่ต้องดู ก็คือ ประมาณการเศรษฐกิจ ว่าใช่วิกฤตหรือเปล่า ซึ่งในเอกสารงบประมาณก็พบว่า เศรษฐกิจปี 2566 จะโต 2.5% ส่วนปี 2567 จะโต 3.2% ขณะที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับปกติ และไทยจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ในปี 2567 ซึ่งดูอย่างไรก็ยังไม่ค่อยวิกฤต โดยฟังจากที่นายกฯแถลง ก็ยังไม่มีตรงไหนบอกได้ว่ามีวิกฤต ซึ่งตนพลิกทุกเล่มแล้วก็ยังไม่เจอ

นางสาวศิริกัญญากล่าวอีกว่า อย่างไรก็ดี พบว่ามีการจัดทำเอกสารงบประมาณฉบับประชาชน ที่จัดทำโดยสำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งหากดูตัวเลขการขยายตัวของ GDP ในส่วนนี้จะบอกได้ว่า ไม่วิกฤตแน่นอน เพราะโตถึง 5.4%

“ดิฉันเห็นแล้วก็ตกใจ เพราะอาจจะต้องแพ้พนันที่ว่า ถ้าเศรษฐกิจโต 5% เมื่อใด จะลาไปบวชชี แต่พอดูไปดูมา ก็ถึงบางอ้อ เพราะนี่คือการเติบโตของ GDP ที่รวมผลของเงินเฟ้อ ซึ่งปกติทุกประเทศทั่วโลก เวลาคำนวณอัตราการเจริญเติบโตของ GDP เขาจะใช้ GDP ที่ไม่รวมผลของเงินเฟ้อ แต่รัฐบาลกำลังโชว์ตัวเลขที่รวมผลของเงินเฟ้อ เท่ากับว่ารัฐบาลกำลังจะบรรลุเป้าหมาย GDP โต 5% ในปีแรกที่เข้ามาบริหารโดยการโกงสูตรปรับ GDP ซึ่งไม่เคยมีประเทศไหนทั่วโลกทำมาก่อน”

Advertisment

นางสาวศิริกัญญากล่าวอีกว่า นอกจากนี้ โดยปกติถ้าปีที่เกิดวิกฤตจะมีการทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ ซึ่งจะมีการกู้เงินเพิ่ม เพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป และใช้เม็ดเงินส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่พอมาดูงบฯขาดดุลของปี 2567 จะมีการกู้เพื่อชดเชยขาดดุล 3.6% ของ GDP ในขณะที่ GDP จะโตประมาณ 3.5%

“ไม่ได้กู้สูงไปถึง 4% เหมือนปี 2565 แต่ว่าก็ถือว่าอยู่ในระดับสูง ก็พอกล้อมแกล้มว่าเรากำลังเกิดวิกฤต แต่พอไปดูปีถัดไป ๆ ก็ปรากฏว่า ขาดดุลเท่าเดิมทุกปี จนดูไม่ออกว่าปีไหนเกิดวิกฤตกันแน่ สรุปแล้วเราจะเกิดวิกฤตเรื่อย ๆ ไปจนถึงปี 2570 เลยหรือไม่ ทำไมรัฐบาลถึงได้ประมาณการว่าจะต้องทำงบประมาณขาดดุลสูงถึง 3.4% ไปเรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่พรรคเพื่อไทยเองเคยประกาศไว้ว่าจะทำงบประมาณให้สมดุลภายใน 7 ปี”

Advertisment

นอกจากนี้ เมื่อควานหางบฯกระตุ้นเศรษฐกิจจากงบประมาณปี 2567 แต่สิ่งที่เป็นเรือธงในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอย่าง “ดิจิทัลวอลเลต” ที่ประกาศแพ็กเกจใหญ่ไป แต่ปรากฏว่างบฯปี 2567 ไม่มีงบฯดิจิทัลวอลเลต คือ “ล่องหน” ไม่ปรากฏในงบฯปี 2567 เลย แม้แต่บาทเดียว ส่วนกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ ก็มีเพียง 15,000 ล้านบาทเท่านั้น จากที่ประกาศไว้ 100,000 ล้านบาท และยังเพิ่งใส่มาสด ๆ ร้อน ๆ เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2566 จากที่มีการปรับปรุงงบฯครั้งที่ 1

“สรุปแล้ว เราจะยังต้องลุ้นว่า พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้าน จะสามารถออกได้หรือไม่ แล้วเราก็ยังต้องลุ้น พึ่ง พ.ร.บ.เงินกู้อย่างเดียวหรือไม่ สรุปยอดกู้ตอนนี้ต้องเพิ่มเป็น 5.85 แสนล้านหรือไม่ เพื่อทำทั้งดิจิทัลวอลเลต และกองทุนเพิ่มขีดฯ อย่างที่เคยสัญญาเอาไว้ ซึ่งดิฉันคิดว่าตอนนี้รัฐบาลกำลังฝากความหวังทั้งหมดไว้ที่ พ.ร.บ.เงินกู้ฉบับนี้ เสมือนกับว่าเอาไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียว ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมาก ถ้าหากเราไม่สามารถออก พ.ร.บ.เงินกู้ได้ ก็จะเท่ากับว่างบฯกระตุ้นเศรษฐกิจ จะเป็นงบฯกระตุ้นเศรษฐกิจทิพย์”