เบื้องลึกคำถาม กู้เงิน 5 แสนล้าน รัฐบาลล็อกกฤษฎีกา ไฟเขียว ดิจิทัลวอลเลต

ดิจิทัลวอลเลต
คอลัมน์ : Politics policy people forum

จะเป็นวาระร้อนตั้งแต่ต้นปี 2567 แน่นอน

สำหรับนโยบายดิจิทัลวอลเลต ของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ต้องอาศัยการตรากฎหมาย “กู้เงิน” 5 แสนล้านบาท

ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังที่มี “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ควบ รมว.คลัง กุมบังเหียนอยู่

และมี “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.คลัง เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน วาระสำคัญอยู่ที่การส่ง “คำถาม” ไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยพิจารณา “ข้อกฎหมาย” ว่ารัฐบาลจะออกกฎหมายเพื่อเป็น “ใบเบิกทาง” สำหรับการกู้เงิน 5 แสนล้านนั้น ทำได้-ไม่ได้

มีการคาดการณ์ว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาจะส่ง “คำตอบ” มายังกระทรวงการคลัง ไม่เกินวันที่ 12 มกราคม 2567

จุลพันธ์มั่นใจว่านโยบายเรือธงแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ให้กับคนไทย 50 ล้านคน ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป และรายได้ไม่ถึง 70,000 บาทต่อเดือน และมีเงินฝากต่ำกว่า 500,000 บาท จะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมตามแผนที่วางไว้

เบื้องหลังคำถามกฎหมายกู้เงิน

เบื้องลึก-เบื้องหลัง “คำถาม” ที่จะนำไปสู่ “คำตอบ” ของคณะกรรมการกฤษฎีกา ถูกคิด-ไตร่ตรองมาอย่างดีสำหรับทีมทำงานด้านการเงิน-การคลัง และฝ่ายกฎหมาย เพื่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตอบได้เพียงคำตอบเดียวว่า “ทำได้” ไม่มีทางตอบเป็นอย่างอื่น

โดยคำถามที่ถามคณะกรรมการกฤษฎีกาแบ่งออกเป็น 3 สเต็ป

สเต็ปแรก ตั้งอยู่บนเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญมาตรา 140 ที่กำหนดเรื่อง “เงินของแผ่นดิน” จะใช้ได้โดยวิธีใด

โดยมาตรา 140 การจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง หรือกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ เว้นแต่
ในกรณีจำเป็นรีบด่วนจะจ่ายไปก่อนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

ในกรณีเช่นว่านี้ ต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายชดใช้ในพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไป

ซึ่งรัฐบาลจะมีแผนจัดสรรเงินงบประมาณมา เพื่อจ่ายคืนเงินส่วนที่เป็นเงินกู้ตลอดระยะเวลา 4 ปี

สเต็ปที่สอง รัฐธรรมนูญมาตรา 140 มาผูกกับมาตรา 53 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 ที่ให้อำนาจ “รัฐบาล” ในการตรากฎหมายกู้เงิน เพราะรัฐบาลเป็น “ผู้เล็งเห็น” ว่าประเทศกำลังมีปัญหาและวิกฤตเร่งด่วน

ในถ้อยคำของมาตรา 53 ระบุว่า “การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหาร หนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทําได้ก็แต่โดยอาศัยอํานาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจําเป็นที่จะต้องดําเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจําปีได้ทัน”

“กฎหมายที่ตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงาน หรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ การดําเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้นั้น”

“เงินที่ได้รับจากการกู้เงินตามวรรคหนึ่ง ให้กระทรวงการคลังเก็บรักษาไว้เพื่อให้หน่วยงานของรัฐเบิกไปใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการตามที่กฎหมายกําหนดได้โดยไม่ต้องนําส่งคลัง เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

แหล่งข่าวในทีมขับเคลื่อนนโยบายเงินดิจิทัลระบุว่า “มาตรา 53 บอกว่า ถ้ารัฐบาลเล็งเห็นว่า ดังนั้น รัฐบาลเห็นว่าเศรษฐกิจเกิดวิกฤต อาจเกิดต่อเนื่อง มีความจำเป็นเร่งด่วน ไม่ใช่ฝ่ายตรวจสอบอย่าง ป.ป.ช.เห็น”

“และการจัดงบประมาณตามปฏิทินงบประมาณล่าช้า ไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน ประกอบกับนโยบายเงินดิจิทัลต้องใช้ 5 แสนล้าน ซึ่งเป็นขนาดเงินที่ใหญ่”

“รัฐบาลเห็นอย่างนี้จะออกกฎหมายตามมาตรา 53 ได้หรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่มีหน้าที่วินิจฉัย ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจวิกฤต หรือไม่วิกฤต จำเป็นหรือไม่จำเป็น เพียงถามว่าถ้าวิกฤตและจำเป็นจะใช้กฎหมายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 140 ประกอบกับมาตรา 53 ได้หรือไม่เท่านั้น เว้นแต่คณะกรรมการกฤษฎีการะบุได้เพียงแค่ข้อเสนอแนะเท่านั้น”

“คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นเครื่องมือรัฐบาล ไม่ใช่เป็นหน่วยตรวจสอบ ข้อเท็จจริงรัฐบาลเป็นคนเห็น กฎหมายเป็นเครื่องมือ และจะใช้เครื่องมือตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ได้หรือไม่…ก็ต้องได้อยู่แล้ว ถ้าตอบไม่ได้ก็เท่ากับการให้มาตรา 53 แปลความให้สิ้นผล ส่วนเศรษฐกิจวิกฤตหรือไม่ เป็นหน้าที่กระทรวงการคลังเห็นว่าวิกฤต”

คำตอบที่คณะกรรมการกฤษฎีกาจะตอบมา ต้องมีเพียงคำตอบเดียวว่า…ทำได้

แหล่งข่าวรายเดิมมั่นใจว่า พรรคร่วมรัฐบาลจะไม่ขวาง ครม.ไม่สามารถมีเหตุผลเป็นอย่างอื่น เมื่อนายกฯ เศรษฐาแถลงต่อรัฐสภา เท่ากับเป็นนโยบายรัฐบาล และเป็นของคณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ไม่ใช่ “นายเศรษฐา” แถลง อีกทั้งไม่มีอะไรที่ผิดกฎหมาย

ส่วนคำว่า “เร่งด่วน” หรือไม่อยู่ที่คนมอง และจะมีที่มาอีกหลายอย่างให้เป็นองค์ประกอบให้เห็น

“การกู้เงิน 5 แสนล้าน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต ไม่เหมือนโครงการ 2 ล้านล้านที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตก โดยอ้างว่าถนนลูกรังยังไม่หมด”

“แต่การเอาเงินไปกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประชาชน มีประชาชนจำนวนหนึ่งรอเงินอยู่ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าไม่ให้ จะขัดไปมุมไหน ถ้าศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าไม่วิกฤต ก็จะเท่ากับศาลจะเป็นคนตีความเอง”

เพียงแต่สิ่งที่น่าห่วง เมื่อกฎหมายเดินทางเข้าสู่สภา พรรคฝ่ายค้าน นำโดยพรรคก้าวไกลอาจไม่ปล่อยผ่านไปง่าย ๆ

ย้ำ เศรษฐกิจวิกฤต

ขณะที่ “จุลพันธ์” ระบุถึงความ “วิกฤต” ของเศรษฐกิจในยามนี้ว่า รัฐบาลยืนยันว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในขณะนี้ไม่ดี ทุกคนเห็นตรงกันจากตัวเลขเศรษฐกิจ ซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ รายงานที่ประชุม ครม. โดยระบุว่าตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 3/2566 ขยายตัวเพียง 1.5% สะท้อนชัดเจนว่าสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันเป็นอย่างไร

ด้าน นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี มั่นใจว่าโครงการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทจะเป็นไปตามแผน “เราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำถูกกฎหมาย และกฤษฎีกาคงมีข้อแนะบางประการ อย่างไรก็แล้วแต่ ก่อนจะออกโครงการนี้เราศึกษาข้อกฎหมายต่าง ๆ เมื่อทางไม่ได้ราบเรียบตลอด”

ยกตัวอย่าง สมัยกองทุนหมู่บ้าน เราพูดถึงว่าเดี๋ยวจะหางบฯตรงนั้นตรงนี้ เราก็ไม่มีเงินเหมือนกัน แต่เราก็ใช้วิธีการกู้เงิน นี่คือในอดีต ฉะนั้น เรามีความมุ่งหมายชัดเจน มีปัญหาก็หาวิธีแก้และยึดมั่นในประโยชน์ประชาชน