จับตาน้ำทะเลหนุนสูงรอบใหม่ กลางเดือน พ.ค. เตรียมรับมือ “ลานีญา” มิ.ย. 67

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล

สทนช.เผยปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำในคลองคลี่คลายได้ครบทุกแห่งภายในสัปดาห์หน้า จับตาน้ำทะเลหนุนสูงรอบใหม่กลางเดือน พ.ค. 67 พร้อมเตรียมแผนรับมือลานีญาในช่วงเดือน มิ.ย. 67

วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ ณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา

ผลการประชุมระบุว่า ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงปลายของสถานการณ์เอลนีโญแล้ว โดยขณะนี้อยู่ในสภาวะเอลนีโญกำลังอ่อน ก่อนจะเข้าสู่สภาวะเป็นกลาง และจะเปลี่ยนเป็นสภาวะลานีญาในช่วงเดือน มิ.ย. 67 ซึ่งช่วงต้นเดือน ก.ค.อาจเกิดฝนทิ้งช่วงได้ในบางพื้นที่ จากสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงในช่วงวันที่ 25-30 เม.ย. 67 ที่ผ่านมา

ซึ่ง สทนช.ได้มีการแจ้งเตือนเฝ้าระวัง พบว่าวันที่ 30 เม.ย. 67 ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสถานีสูบน้ำสำแลมีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐาน โดยการประปานครหลวงได้มีการแจ้งเตือนกรณีดังกล่าว ร่วมกับกรมชลประทานได้มีการระบายน้ำเข้ามาเจือจางความเค็ม จึงทำให้สามารถแก้ปัญหาได้โดยเร็ว

ล่าสุดสถานการณ์น้ำเค็มรุกล้ำเข้าสู่คลองประเวศบุรีรมย์และคลองสาขา ปัจจุบันสถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ โดยคาดว่าสถานการณ์ค่าความเค็มในคลองจะคลี่คลายได้ครบทุกแห่งภายในสัปดาห์หน้า

Advertisment

อย่างไรก็ตาม คาดว่าช่วงกลางเดือนนี้อาจจะเกิดน้ำทะเลหนุนสูงอีกครั้ง โดย สทนช.จะมีการแจ้งเตือนให้ประชาชนได้ทราบถึงพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

สรุปสถานการณ์น้ำ 2 พ.ค. 67

สำหรับสภาพอากาศวันนี้ ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ลมใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

โดยคาดการณ์วันที่ 3-6 พ.ค. 67 คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกพัดปกคลุมภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมีแนวพัดสอบของลมตะวันตกเฉียงใต้และลมใต้พัดปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และด้านตะวันตกของภาคเหนือและภาคกลาง ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นบางพื้นที่

Advertisment

สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม

ปัจจุบันปริมาณน้ำรวม 54% ของความจุเก็บกัก หรือ 43,732 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำใช้การ 34% หรือ 19,565 ล้าน ลบ.ม. การประเมินสถานการณ์แหล่งน้ำเฝ้าระวังน้ำน้อย 4 แห่งภาคเหนือ : สิริกิติ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขื่อนจุฬาภรณ์ ภาคตะวันออก เขื่อนคลองสียัด ภาคกลาง เขื่อนกระเสียว ต้องเฝ้าระวังในช่วงฤดูแล้ง

ส่วนคุณภาพน้ำ แบ่งเป็นน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล เกินเกณฑ์มาตรฐาน (ค่าความเค็ม 0.58 กรัม/ลิตร) และน้ำเพื่อการเกษตร แม่น้ำท่าจีน ณ สถานีประตูระบายน้ำปากคลองจินดา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

แม่น้ำแม่กลอง ณ สถานีอัมพวา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แม่น้ำบางปะกง ณ สถานีวัดบางคาง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

มาตรการให้ความช่วยเหลือ

ทั้งนี้ มาตรการให้ความช่วยเหลือ ล่าสุดกรมทรัพยากรน้ำดำเนินการนำรถบรรทุกน้ำขนาด 6,000 ลิตร จำนวน 2 คัน นำน้ำสะอาดบริการประชาชนที่ขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค ในวันที่ 27-28 เมษายน 2567 เขตพื้นที่บ้านศรีสมบูรณ์ หมู่ที่ 11 บ้านเมืองฝางเจริญเมือง หมู่ที่ 15 และบ้านยางน้อย หมู่ที่ 3 ต.เมืองฝาง อ.เมืองฝาง จ.บุรีรัมย์ รวมปริมาณน้ำทั้งสิ้น 78,000 ลิตร ประชาชนได้รับประโยชน์ 411 หลังคาเรือน ประชากร 1,882 คน

ขณะที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงบริเวณพื้นที่รับน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ (อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี) อ่างเก็บน้ำทับเสลา (อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี) อ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว (อ.ห้วยคต จ.อุทัยธานี) และอ่างเก็บน้ำคลองโพธิ์ (อ.แม่เปิน จ.นครสวรรค์)