
ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ เป็นธุรกิจที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับหลากหลายเซ็กเตอร์ รวมถึงบุคคลทั่วไป ในฐานะแหล่งเงินทุนที่สำคัญ ดังนั้น จึงต้องมีการกำหนดกฎ กติกาต่าง ๆ มากำกับดูแล เพื่อให้เกิดการให้บริการอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ขณะที่ในโลกยุคใหม่ กระแสเทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงโลกของธุรกิจการเงิน หลายแบงก์จึงต้องปรับตัว เพราะไม่เช่นนั้นก็มีโอกาสถูกดิสรัปต์
เช่นเดียวกับหน่วยงานกำกับก็ต้องก้าวให้ทันกับโลกยุคใหม่ ทำให้กฎ กติกาใหม่ ๆ จึงมีออกมามากขึ้น ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ระหว่างจัดทำร่างประกาศจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือ Virtual Bank ซึ่งก็เป็นอีกส่วนที่อาจจะมาเปลี่ยนเกมของธนาคารพาณิชย์ในอนาคต
ความคืบหน้า Virtual Bank
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความคืบหน้าเกี่ยวกับ Virtual Bank นั้น ธปท.ได้ส่งร่างประกาศหลักเกณฑ์การจัดตั้งไปให้กระทรวงการคลังพิจารณา ตั้งแต่เดือน ก.ค. 2566 ซึ่งคาดว่าน่าจะสามารถเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจได้ภายในต้นปี 2567 และประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกภายในปี 2568 โดยกระทรวงการคลังจะเป็นผู้ออกใบอนุญาต (License)
อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีผู้สนใจ Virtual Bank ค่อนข้างมาก แต่หากต้องการเปลี่ยนแปลง แบบที่เรียกว่า “Game Changer” จะต้องเป็นการ “Open Data” เพราะหากมี Virtual Bank แต่ข้อมูลถูกปิดกั้นจะไม่ช่วยเรื่องการเติบโต จะเป็นเพียงแค่การเพิ่มจำนวนธนาคารเข้ามาเท่านั้น
ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไทยมีปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพอิสระที่ไม่มีหลักฐานรายได้ที่จะนำมาขอสินเชื่อ รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับความเสี่ยง ดังนั้น จำเป็นต้องมีข้อมูลด้านอื่น ๆ เข้ามาช่วยพิจารณาสินเชื่อ ซึ่งจะช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมการให้สินเชื่อและรับสินเชื่อในอนาคต
“Open Data ผมว่าจะเป็น Game Changer มากกว่าไปเปิดรูปแบบใหม่ เพราะเรามีแบงก์อยู่กว่า 10 ราย สมมุติว่า ถ้าเปิด Virtual Bank แต่ยังทำงานแบบเดิม ก็เหมือนบวกจำนวนเพิ่มเท่านั้น ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลง หากต้องการเกิดผลจริง ๆ ต้อง Open ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราอยากเห็น จึงเป็นที่มาว่าทำไมเราพยายามขับเคลื่อนเรื่องนี้ ใครที่เก่งที่สุด และใครที่นำเสนอสินค้าและบริการที่ดีที่สุดให้ผู้บริโภค น่าจะเป็นคนที่ชนะ อยากให้เป็นอย่างนั้น”
ชู Open Data เปลี่ยนเกมแบงก์
“ผู้ว่าการ ธปท.” กล่าวว่า ดังนั้น สิ่งที่ ธปท.พยายามผลักดัน คือ การเปิดกว้างให้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลตามสิทธิของผู้ใช้บริการ (Open Data for Consumer Empowerment) ซึ่งจะเห็นว่ามีข้อมูลที่สามารถนำมาพิจารณาสินเชื่อได้ เช่น ข้อมูลซื้อขายออนไลน์ (e-Commerce) หรือการชำระค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ หรือการชำระบัตรเครดิต เป็นต้น
โดยลูกค้าที่เป็นเจ้าของข้อมูลต้องยิมยอม (Consent) ให้สามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งอาจจะต้องมี “คนกลาง” ที่จะช่วยรวบรวมข้อมูล พร้อมกับข้อเสนอจากสถาบันการเงินแต่ละแห่ง เพื่อให้ลูกค้าสามารถรับข้อเสนอที่ดีที่สุด และเหมาะสมกับโปรไฟล์และความเสี่ยงของลูกค้ารายนั้น
ทั้งนี้ Open Data for Consumer Empowerment ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1.ออกเกณฑ์ กำหนดข้อตกลง และสร้างแรงจูงใจ (Regulation and Incentive) กฎระเบียบในการเก็บข้อมูล และการเข้าถึงจะต้องราคาไม่แพง 2.กำหนดมาตรฐานกลางในการเชื่อมต่อและรับส่งข้อมูลระหว่างผู้ใช้บริการ (Common Standard) ข้อมูลที่มีอยู่จะต้องถ่ายโอนกันได้
และ 3.มีโครงสร้างพื้นฐานกลางหรือกระบวนการมาตรฐานที่ใช้ร่วมกันได้ (Common Infrastructure) เหมือนมีปลั๊กไฟร่วมตรงกลางที่ทุกคนสามารถเสียบได้
“เราจะเริ่มจากภาคการเงินที่อยู่ภายใต้การกำกับของเรา และพร้อมที่จะไปเชื่อมกับคนอื่นที่สนใจ จะช่วยให้เกิด Ecosystem ที่เป็น Open Data รวมทั้งผู้เล่นที่สำคัญ ก็คือ ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) ที่จะมีนวัตกรรมใหม่ ๆ แต่ตอนนี้การเข้าถึงข้อมูลจะมีอุปสรรค เราเลยจะทำให้การเข้าถึงข้อมูล ซึ่งเป็นข้อมูลของผู้บริโภค และควรเป็นสิทธิของผู้บริโภค ส่วนแบงก์ก็นำไปวิเคราะห์ ต่อยอด ก็อยากให้คนเข้าถึงตรงนี้ได้ เพื่อที่จะได้รับบริการอะไรต่าง ๆ ที่ดีขึ้น อันนี้เป็นสิ่งที่อยากเห็น”
เสียงสะท้อน 3 แบงก์ใหญ่
ทั้งนี้ ในส่วนของแบงก์ใหญ่ ก็มีธนาคารที่แสดงความสนใจ อย่างบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX ระบุว่า อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับพันธมิตร 1 ราย ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกเกี่ยวกับเรื่องนี้ หลังจากก่อนหน้านี้ SCBX ได้ประกาศร่วมมือกับ “KakaoBank” ธนาคารดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ จัดตั้ง “Consortium” เพื่อยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank จาก ธปท.
ขณะที่ธนาคารกรุงไทยก็แสดงความสนใจที่จะขอใบอนุญาตจัดตั้ง แต่ก็รอความชัดเจนจาก ธปท.ก่อน
ฟาก “ขัตติยา อินทรวิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า หากดูกติกาเท่าที่ ธปท.ประกาศก่อนหน้านี้ ยังมีความรู้สึกว่า ยังไม่แตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ประกอบกับประโยชน์ และแรงจูงใจ ที่ให้ไม่ได้มากนัก ขณะเดียวกันกสิกรไทย มีบริษัทในเครือที่ทำธุรกิจคล้ายกันกับ Virtual Bank เช่น บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด (LINE BK) รวมถึงบริษัทที่อยู่ภายใต้ บริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด (KIV) น่าจะเพียงพอในการดูแลลูกค้ากลุ่มรายย่อยและเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน
ทั้งนี้ สิ่งเดียวที่จะแตกต่างกัน ระหว่างธนาคารทั่วไปกับ Virtual Bank ก็คือ เงินฝาก เมื่อใดที่มีการรับเงินฝากจะต้องมีความรับผิดชอบสูงมาก เพราะธนาคารจะต้องบริหารจัดการเงินฝากให้สามารถนำมาคืนผู้ฝากเงินได้ ทำให้ต้องมีกติกาค่อนข้างเข้มงวด ดังนั้น กสิกรไทยจึงมองว่า ถ้าเป็นการนำเงินฝากที่ได้มาไปส่งต่อให้บริษัทลูก น่าจะดีกว่าจะต้องเพิ่มความรับผิดชอบทางด้านเงินฝากขึ้นมาอีก
“เท่าที่ดูร่างกติกาที่ออกมาเรายังมองว่าไม่แตกต่าง แต่ก็ยังไม่รู้ว่าร่างกติกาจะมาอีกกี่รอบ ก็กำลังรอดูอยู่ แต่ ณ ปัจจุบันยังไม่แตกต่างจากแบงก์ทั่วไป ซึ่งเราอาจจะขอรอดูเพื่อน ๆ ก่อนว่าทำอย่างไรบ้าง”