ผู้ว่าธปท. ชี้เศรษฐกิจไทยฟื้นช้า-โตต่ำ แนะลงทุนปฏิรูปโครงสร้าง

“เศรษฐพุฒิ” ผู้ว่าฯแบงก์ชาติเปิดมุมมองเศรษฐกิจไทยปี’67 จีดีพีโต 3.2% ย้ำภาพ “ฟื้นตัว-แต่ช้า” ภาคท่องเที่ยว-การผลิตยังไม่กลับมา ยอมรับศักยภาพเศรษฐกิจไทยโตต่ำ เหตุติดกับดักนโยบายกระตุ้นการบริโภค ขาดนโยบายเชิงโครงสร้าง ไม่ได้เพิ่มศักยภาพการผลิต เติบโตจากอุตสาหกรรมเดิม ๆ ประชากรวัยทำงานหดตัว สะท้อนภาพคนไทย “กรรมเก่า” เยอะจากช่วงโควิด ความมั่งคั่งหดหาย แถมหนี้เพิ่มขึ้น ย้ำเก็บกระสุน-รักษาเงินเฟ้อเป็นสิ่งจำเป็น ยอมรับดอกเบี้ยขาขึ้นทำภาระหนี้คนเพิ่ม ชี้ต้องชั่งน้ำหนักผลกระทบของ “ภาระหนี้” กับ “ค่าครองชีพ”

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 ประเมินอัตราการขยายตัวอยู่ในกรอบ 3.2% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้ากรอบ 1-3% คาดการณ์จะอยู่ที่ 2% โดยภาพรวมเศรษฐกิจยังเป็นการฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ฟื้นตัวช้า โดยตัวเลขหลายตัวได้กลับมาในระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 แต่ไม่ใช่ทุกตัว ซึ่งหากดูในตัวเลขจีดีพีหลังจากที่ดรอปลงไปหนักสุดในช่วงไตรมาสที่ 2/2563 ปัจจุบันทยอยฟื้นตัวกลับมาสูงกว่าช่วงก่อนโควิดและสูงกว่าที่เคยเป็นอยู่ สะท้อนคำว่า “ฟื้นตัว”

อย่างไรก็ดี ธปท.ไม่ได้ดูเฉพาะตัวเลขจีดีพี แต่หากดูในรายมิติจะเห็นภาพของการฟื้นตัว เช่น ฝั่งอุปสงค์ ทั้งการบริโภคเอกชน และการส่งออก ซึ่งเป็นตัวสำคัญและที่มีน้ำหนัก จะเห็นว่ากลับมาสูงกว่าช่วงโควิด-19 โดยหากเทียบการบริโภคเท่ากับ 100 ปัจจุบันกลับมาอยู่ที่ 115 สะท้อนว่า 15% กลับมาสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 หลังจากที่ชะลอลงค่อนข้างแรงในไตรมาสที่ 2/2563 เช่นเดียวกับการส่งออก (ไม่รวมทองคำ) กลับมาสูงกว่าช่วงโควิด-19

ขณะที่ฝั่งอุปทาน ภาคบริการก็กลับมาฟื้นตัวดีกว่าก่อนโควิด ยังมีภาคการผลิต และการท่องเที่ยว ที่ยังไม่กลับมาเท่าช่วงก่อนโควิด ซึ่งปัจจัย 2 ตัวนี้เป็นตัวสำคัญที่สะท้อนเศรษฐกิจ คนดูแบบ “ตาบอดคลำช้าง” คือคนจับตรงนี้บอกว่าดี แต่จับตรงโน้นบอกไม่ใช่

เสมือนว่างงาน 3 ล้านคน

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุดสิ่งที่แบงก์ชาติเป็นห่วงคือเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของคน อย่างเรื่องตัวเลขการจ้างงาน ตอนนี้การจ้างงานนอกภาคเกษตรกลับมาสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 โดยภาพรวมอัตราการว่างงานอยู่ที่ประมาณ 1% จากช่วงโควิดอยู่ที่ 2% แต่ตัวที่สำคัญกว่าคือ ตัวเลข “ผู้เสมือนว่างงาน” ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีงานทำ แต่มีงานน้อยกว่าที่ต้องการทำ เพราะสะท้อนถึงการฟื้นตัวไม่เท่ากัน แม้ว่าจะปรับดีขึ้น แต่ยังไม่เท่าก่อนโควิด-19 ซึ่งตัวเลขที่อยู่ราว 2 ล้านคน แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 3 ล้านคน แต่ดีขึ้น
กว่าเมื่อเทียบช่วงโควิด-19 ที่อยู่ประมาณ 6 ล้านคน สะท้อนว่าบางเซ็กเตอร์ยังไม่ได้กลับมา

“ภาพรวมเศรษฐกิจทั้งหมดอย่างที่บอกเป็นการฟื้น เพราะตัวเลขส่วนใหญ่กลับมาสูงกว่าก่อนโควิดแล้ว แต่การฟื้นช้า อันนี้ไม่เถียง และที่ช้า เนื่องจากเราโดนโควิดหนักกว่าคนอื่น เพราะเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาเรื่องท่องเที่ยวเยอะ แต่ตรงนั้นหายไปนาน แต่ภาพรวมยังเป็นการฟื้นตัว และเป็นการฟื้นตัวที่ค่อนข้างต่อเนื่อง”

ADVERTISMENT

กรรมเก่า-ปัญหาสะสม

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า เมื่อไปถามคนส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่า “เศรษฐกิจไม่ดี” ซึ่งอธิบายได้ว่ามาจาก 2 เหตุผลด้วย คือ การฟื้นตัวของบางเซ็กเตอร์ที่ยังไม่กลับมา โดยเฉพาะที่ชัดเจนที่สุด คือ ภาคการท่องเที่ยว และภาคการผลิตที่อิงกับการส่งออก เนื่องจากยังเจอปัญหาอุปสงค์จากต่างประเทศ ซึ่งส่งผลต่อการจ้างงาน รายได้ และหนี้ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ของที่สะสมหายไป หรือพูดง่าย ๆ คือ ความมั่งคั่งถูกบั่นทอนลงไปจากปัญหาโควิด-19 ที่ไทยเจอค่อนข้างหนัก ทำให้การฟื้นตัวช้า จึงเป็นเหตุผลให้คนไม่ได้รู้สึกว่ามันดี แม้ว่าตัวเลขจะฟื้นตัวก็ตาม

ซึ่งหากดูตัวเลขนักท่องเที่ยวก่อนโควิด-19 อยู่ที่ราว 40 ล้านคน ซึ่งปีนี้คาดการณ์ไว้ที่ประมาณ 29-30 ล้านคน แม้ว่าจะฟื้นตัวกลับมาดีกว่าปีก่อนที่อยู่ 10 ล้านคน แต่หากดูช่วงที่มีการปิดประเทศช่วงเดือน เม.ย. 63-ธ.ค. 64 หรือประมาณ 20 เดือน มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพียง 4.3 แสนคน ซึ่งคิดเป็น 1% ของเดิมที่ไทยเคยทำได้

ADVERTISMENT

ดังนั้น รายได้ของคนหายไปมหาศาล ความมั่งคั่งของคนก็หายไป ซึ่งเป็นของที่สะสมมา แม้ว่าตัวเลขจะทยอยฟื้นตัว แต่เทียบกับ “กรรมเก่า” ปัญหาที่สะสมมาในช่วงโควิดมีเยอะกว่า และหนี้ก็เพิ่มขึ้น โดยช่วงก่อนโควิด-19 ตัวเลขหนี้ครัวเรือนสูงสุด (พีก) อยู่ที่ 95% ต่อจีดีพี แม้ปัจจุบันสัดส่วนหนี้ครัวเรือนลงมาอยู่ที่ราว 90% ต่อจีดีพี แต่ถือว่ายังอยู่ในระดับสูง

“ธปท.เข้าใจตอนที่เราดูตัวเลขอะไรต่าง ๆ และคนจึงรู้สึกว่า ธปท.มองดีไปหรือเปล่า แต่หน้าที่เราในการทำงานจะต้องดูเรื่องของภาพรวมเศรษฐกิจ แต่เราก็เข้าใจว่ามีบางกลุ่ม บางหมวดที่ยังมีปัญหาอยู่ และเข้าใจด้วยว่ามีปัญหาที่เป็นกรรมเก่าสะสมอะไรต่าง ๆ มา แต่ตอนที่ตัดสินใจเรื่องนโยบาย เราก็ต้องดูภาพรวมด้วย”

เก็บกระสุน-ดูแลเงินเฟ้อ

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า จากรายงานคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ประเมินว่า เศรษฐกิจฟื้นตัวสมดุลมากขึ้น แต่มองไปข้างหน้ายังคงมีความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้นการดูแลขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) เป็นสิ่งสำคัญ แต่เข้าใจว่า “ไม่มีคนชอบดอกเบี้ย” แต่ต้องยอมรับว่าเป็นหน้าที่ของ ธปท.ในการดูแลเสถียรภาพ โดยเฉพาะเสถียรภาพด้านราคา

หาก ธปท.ปล่อยให้อัตราเงินเฟ้อวิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ จะยิ่งทำให้ “ค่าครองชีพ” ยิ่งสูงขึ้น คนมีปัญหา ความยากลำบากจะเพิ่มขึ้น ซึ่งผลของการขึ้นดอกเบี้ยแม้ว่าจะมีผลต่อภาระหนี้ของคน แต่ถ้าเทียบกับผลระหว่างที่ไม่ดูแลเงินเฟ้อจะมีปัญหามากกว่า

ตัวเลขล่าสุดเดือนตุลาคม อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ -0.31% ซึ่งต่ำผิดปกติ เป็นผลมาจากมาตรการอุดหนุนภาครัฐในเรื่องของไฟฟ้าและพลังงาน แต่หากถอดมาตรการเหล่านี้ อัตราเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวก แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงจากที่เคยพีก 8% มาอยู่ที่ -0.31% แต่ผลสะสมของอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ ราคาสินค้าต่าง ๆ ไม่ได้ปรับลง และหากดูตัวเลขดัชนีราคาจะเห็นว่าเทียบปัจจุบันกับช่วงโควิด-19 ถือว่าสูงอย่างมีนัยสำคัญ

“เงินเฟ้อจะเป็นตัวสะท้อนที่ทำให้คนรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดี ถึงแม้ว่าตัวเลขการเติบโตต่าง ๆ จะดีขึ้น แต่อัตราเงินเฟ้อที่สะสมที่ผ่านมาทำให้ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้ของคนหายไปค่อนข้างเยอะในช่วงโควิด-19 ซึ่งตอนเดือนสิงหาคมปีก่อน เงินเฟ้อพีกขึ้นไปที่ระดับ 8% สูงสุดในภูมิภาค ตอนนั้น ธปท.ก็โดนวิพากษ์วิจารณ์เยอะว่า ขึ้นดอกเบี้ยช้าไปหรือเปล่า หรือ Behind the Curve แต่เราก็ได้คิดว่าแนวทางที่ดีที่สุด คือการขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่เร็วและแรงแบบชาวบ้าน 
เพราะโครงสร้างต่าง ๆ การฟื้นตัวช้ากว่าเพื่อนบ้าน หากตอนนั้นเราขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงจะหนักแค่ไหน แต่ไม่ขึ้นเลยก็ไม่ได้ เพราะจะทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อหลุด และแพร่ไปในระบบ ทำให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อติด จึงต้องจัดการด้วยนโยบายดอกเบี้ย และในท้ายที่สุด เงินเฟ้อก็ลดลง”

ขึ้นดอกเบี้ย น้อยที่สุดในภูมิภาค

ต่อคำถามผลกระทบของการปรับขึ้นดอกเบี้ยนั้น ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า จะต้องชั่งน้ำหนักระหว่าง “ภาระหนี้” 
และ “ค่าครองชีพ” ซึ่ง ธปท.จะต้องใส่ใจเรื่องค่าครองชีพ ซึ่งเราเจาะดูเรื่องของภาระหนี้ต่อผลของการขึ้นดอกเบี้ย แม้จะมีคนต้องรับภาระหนี้เพิ่มขึ้นจากการขึ้นดอกเบี้ย แต่จะพบว่าลูกหนี้ในระบบประมาณ 60% เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate) และที่เหลือ 40% จะเป็นดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate) อาจจะมีจำนวนงวดและจำนวนครั้งที่ต้องชำระเพิ่มขึ้น

ขณะที่การส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เพิ่มขึ้นต่อลูกหนี้ จะเห็นว่าไทยมีอัตราที่ต่ำกว่าประเทศอื่น โดยหากดูอัตราการส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ยรายใหญ่ชั้นดีแบบมีระยะเวลา (MLR) ประมาณ 69-70% และอัตราดอกเบี้ยรายย่อยชั้นดี (MRR) เฉลี่ยอยู่ที่ 49-50%

ผู้ว่าการ ธปท.อธิบายว่า หากคำนวณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 0.50% มาอยู่ที่ 2.50% ต่อปี เป็นการปรับเพิ่มขึ้น 2.00% ต่อปี หากคำนวณการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยของรายย่อย MRR สัดส่วน 49-50% แสดงว่ามีการส่งผ่านดอกเบี้ยไปยังลูกหนี้ราว 1% ก็ยอมรับว่าเป็นภาระที่เพิ่มขึ้น และ ธปท.เข้าใจ จึงได้มีมาตรการต่าง ๆ มารองรับลูกค้าที่มีปัญหา รวมถึงการสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ ภาพรวมต้องถือว่าสภาะการเงินไม่ได้ตึงตัวจนเกินไป แต่ยอมรับว่าผลของการตึงตัวไม่เท่ากัน เพราะผลของการส่งผ่านดอกเบี้ยไม่เท่ากัน

“ดอกเบี้ยที่เราขึ้นจาก 0.50% เป็น 2.50% ต่อปี ถ้าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นการเพิ่มขึ้นที่น้อยที่สุดในภูมิภาค ก็เพราะต้องการขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นเรื่องที่เรากังวลภาพเศรษฐกิจฟื้นตัวแบบนี้ ที่รายได้คนไม่ค่อยโต ผมไม่เถียงว่าดอกเบี้ยสร้างภาระปัญหาให้คน แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย เงินเฟ้อวิ่งไป คนก็ลำบากกว่านี้ หรือถ้าเราขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรง ผลต่อลูกหนี้ตอนนี้จะเป็นอย่างไร”

ดันโมเดลใหม่แก้โจทย์ SMEs

สำหรับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยต่อภาคธุรกิจนั้น ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ธปท.มีความเป็นห่วงกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เนื่องจากสินเชื่อเป็นประเภทดอกเบี้ยลอยตัว ระยะเวลากู้ค่อนข้างสั้น และไม่สามารถเข้าถึงตลาดบอนด์ เมื่อเทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่ ทำให้ผลกระทบจากการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเอสเอ็มอีจะสูงกว่ารายใหญ่ เป็นสิ่งที่ ธปท.ติดตามอย่างใกล้ชิด สอดคล้องกับการดูแลเสถียรภาพ เพราะหากเสถียรภาพมีปัญหา คนที่โดนกระทบหนักคือ กลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่ม
เอสเอ็มอี ไม่ใช่ธุรกิจรายใหญ่

“ที่ห่วงเป็นพิเศษคือ สินเชื่อ SMEs หดตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนโควิด ซึ่งถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่ช่วงโควิดมาตรการซอฟต์โลนออกมาช่วย ทำให้สินเชื่อเอสเอ็มอีเป็นบวก แต่ช่วงหลังก็ติดลบ ซึ่งไม่ใช่แค่ปัจจัยวัฏจักร แต่มีปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำให้สินเชื่อ SMEs โตต่ำ ซึ่งมาจากความเสี่ยงเป็นหลัก อย่างที่เห็นเอ็นพีแอล บิ๊กคอร์ป ตอนนี้อยู่ที่ประมาณ1-2% แต่เอ็นพีแอล SMEs อยู่ที่6-7% คือแบงก์ไหนเร่งปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีก็เสียหาย ความเสี่ยง SMEs บ้านเราสูงจริง ๆ”

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ดังนั้นต้องกลับมาแก้ที่ต้นเหตุ คือเมื่อความเสี่ยงสูง ก็ต้องหาวิธีแบ่งเบาความเสี่ยง ที่พยายามผลักดันเป็นโมเดลในเกาหลีใต้ มาเลเซีย คือมีเครดิตการันตี สำหรับกลุ่ม SMEs ให้มีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพที่จะช่วยให้สินเชื่อเอสเอ็มอีโตได้อย่างควรจะเป็น โดยมีเอกชนเข้ามาร่วมให้มีความยืดหยุ่น โดยที่มีการพิจารณาความเสี่ยงด้านเครดิตที่ถูกต้องตามกลไกตลาด และช่วยสร้างวินัยการเงินให้ดีขึ้น

ติดกับดักโตต่ำ-ลงทุนปลดล็อก

เมื่อถามถึงศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ศักยภาพของเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมามีการปรับเปลี่ยนพอสมควร โดยตัวเลขหากวัดจากจำนวนประชากร กลุ่มคนวัยทำงาน และประสิทธิภาพในการผลิต (productivity) มองว่าปีหน้าจีดีพีอยู่ที่ราว 3% ใกล้เคียงกับที่ กนง.ประเมินไว้ ซึ่งจากเดิมศักยภาพของไทยอยู่ที่ประมาณ 3-4% แต่จากปัจจัยดัชนีชี้วัดต่าง ๆ ปรับลดลง ทำให้ศักยภาพของไทยลดลง

ตัวสำคัญ คือ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุที่เร็วมาก ประชากรวัยทำงานกำลังหดตัว ซึ่งมีผลต่อความสามารถในการผลิต รวมถึงประสิทธิภาพ ซึ่งที่ผ่านมาประสิทธิภาพของไทยค่อนข้างต่ำและไม่ขยายตัว ส่วนหนึ่งมาจากไทยขาดการลงทุนมานาน เน้นการเติบโตด้วยการกระตุ้นฝั่งอุปสงค์ หรือการบริโภคเป็นหลัก ทำให้ศักยภาพทางด้านการผลิตไม่ได้เติบโต ประกอบกับไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำให้ศักยภาพในการเติบโตต่ำ

“ศักยภาพเราอยู่ที่ประมาณ 3% ซึ่งปีหน้าคาดว่าจะอยู่ในระดับ 3% บวก ๆ เราก็มองว่าใกล้เคียงกับศักยภาพเพราะศักยภาพเศรษฐกิจไทยต่ำจริง ๆ มุมมองของแบงก์ชาติที่มีมาโดยตลอดคืออยากเห็นการใส่ใจ เรื่องนโยบายเชิงโครงสร้าง ที่จะทำให้ศักยภาพเราดีขึ้น ประเด็นปัญหาที่่ผ่านมาไม่รู้กี่สิบปี กี่ยุค กี่สมัย คือเน้นการเติบโตด้วยการกระตุ้นฝั่งอุปสงค์เป็นหลัก แต่ศักยภาพการผลิตไม่โต คือเมื่อกระตุ้นก็จะดีขึ้นมาช่วงแป๊บเดียว แล้วก็จะกลับไปที่เดิมทุกที เช่น กระตุ้นเรื่องการบริโภค แต่รายได้ของคนไม่เพิ่ม ก็มาโผล่เป็นหนี้เพิ่มขึ้น”

สิ่งที่ไทยขาด คือ “การลงทุน” ซึ่งไทยมีปัญหาการลงทุนมานาน มีการลงทุนต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น และมาร์เก็ตแชร์การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 5-6 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2565 พบว่าต่ำกว่าประเทศเวียดนาม และอินโดนีเซียชัดเจน ใกล้เคียงกับมาเลเซีย อย่างไรก็ดี การดึงต่างประเทศเข้ามาลงทุนอาจจะไม่ใช่แค่มาตรการส่งเสริม แต่จะต้องมีเรื่องการพัฒนาทักษะแรงงาน การวิจัย-พัฒนา (R&D) รวมถึงซัพพลายเชนที่จะรองรับการลงทุนด้วย เพราะไทยมีคู่แข่งค่อนข้างเยอะ

Resilience โจทย์เศรษฐกิจใหม่

ดร.เศรษฐพุฒิเล่าต่อว่า นอกจากการเร่งการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพของเศรษฐกิจไทย และการรักษาเสถียรภาพแล้ว โจทย์ระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยจะต้องมีความทนทานและยืดหยุ่น หรือ “resilience” มากกว่า “เสถียรภาพ” (stability) เนื่องจากเศรษฐกิจที่ resilience สามารถปรับเปลี่ยนได้เร็ว ล้มและสามารถลุกได้เร็ว เป็นการเติบโตที่ยั่งยืน ภายใต้การสร้างโอกาสเติบโตในรูปแบบใหม่ ๆ ซึ่งจะช่วยกระจายรายได้ และลดความเหลื่อมล้ำ เพราะที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเติบโตแบบเดิม รายได้กระจายไป 3 แห่ง ภาษีภาครัฐ รายได้จ้างงาน และกำไร แต่จะเห็นว่าในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา รายได้กระจุกตัวในกำไรของบริษัทชัดเจน ซึ่งไม่ได้สร้างโอกาสให้คน หรือสร้างความมั่งคั่งให้คนเพิ่มเติม

“การเติบโตอย่างยั่งยืนจะต้องสร้างโอกาสให้คน และรายได้ต้องกระจายออกไป ซึ่งคำว่า resilience จะต้องมาพร้อมกับการสร้างโอกาส ซึ่งโครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังเป็นแบบเดิม ๆ และเป็นกลุ่มธุรกิจเดิม ๆ และอยู่ในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ทำให้บริษัทขนาดเล็กหรือหน้าใหม่เข้ามาแข่งขันในตลาดยาก ดังนั้น หนึ่งในตัวสำคัญที่จะปรับโครงสร้าง คือ เรื่องของความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ หรือ Ease of Doing Business การตัดกฎระเบียบ และกฎเกณฑ์ ลดภาระเพื่อให้ของใหม่เกิด เพราะตอนนี้มีแต่ยักษ์ใหญ่ เป็นการโตแบบเดิม และในกลุ่มเดิม ๆ แบบนี้จะโตได้กี่เปอร์เซ็นต์”