ธปท.ห่วงสินเชื่อ SMEs ติดลบ เร่งคลายล็อก “ค้ำประกัน” กู้

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ผู้ว่าการ ธปท.ห่วงสินเชื่อเอสเอ็มอีกลับมาติดลบ ชี้ต้องยกระดับกลไกค้ำสินเชื่อให้ยืดหยุ่นขึ้น “ผู้ช่วยผู้ว่าการ” เปิดตัวเลขหลังโควิดสินเชื่อ SMEs ติดลบ 4 ไตรมาสรวด เฉลี่ยหดตัว -5% เหตุ 4 ปัจจัยแบงก์เข้มปล่อยกู้ ธปท.เผยอยู่ระหว่างศึกษากลไกค้ำประกันที่เปิดกว้าง-ครอบคลุมมากขึ้น ยกโมเดลต้นแบบ “เกาหลี-ไต้หวัน-มาเลเซีย” หวังช่วยเหลือเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดีขึ้น

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสถานการณ์สินเชื่อที่ไม่ค่อยเติบโตนั้น ธปท.จะห่วงธุรกิจเอสเอ็มอีมากกว่า เนื่องจากพบว่าหลังผ่านสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 มา สินเชื่อเอสเอ็มอีกลับมาติดลบ เหมือนช่วงก่อนโควิดแล้ว

“ช่วงโควิดที่สินเชื่อเอสเอ็มอีโตได้ดี ก็เพราะมีมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู มีซอฟต์โลนที่ ธปท.ออกมาช่วยในช่วงนั้น แต่พอหลังโควิดมา สินเชื่อเอสเอ็มอีก็กลับไปเหมือนเดิม”

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า แนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เข้าถึงสินเชื่อได้ดีขึ้น จะต้องช่วยในเรื่องหลักประกัน ซึ่งในระยะต่อไปนั้น ธปท.คิดว่าอาจจะต้องมีกลไกการค้ำประกันที่ค่อนข้างยืดหยุ่นมากกว่าปัจจุบันที่จะเน้นค้ำประกันสินเชื่อแบบพอร์ตโฟลิโอเป็นหลัก

สินเชื่อ SMEs ติดลบ 4 ไตรมาส

ขณะที่นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีที่มียอดวงเงินสินเชื่อต่ำกว่า 500 ล้านบาท ช่วงปี 2560-2563 ก่อนการระบาดของโควิด พบว่าติดลบมาโดยตลอด ซึ่งปี 2562 ลบสูงสุดถึง -5% ขณะที่ช่วงปี 2563-2564 ที่มีมาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องจาก ธปท. ซึ่งมีการปล่อยสินเชื่อไปรวมทั้งสิ้นเกือบ 4 แสนล้านบาท แบ่งเป็นซอฟต์โลนประมาณ 1.38 แสนล้านบาท และสินเชื่อฟื้นฟูอีกราว 2.54 แสนล้านบาท จึงทำให้สินเชื่อเอสเอ็มอีในปี 2564 ขยายตัวได้ราว 2%

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ไตรมาส 3/2565 จนถึงไตรมาส 2/2566 สินเชื่อเอสเอ็มอีกลับมาติดลบต่อเนื่อง 4 ไตรมาส เฉลี่ยประมาณ -5% และคาดว่าตัวเลขไตรมาสที่ 3 ปีนี้ก็จะยังคงติดลบต่อ

“สินเชื่อเอสเอ็มอียังมีการขยับอยู่ในเกือบทุกเซ็กเตอร์ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่มีการชำระหนี้คืนเพิ่มขึ้นใกล้เคียงเท่าก่อนโควิด รวมถึงแบงก์จะค่อนข้างระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อใหม่ และปล่อยกู้ต่อรายวงเงินต่ำลง รวมถึงเน้นปล่อยในกลุ่มไมโครเอสเอ็มอี ที่ใช้วงเงินต่ำกว่า 3 แสนบาท ขณะที่กลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นกลุ่มบุคคลธรรมดา พบว่ามีจำนวนรายเพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อวงเงินหมุนเวียนระยะสั้น”

เปิด 4 ปัจจัยแบงก์เข้มปล่อยกู้

นางสาวสุวรรณีกล่าวว่า สาเหตุที่แบงก์ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ มาจาก 3-4 ประเด็น คือ 1.เอสเอ็มอีไม่มีข้อมูลในการประกอบการพิจารณาสินเชื่อ หรืองบการเงินไม่มีความน่าเชื่อถือ 2.เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีหลักประกันในการขอสินเชื่อ หรือมีหลักประกัน แต่นำไปใช้ในการค้ำประกันเงินกู้หมดแล้ว ทำให้ไม่มีสิ่งที่จะมาช่วยลดความเสี่ยง

3.ศักยภาพของธุรกิจเอสเอ็มอีเองที่อาจจะมีสายป่านสั้น ทำให้เกิดความไม่แน่นอนด้านรายได้ที่สูง จึงเป็นลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะเอสเอ็มอีขนาดเล็ก และ 4.ในมุมเจ้าหนี้อาจจะมองเรื่องต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในการบริการลูกค้า (cost to serve) เพราะเวลาที่แบงก์ปล่อยสินเชื่อจะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน

“เมื่อเปรียบเทียบ การปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีขนาด 10-20 ล้านบาท กับสินเชื่อรายใหญ่ขนาด 1,000 ล้านบาท จะต้องมีพนักงานลูกค้าสัมพันธ์ (RM) ทั้งคู่ สะท้อนว่าต้นทุนการปล่อยสินเชื่อรายเล็กกับรายใหญ่ไม่แตกต่างกัน ทำให้ cost to serve ต่อเอสเอ็มอีค่อนข้างสูง ดังนั้นจากปัญหาที่เอสเอ็มอีเผชิญในปัจจุบัน ธปท.จึงมีแนวคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินสินเชื่อได้ทั่วถึง และครอบคลุมมากขึ้น โดยคิดค่าธรรมเนียมตามความเสี่ยงของเอสเอ็มอีแต่ละราย เพราะความเสี่ยงของลูกหนี้แต่ละรายจะไม่เหมือนกัน”

กลไกค้ำประกันไทยยังมีข้อจำกัด

นางสาวสุวรรณีกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาเอสเอ็มอีที่ไม่มีหลักประกัน จะมีกลไกการค้ำประกันของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งไทยก็สามารถทำได้ดี แต่ด้วยขนาดที่เล็ก และยังมีข้อจำกัดในเรื่องรูปแบบการค้ำประกัน ซึ่ง ธปท.มองว่าหากสามารถผลักดันให้การค้ำประกันสินเชื่อ (credit guarantee) เปิดกว้างได้มากขึ้น ก็น่าจะเป็นประโยชน์กับเอสเอ็มอี

“เช่น ปัจจุบันสามารถค้ำประกันได้กับสินเชื่อ เฉพาะสถาบันการเงิน หรือบริษัทลูกภายใต้กฎหมายที่อนุญาต แต่เจ้าหนี้ในระบบอาจจะมีมากกว่าสถาบันการเงิน หรือเอสเอ็มอีบางรายที่มีแหล่งเงินทุนอื่น เช่น ออกตราสารหนี้ อันนี้ไม่สามารถค้ำประกันได้ หรือในแง่ข้อจำกัดของขนาด เช่น อาจจะจำกัดเอสเอ็มอีที่มีสินทรัพย์ไม่เกิน 200 ล้านบาท เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้เป็นข้อจำกัดในโปรแกรมการค้ำประกันในปัจจุบัน”

ธปท.ได้ศึกษาข้อมูลในต่างประเทศพบว่า บางประเทศที่มีเอสเอ็มอีจำนวนมากคล้ายประเทศไทย จะมี 2-3 ประเทศ อาทิ เกาหลี ไต้หวัน และมาเลเซีย ที่จะมี credit guarantee อย่างกรณีเกาหลีใต้จะมี Korea Credit Guarantee Fund หรือที่เรียกว่า Kodit ส่วนไต้หวันจะมี Small & Medium Enterprise Credit Guarantee Fund of Taiwan หรือ TSMEG ขณะที่มาเลเซียจะมี Credit Guarantee Corporation Malaysia Berhad หรือ CGC เป็นต้น

ศึกษาโมเดล “สิงคโปร์-มาเลย์”

นางสาวสุวรรณีกล่าวว่า การค้ำประกันของทั้ง 3 ประเทศ จะคล้ายกับที่ประเทศไทยทำอยู่ แต่มีรายละเอียดที่ยืดหยุ่นมากกว่า เช่น ในเรื่องของแหล่งที่มาของเงิน ที่ของไทยจะมาจากงบประมาณภาครัฐ และเก็บค่าธรรมเนียมจากลูกหนี้ แต่ในต่างประเทศจะมีรูปแบบที่แตกต่าง และขอบเขตในการค้ำประกันจะเปิดกว้างมากกว่า เช่น ทำได้ทั้งรูปแบบสินเชื่อ รวมถึงให้เอสเอ็มอีออกตราสารหนี้ที่ไม่ใช่การกู้ยืมเงิน หรือค้ำประกันประเภทเอสเอ็มอีที่มีขนาดใหญ่กว่าเอสเอ็มอีของไทยได้ เป็นต้น

อย่างของเกาหลีใต้ ขนาดของการค้ำประกันในปี 2563 มีมูลค่าถึง 5.05 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 1.85 ล้านล้านบาท โดยรูปแบบการค้ำประกัน คือ 1.สามารถค้ำประกันตามความเสี่ยง (risk based guaruntee) เพราะมีฐานข้อมูลที่จะมาคำนวณความเสี่ยงของลูกหนี้ได้ 2.สามารถค้ำแบบ individual เป็นราย ๆ ไม่ใช้การค้ำประกันแบบพอร์ตลูกหนี้ของแบงก์ โดยลูกหนี้สามารถเดินไปหาที่ Kodit ได้เลย และสามารถบอกได้เลยว่าจะค้ำประกันหรือไม่ จะมีการออกใบ certificate ให้ และสามารถนำไปขอกู้ที่ธนาคารได้

และ 3.สามารถค้ำได้ทั้งสินเชื่อ และตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ที่เอสเอ็มอีออกได้ หรือในช่วงโควิด-19 จะเห็นว่าไทยมีการออกกองทุน BSF หรืออะไรต่าง ๆ แต่ในเกาหลีจะใช้ Kodit ในการช่วยเหลือ โดยที่รัฐจะใส่เงินให้มากกว่าช่วงปกติ ดังนั้นการค้ำประกันของ Kodit จะค่อนข้างกว้างและครอบคลุม

“ต้องยอมรับว่าบ้านเรามีเอสเอ็มอีจำนวนมากที่เข้าถึงสินเชื่อ และก็มีอีกจำนวนมาก ๆ ที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อ และปัญหาการเข้าถึงก็มีหลากหลายรูปแบบ ธปท.คิดว่า แนวทางที่จะทำอย่างไรในการส่งเสริมสินเชื่อเอสเอ็มอี เช่น ขาดข้อมูล เราก็ไปเติม open data ประเภทข้อมูลและให้สามารถเข้ามาดูได้หลากหลายมากขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงเจ้าหนี้ได้ ทำให้เขากล้าปล่อยกู้มากขึ้น หรือหากขาดหลักประกัน เราจะทำอย่างไรให้การค้ำประกันทำได้ทั่วถึงและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น อย่างการคิดค่าธรรมเนียมที่ตอนนี้เท่ากันหมด ขณะที่ลูกหนี้มีความเสี่ยงไม่เท่ากัน ตอนนี้เราอยู่ในขั้นตอนการศึกษาว่าต่างประเทศที่มีเอสเอ็มอีเยอะ ๆ เขาช่วยเหลือเอสเอ็มอีอย่างไร เพื่อมาเป็นแนวทางในการแก้ปัญหา”