ธปท.หนุนปิดหนี้ก่อนกำหนด จ่อห้าม “พีโลน-นาโนไฟแนนซ์“ คิดค่าฟี

Pay off debt

ธปท.เล็งขยายขอบเขตห้ามเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการชำระคืนสินเชื่อก่อนกำหนด เปิดฟังความเห็นภาคธุรกิจเกณฑ์ใหม่ครอบคลุมผู้ประกอบธุรกิจ “สินเชื่อส่วนบุคคล-นาโนไฟแนนซ์” ด้วย จากเดิมห้ามเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ

ขณะที่ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ชี้มาตรการห้ามคิดค่าฟีชำระหนี้ก่อนกำหนดสินเชื่อพีโลนใกล้หมดอายุสิ้นปีนี้ คาดแบงก์ชาติต้องการออกมาตรการถาวร ด้าน “เงินเทอร์โบ” ยันไม่กระทบธุรกิจ เหตุไม่เก็บอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อการปรับปรุงหลักเกณฑ์ว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ (พีโลน) และหลักเกณฑ์ว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (นาโนไฟแนนซ์)

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีวินัยทางการเงินที่ดี มีต้นทุนในการบริหารจัดการภาระหนี้ที่ลดลง และมีทางเลือกในการรีไฟแนนซ์ (refinance) ได้มากขึ้น รวมทั้งเพื่อให้หลักเกณฑ์การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการไถ่ถอนหรือชำระคืนสินเชื่อก่อนครบกำหนด (prepayment fee) สำหรับสินเชื่อรายย่อยทุกประเภทอยู่บนกรอบหลักการเดียวกัน และสอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ เกณฑ์เดิมจะห้ามเฉพาะธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ไม่ให้เรียกเก็บดอกเบี้ย เบี้ยปรับ ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใด ๆ ในกรณีที่ผู้บริโภคไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด ทั้งจำนวนหรือบางส่วน แต่เกณฑ์ใหม่จะครอบคลุมถึงผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อบุคคลภายใต้การกำกับและนาโนไฟแนนซ์ด้วย

นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนการมีวัฒนธรรมสินเชื่อที่ดี โดยผู้ประกอบธุรกิจให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบและเป็นธรรม ธปท.มีแนวคิดให้ผู้ประกอบธุรกิจพิจารณาให้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน (title loan) จากความสามารถในการชำระหนี้

โดยพิจารณาจากภาระหนี้ทั้งหมด และรายได้ของลูกหนี้ และไม่นำมูลค่ารถที่คาดว่าจะได้รับเมื่อเกิดความเสียหายมาแล้ว มาเป็นปัจจัยในการพิจารณาสินเชื่อ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible lending) และแนวทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน

สำหรับการพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้นั้น ผู้ประกอบธุรกิจสามารถพิจารณากระแสเงินสดที่คาดว่าจะได้รับจากมูลค่ารถที่มีการนำทะเบียนมาเป็นหลักประกันและสภาพคล่องในการจำหน่ายรถดังกล่าว และกำหนดวงเงินสินเชื่ออย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้

ขณะที่นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ชี้ว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นของ ธปท. แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ prepayment fee ที่เดิมห้ามเฉพาะธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว ขยายให้ครอบคลุมสินเชื่อบุคคล และนาโนไฟแนนซ์ด้วย

“ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ธปท.ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในการแบ่งเบาภาระหนี้ โดยห้ามผู้ประกอบธุรกิจส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล และนาโนไฟแนนซ์ เรียกเก็บ prepayment fee แต่เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่กำลังจะจบในวันที่ 31 ธ.ค.นี้ จึงคาดว่า ธปท.คงฟังความเห็น เพื่อจะนำไปบังคับใช้ให้ครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์” นางสาวกาญจนากล่าว

กาญจนา โชคไพศาลศิลป์
กาญจนา โชคไพศาลศิลป์

ส่วนที่สอง คือ การพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ จากเดิมกำหนดให้ผู้ประกอบการสามารถพิจารณาตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง หรือตั้งแต่รายได้จนถึงการนำมูลค่ารถหลังจากขายนำไปรวมด้วย ส่วนเกณฑ์ใหม่จะไม่ให้นำปัจจัยมูลค่าจากการขายรถมาพิจารณาปล่อยสินเชื่อด้วย โดยให้พิจารณาจากรายได้และความสามารถในการชำระหนี้เท่านั้น

“ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นการส่งเสริมเรื่องการรวมหนี้ด้วย เพื่อลดภาระดอกเบี้ย เพราะหากลูกค้าต้องการรีไฟแนนซ์หนี้ส่วนบุคคลมารวมกับสินเชื่อที่มีหลักประกัน เช่น บ้าน อาจจะต้องไปปิดวงเงินเดิม ซึ่งการปิดวงเงินเดิมจะต้องเสีย prepayment fee ธปท.จึงอยากทำให้เป็นการถาวร” นางสาวกาญจนากล่าว

ด้านนายสุธัช เรืองสุทธิภาพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เงินเทอร์โบ จำกัด กล่าวว่า บริษัทไม่ได้รับผลกระทบ กรณี ธปท.จะห้ามเรียกเก็บ prepayment fee เนื่องจากที่ผ่านมา บริษัทไม่ได้มีการเรียกเก็บ prepayment fee อยู่แล้ว ทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์ คือ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์

“เราเก็บเฉพาะอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดเท่านั้น เช่น สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ก็คิดดอกเบี้ยไม่เกินเพดาน 33% ต่อปี” นายสุธัชกล่าว

ขณะที่ในส่วนของการพิจารณาการปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถนั้น โดยปกติบริษัทปล่อยสินเชื่อตามความสามารถในการผ่อนชำระของลูกค้าตามเอกสารรายได้ และมูลค่าหลักประกัน ไม่ได้มีการนำปัจจัยสภาพคล่องจากการขายรถมาพิจารณาปล่อยสินเชื่ออยู่แล้ว จึงไม่ได้มีผลกระทบเช่นกัน

“เราพร้อมที่จะปฏิบัติตาม ธปท.อยู่แล้ว เนื่องจากทั้ง 2 หลักเกณฑ์ไม่ได้มีผลกระทบต่อเรา อย่างในส่วนของการไม่ให้เรียกเก็บ prepayment fee เราก็ไม่ได้มีการเรียกเก็บอยู่แล้ว จึงไม่มีผล และไม่ต้องมีการปรับระบบรองรับใหม่” 
นายสุธัชกล่าว