เศรษฐา ปลดล็อกลูกหนี้รหัส 21 ตั้งบริษัทรับซื้อหนี้เสียจากแบงก์รัฐ

นายเศรษฐา ทวีสิน

นายกฯเศรษฐา เดินหน้าแก้ปัญหาลูกหนี้รหัส 21 เอสเอ็มอี-รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19  มอบหมาย “กฤษฎา จีนะวิจารณะ” รมช.คลัง รับผิดชอบ วางแผนตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ รับซื้อหนี้เสียจากแบงก์รัฐออกมาจัดการ

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้ เนื่องจากเป็นปัญหาใหญ่ และเป็นต้นตอของอาชญากรรมด้วย โดยจะเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ สำหรับเรื่องแก้หนี้ในระบบ อย่างหนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้มอบหมายให้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการแก้ปัญหา

ขณะที่หนี้นอกระบบก็เป็นปัญหาใหญ่ ดอกเบี้ยเดือนละ10-15%  ซึ่งเป็นหนี้ไม่ถึงปีดอกเบี้ยก็ทบต้นไปแล้ว ดังนั้น ต้องใช้กลไกระดับอำเภอเข้าไปจัดการ คือ ผู้กำกับการตรวจในแต่ละพื้นที่ และนายอำเภอ ซึ่งจะต้องมีการเรียกเจ้าหนี้รายใหญ่กับลูกหนี้มาเคลียร์กัน และต้องมี KPI วัดผลการทำงานด้วย โดยตนจะดูแลเรื่องนี้ด้วยตัวเอง

นอกจากนี้ในส่วนของผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 จนกลายเป็นหนี้เสีย ที่เรียกว่าเป็นลูกหนี้รหัส 21 ทางรัฐบาลก็มีนโยบายที่จะตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ขึ้นมา เพื่อรับซื้อลูกหนี้รหัส 21 โดยเรื่องนี้ได้มอบหมายให้ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง เป็นผู้รับผิดชอบ

ซึ่งในเบื้องต้นก็จะเน้นเฉพาะในส่วนของแบงก์รัฐ ส่วนว่าจะครอบคลุมไปถึงลูกหนี้รหัส 21 ของธนาคารพาณิชย์ด้วยหรือไม่ ยังไม่มีข้อสรุป แต่เฉพาะหนี้ของธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทยก็มีพอสมควร

ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง กล่าวยอมรับว่า ตนได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ให้รับผิดชอบเรื่องการแก้ปัญหาหนี้รหัส 21 ที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โรคโควิดระบาด ตั้งแต่ 2563 ซึ่งอาจจะต้องตั้ง AMC ขึ้นมารับหนี้ไปบริหาร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) อัพเดตจนถึง ณ เดือน มิ.ย. 2566 พบว่า ภาพรวมบัญชีบุคคลธรรมดา ที่มีรหัสสถานะบัญชี 21 (ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19) ซึ่งเป็นสินเชื่อค้างชำระเกิน 90 วัน (NPL) มีจำนวนบัญชีอยู่ที่ 4.9 ล้านบัญชี มูลค่า 3.7 แสนล้านบาท ซึ่งปัญหาหนี้เสียของลูกหนี้กลุ่มนี้ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และครอบคลุมจำนวนลูกหนี้ปรับเพิ่มขึ้นราว 3 แสนราย จาก 3.1 ล้านคน เป็น 3.4 ล้านคน

ทั้งนี้ หากดูสัดส่วนลูกหนี้รหัส 21 ปัจจุบันอยู่กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (แบงก์รัฐ) ประมาณ 60% ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) 18% บริษัทเช่าซื้อ 13% และแบงก์พาณิชย์ 10%