ธุรกิจใหญ่เบรกลงทุนใหม่ สินเชื่อติดลบปัจจัยเสี่ยงรุม

เบรกลงทุน

จับตาภาคธุรกิจเอกชนเบรกลงทุนโปรเจ็กต์ใหม่เข้าโหมด Wait & See เผยสัญญาณปัจจัยเสี่ยงมากกว่าปัจจัยบวกทั้งภายใน-ภายนอก แบงก์กรุงศรีฯยอมรับเศรษฐกิจชะลอตัว-ต้นทุนการเงินพุ่ง กระทบสินเชื่อรายใหญ่ทรงตัวดีลซื้อกิจการชะงัก “กสิกรไทย” ระบุสัญญาณสินเชื่อระยะยาวโตจำกัด ธุรกิจชะลอลงทุน รอดูทิศทางเศรษฐกิจปี’67 ยกเว้นอุตฯท่องเที่ยว-ยานยนต์ไฟฟ้าเห็นการลงทุนต่อเนื่อง เผยภาพรวมสินเชื่อธุรกิจหดตัวต่อเนื่อง 4 ไตรมาส KKP เผยปัญหาเศรษฐกิจไทย “ขาดการลงทุนใหม่”

ธุรกิจชะลอลงทุนใหม่

นายประกอบ เพียรเจริญ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมธุรกิจขนาดใหญ่ในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้มองว่า ความต้องการสินเชื่อและการขยายลงทุนใหม่ รวมถึงการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ของภาคธุรกิจค่อนข้างนิ่ง ทำให้สินเชื่อของธนาคารอาจจะไม่ได้ขยายตัวหวือหวามากนัก

โดยส่วนหนึ่งมาจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงิน (cost of fund) ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนในโปรเจ็กต์ต่าง ๆ โดยเฉพาะการลงทุนขนาดใหญ่หรือดีลใหญ่ชะลอตัวออกไป เนื่องจากต้องใช้จำนวนเม็ดเงินและต้นทุนที่สูงขึ้น แต่ในส่วนของดีลขนาดเล็ก ๆ อาจจะมีให้เห็นบ้าง

นอกจากนี้จะเห็นว่าปัจจัยเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด และมีประเด็นความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ สงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาส เข้ามาเป็นปัจจัยเสี่ยงกดดันเพิ่มเติม ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจภายในประเทศยังฟื้นตัวค่อนข้างช้า กำลังซื้อยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ แม้ว่าการท่องเที่ยวจะปรับดีขึ้น แต่ยังไม่กระจายทั่วถึง รวมถึงภาคธุรกิจยังรอความชัดเจนของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐก่อน ทำให้ธุรกิจรายใหญ่อยู่ในช่วงรอดู หรือ wait & see ก่อนจะพิจารณาลงทุนใหม่

“ภาพธุรกิจรายใหญ่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายทรงตัว หรือชะลอลงหน่อย เพราะปัจจัยเสี่ยงมากกว่าปัจจัยบวก และดีลหลายดีลชะงักไป เพราะต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นดอกเบี้ย”

รอดูทิศทางเศรษฐกิจ

นายทิพากร สายพัฒนา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมการขอวงเงินสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่ในปีนี้จะเห็นว่า ส่วนใหญ่ยังคงเป็นสินเชื่อหมุนเวียน (working capital) เพื่อรองรับสภาพคล่องและใช้หมุนเวียนในกิจการระยะสั้น ๆ ขณะที่สินเชื่อระยะยาวอัตราการเติบโตค่อนข้างจำกัด เนื่องจากลูกค้าอาจจะมีการชะลอการลงทุน เพื่อรอดูแนวโน้มและทิศทางเศรษฐกิจในปี 2567 ซึ่งธนาคารคาดว่าความต้องการใช้วงเงินสินเชื่อของลูกค้าในปี 2567 จะมีเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่น่าจะขยายตัวดีขึ้น

“การเติบโตของสินเชื่อในไตรมาสที่ 4 น่าจะใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า แต่คาดว่าปีหน้าน่าจะดีขึ้นตามการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานในประเทศ ทำให้เอกชนจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ภาคธุรกิจยังคงต้องติดตามปัจจัยทางเศรษฐกิจและสถานการณ์โลกใกล้ชิด และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ความขัดแย้งอิสราเอล-ฮามาส ที่อาจกดดันราคาสินค้าและพลังงานเพิ่มสูงขึ้น และกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของลูกค้าเพิ่มสูงขึ้นด้วย”

“ท่องเที่ยว-อีวี” ยังไปต่อ

นายทิพากรกล่าวว่า กลุ่มธุรกิจที่คาดว่าจะเริ่มกลับมา หรือขยายตัวได้ดีในปี 2567 จะเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ได้แก่ โรงแรม ร้านอาหาร อาจจะมีการขยายลงทุนเพิ่มขึ้น หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากขึ้น รวมถึงกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการลดคาร์บอนตามโรดแมปของประเทศสู่ Net Zero Carbon ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการส่งเสริมของภาครัฐ ทั้งการลดภาษีนำเข้า ภาษีสรรพสามิต และการให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ได้รับสิทธิตามมาตรการเพื่อให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าลดลงใกล้เคียงกับราคารถยนต์สันดาป

โดยกลุ่มธุรกิจที่อาจจะชะลอตัวในปีหน้า คาดว่าจะเป็นกลุ่มการเกษตร, อุตสาหกรรมผลิตอาหาร เนื่องจากต้องเผชิญความท้าทายหลายด้าน เช่น การแข่งขันสูงจากประเทศเพื่อนบ้าน และการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (climate change) ที่ส่งผลต่อการผลิต การขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตเพื่อส่งออก และความกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว อาจเป็นอุปสรรคสำคัญทำให้ธุรกิจไม่ขยายตัวเท่าที่ควร

BBL ธุรกิจลงทุน ESG

ขณะที่นายไชยฤทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มธุรกิจในไตรมาสที่ 4/2566 จะเป็นช่วงที่มีการเบิกใช้วงเงิน หรือความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 ไตรมาสแรก เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น คริสต์มาส ปีใหม่ และต่อเนื่องไปถึงสงกรานต์ ทำให้มีความต้องการใช้วงเงินหมุนเวียนในการสต๊อกสินค้า และซื้อวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิต รวมถึงความต้องการเงินลงทุนเพื่อขยายกิจการและลงทุนใหม่ทั้งในและต่างประเทศ

“มองว่าความต้องการสินเชื่อในไตรมาสที่ 4/66 จะเป็นช่วงที่เติบโตสูงสุดของปี เพราะเป็นช่วงฤดูกาล ทำให้มีความต้องการทั้งสินเชื่อหมุนเวียน และการลงทุน แม้ว่าในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น แต่เชื่อว่าไม่ได้มีผลต่อการลงทุนลูกค้า เพราะลูกค้าได้มีการวางแผนไว้ก่อนหน้า และมีการใส่ปัจจัยต้นทุนทางการเงินไว้อยู่แล้ว เนื่องจากต้นทุนการเงินทางดอกเบี้ยมีการปรับขึ้นลงตลอดเวลา เพียงแต่ในช่วงที่ผ่านมาอยู่ในระดับต่ำมานาน ซึ่งหากดูแล้วว่าลงทุนแล้วไม่คุ้มก็คงชะลอไปก่อน แต่ตอนนี้เรายังเห็นดีลลงทุนหรือขยายกิจการอยู่” นายไชยฤทธิ์กล่าวและว่า

นอกจากนี้ ธนาคารเริ่มเห็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่มีการลงทุนในเซ็กเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน (ESG) สินเชื่อพลังงานทดแทน ส่งผลให้พอร์ตทางด้าน green finance มีทิศทางเพิ่มขึ้น แต่ยังคงไม่ได้เป็นพอร์ตหลักของธนาคาร

อย่างไรก็ดี แหล่งเงินทุนของลูกค้าจะมีทั้งการใช้วงเงินสินเชื่อ และการออกหุ้นกู้ เนื่องจากการใช้วงเงินสินเชื่อลูกค้าสามารถบริหารจัดการและจัดสรรวงเงินได้ แต่ในกรณีที่เป็นหุ้นกู้ ได้รับเงินเป็นก้อนใหญ่ ทำให้การจัดสรรเงินค่อนข้างยากและเป็นต้นทุนให้ผู้ประกอบการ

สินเชื่อ “ติดลบ” ต่อเนื่อง

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมสินเชื่อรายใหญ่ (ไม่รวมกิจกรรมการเงินและประกันภัย) ของระบบธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย จะเห็นว่าสินเชื่อติดลบต่อเนื่องมาหลายไตรมาส เนื่องจากมีแรงกดดันจากการ “ชำระคืนสินเชื่อ” ประกอบกับสินเชื่อปล่อยใหม่ไม่โต นอกจากลูกค้าชะลอการลงทุนแล้ว อีกด้านธนาคารพาณิชย์มีการพิจารณาความเสี่ยงด้านเครดิตมากขึ้นด้วย ทำให้ยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่น้อยลงด้วย ทำให้ยอดสินเชื่อคงค้างทยอยลดลงนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3/2565 จนถึงไตรมาสที่ 2/2566 รวมหดตัวติดลบ 4 ไตรมาส

โดยยอดสินเชื่อรายใหญ่คงค้าง ณ ไตรมาสที่ 3/2566 อยู่ที่ 4.75 ล้านล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 4.86 ล้านล้านบาท คิดเป็นการเติบโต -2.2% อย่างไรก็ดี ภาพของการติดลบของสินเชื่อจะทยอยลดลงและอาจกลับมาเป็นบวกเล็กน้อย เนื่องจากเทียบฐานที่ต่ำปีก่อน และเป็นช่วงฤดูกาลเบิกใช้ของภาคธุรกิจ และแรงกดดันของการชำระคืนสินเชื่อลดลง โดยศูนย์วิจัยคาดการณ์ว่า ยอดสินเชื่อรายใหญ่จะกลับมาขยายตัวได้ระดับ 2% ในสิ้นปี 2566 ทำให้ยอดสินเชื่อคงค้างขยับมาอยู่ที่ 4.80 ล้านล้านบาท จากเมื่อสิ้นปี 2565 สินเชื่อรายใหญ่มีอัตราการเติบโต -2.6% (สินเชื่อคงค้าง 4.71 ล้านล้านบาท)

ไอซีที-ค้าปลีกค้าส่งชะลอลงทุน

นางสาวกาญจนากล่าวว่า อุตสาหกรรมที่ได้รับแรงกดดันและมียอดสินเชื่อคงค้างต่ำกว่าสิ้นปีก่อน ได้แก่ กลุ่มไอซีที ขนส่ง และค้าส่งค้าปลีก ทั้งนี้ แม้ว่ากลุ่มดังกล่าวจะมีแรงกดดัน แต่อาจจะไม่ได้หมายความว่าไม่ดี แต่สามารถหาแหล่งเงินทุนอื่นได้ ส่วนอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวโดยมีสินเชื่อคงค้างสูงขึ้นเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565 ได้แก่ ภาคการผลิต ที่พัก-โรงแรม ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และเกี่ยวข้องกับภาครัฐ

ดังนั้น หากดูในฝั่งของการออกหุ้นกู้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 จะพบว่าภาคเอกชนมีการออกหุ้นเพิ่มขึ้น 3.6% โดยมีหุ้นกู้ออกใหม่ราว 1.65 ล้านล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 1.59 ล้านล้านบาท สอดคล้องกับภาพของการชำระคืนสินเชื่อ โดยเซ็กเตอร์ที่มีการออกใหม่ค่อนข้างเยอะ ได้แก่ ภาคการเงิน ลีสซิ่ง ประกัน รวมถึงภาคเกษตร ก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

“ภาพรวมสินเชื่อรายใหญ่ยังถูกแรงกดดันจากการชำระคืนหนี้มาหลายไตรมาส แต่เราเริ่มเห็นสัญญาณเป็นบวกดีขึ้นในไตรมาสที่ 3/66 เริ่มมีการเบิกใช้วงเงิน แต่ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฤดูกาล ซึ่งหากมีการประคองตัวไปได้ เชื่อว่าสินเชื่อน่าจะกลับมาเป็นบวกได้ แต่เป็นการโตที่จำกัด เรามองกรอบที่ราว 2% และภาพยังมีการออกหุ้นกู้ และนำมาชำระคืน เพราะต้นทุนถูกกว่าในภาวะที่ดอกเบี้ยแบงก์ขาขึ้น”

ประเทศไทย “ขาดการลงทุน”

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า ปัญหาของเศรษฐกิจไทยตอนนี้ต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดโอกาสการลงทุนใหม่ เพราะอาการที่เห็นขณะนี้คือขาดการลงทุนใหม่ สินเชื่อธุรกิจไม่มีการเติบโต เศรษฐกิจโตต่ำเป็นลักษณะของการกินบุญเก่า สูญเสียความสามารถการแข่งขันตกลงเรื่อย ๆ ขณะที่ตลาดหรือกำลังซื้อในประเทศโตลดลงจากโครงสร้างประชากรสูงวัย รัฐบาลต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนเกิดการลงทุน

“ปัจจุบันก็จะเห็นภาพของสินเชื่อธุรกิจโตติดลบ สิ่งที่น่ากังวลคือเศรษฐไทยจะเข้าสู่โหมดโตช้าไปเรื่อย ๆ และขับเคลื่อนด้วยหนี้ครัวเรือน” ดร.พิพัฒน์กล่าว