ธปท.เตือนไทยลดพึ่งพาเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวเดิม ทำเติบโตกระจุกตัว-เร่งสร้างกันชน

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

“เศรษฐพุฒิ” ผู้ว่า ธปท. ปักหมุดนโยบายการเงินต้อง Resilience ทนทานและยืดหยุ่น พร้อมสร้างกันชนรองรับความเสี่ยง-วิกฤตที่ไม่คุ้นเคย แนะสร้าง Policy Space เก็บกระสุนภาคเงิน-การคลัง เดินหน้าสร้างโอกาสใหม่ พร้อมเปิดตัวเลข 20 ปีย้อนหลัง รายได้โตขึ้น 3 เท่า แต่ผลประโยชน์กระจุกตัว-ไม่กระจายตัว หลังไทยพึ่งพาเครื่องยนต์ตัวเดิม ลั่นจะโตแบบเดิม-เท่าเดิมไม่ได้

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ มีกำหนดกล่าวปาฐกถาในงาน Thailand Next Move 2024 “The Next Wealth and Sustainability” เปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่มั่งคั่งยั่งยืน ว่าปัจจุบันความเสี่ยงในโลกสูงขึ้น ซึ่งมีความเสี่ยงบางอย่างที่คุ้นชิน และบางอย่างไม่คุ้นชิน คาดการณ์ลำบาก และบอกผลข้างเคียงได้ยาก เช่น ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่อาจจะนำไปสู่เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มีผลข้างเคียงสูง ดังนั้น คำว่า Resilience จะเป็นพระเอกใหม่ โดยระบบมีความยืดหยุ่นและทนทาน ล้มและกลับมาได้เร็ว

การจะเดินไปสู่ Resilience ได้จะต้องมี 3 องค์ประกอบสำคัญ คือ

1.เสถียรภาพการเงิน จะเห็นว่าการเกิดวิกฤตการเงินในศรีลังกา และวิกฤตปี 2540 เป็นเรื่องของเศรษฐกิจที่ขาดเสถียรภาพ โดยเสถียรภาพของไทยเศรษฐกิจไทยขยายตัวในระดับ 3-4% อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบ 1-3% และไม่ให้เกิดความไม่สมดุลดุลของระบบสถาบันการเงิน หรือการเกิดพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนสูง (Search for Yield) ในช่วงดอกเบี้ยต่ำ อย่างไรก็ดี หากถามว่าเสถียรภาพประเทศไทย ณ ตอนนี้ ถือว่าดี แต่ชะล่าใจไม่ได้

โดยตัวเลขที่สะท้อนว่ายังดีว่าโอกาสจะเกิดวิกฤตหรือไม่นั้น เช่น ค่าเงิน อัตราแลกเปลี่ยน หรือระบบธนาคารเจ๊ง สถานการณ์นำไปสู่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ หรือ 4 ประเทศเผชิญเงินเฟ้อสูงในประเทศเกิดใหม่และลาติน อเมริกา จะเห็นว่ามิติต่างประเทศของไทยยังค่อนข้างดี โดยดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าปีนี้และปี 2567 จะเกินดุล หนี้ต่างประเทศไม่สูง 38% ต่อจีดีพี ทุนสำรองต่างประเทศต่อหนี้ระยะสั้นอยู่ที่ 2-3 เท่า สูงกว่าเกณฑ์สากล 1 เท่า

และงบดุล (Balance Sheet) ของระบบสถาบันการเงิน และบริษัทเอกชนยังค่อนข้างแข็งแรง โดย ณ สิงหาคม 2566 มี BIS อยู่ที่ 20% และสำรองต่อหนี้เอ็นพีแอล (NPL Coverage) ณ มิ.ย.66 อยู่ที่ 175.6% ส่วนตัวเลขที่ดีน้อย จะเป็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับ 91% ต่อจีดีพี แม้ว่าจะลดลงจากที่เคยไปพีกที่ระดับ 94% แต่ถือว่ายังอยู่ระดับสูง ซึ่งตัวเลขอาจจะไม่มีตายตัว แต่ระดับสากลจะอยู่ที่ระดับ 80% ต่อจีดีพี ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต้องจับตามอง รวมถึงตัวเลขหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับ 62%

เทียบกับต่างประเทศมีหลายประเทศที่อาจสูงกว่าไทย แต่ถ้าเทียบในอดีตที่ผ่านมาถือว่าขึ้นมาค่อนข้างเร็ว โดยในช่วงก่อนโควิด-19 อยู่ที่ 40% และเทียบกับอดีตถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยในปี 2540 อยู่ที่ระดับ 60% แต่ถ้าถามว่าโอกาสที่จะเกิดปัญหาอาจจะไม่ แต่เป็นตัวเลขที่ใส่ใจ และชะล่าใจไม่ได้ ขณะเดียวกัน ความกังวลในตลาดมีมากขึ้น จะเห็นจากตัวเลขเงินทุนเคลื่อนย้าย (Fund Flow) ไหลออก (Out Flow) นับตั้งแต่ต้นปี-ปัจจุบัน (YTD) อยู่ที่ -8.4 พันล้านดอลลาร์

ซึ่งเป็นการไหลออกสูงเป็นอันดับ 2 ในรอบ 10 ปี สวนทางกับประเทศอื่นที่เป็นเงินทุนไหลเข้า (Net inflow) เช่น เกาหลี หรืออินเดีย เป็นต้น ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยน จะเห็นว่าค่าความผันผวนของเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 8-9% แม้จะต่ำกว่าในช่วงที่เกิดปัญหาในซิลิคอนวัลเลย์ที่เคยผันผวนสูง 12% แต่สิ่งที่บริษัทจัดอันดับเครดิต (Credit Rating Agency) ตัวที่มีความกังวล คือ ภาคการคลัง โดยอยากเห็นการขาดดุลน้อยลง (Fiscal Consolidation)

2.การมีภูมิเพื่อรองรับ Shock ต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยจะต้องมีกันชน (Buffer) จะต้องดี คือ การมีงบดุลที่แข็งแรง โดยภาครัฐจะต้องมีหนี้สาธารณะที่แข็งแรง ไม่สูงเกินไป ธนาคารพาณิชย์จะต้องมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ที่เพียงพอ และภาคธุรกิจจะต้องมีสัดส่วนหนี้ต่อทุน (D/E) ค่อนข้างต่ำ และท้ายที่สุด ภาคครัวเรือนจะต้องมีหนี้ไม่สูงเกินไป โดย Buffer เหล่านี้จะต้องเพียงพอรองรับวิกฤตได้

ซึ่งหากเศรษฐกิจมีความ Resilience หากมีความเสี่ยงที่ไม่คุ้นชิน จะสามารถบริหารจัดการได้ เนื่องจากเราไม่สามารถรู้ว่าช็อกหรือวิกฤตจะมาแนวไหน จึงต้องมีกันชน หรือ Buffer ไว้ก่อน

“เราไม่รู้ว่า Shock จะมาแนวไหน เราต้องมี Buffer ไว้ หรือการมีความสามารถในการดำเนินนโยบาย (Policy Space) กระสุนที่เพียงพอในฝั่งนโยบายการเงินให้สามารถปรับลดดอกเบี้ยได้เพียงพอ หรือฝั่งการคลังก็ต้องมีกระสุน ดังนั้น กันชน หรือ Buffer เป็นตัวสำคัญ และเราธปท.จะต้องสร้างทางเลือกใหม่ด้วย มีถนนสายหลัก (Main) จะต้องมีถนนสายรองด้วย

ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยรองรับช็อกต่าง ๆ และหนี้ไม่พ้นเศรษฐกิจที่จะ Resilience จะต้องมี Growth ใหม่ ๆ ด้วย เพราะบริบทของไทยค่อนข้างนิ่ง ๆ หากไม่สร้างโอกาสในการเติบโตได้ จะไม่ก้าวไปสู่ความมั่งคั่งและยั่งยืนได้”

3.การสร้างโอกาสจะต้องเป็นอะไรที่ใหม่ เพราะถ้าเป็นแบบเดิมจะยิ่งลำบาก นั่นก็คือกระแสความยั่งยืน หรือ ESG เพราะหากดู 1 ใน 3 ของแรงงานไทยจะอยู่ในภาคเกษตร และอยู่ในอุตสาหกรรมเก่า ๆ เช่น ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี หรือยานยนต์ เป็นต้น ซึ่งอาจจะถูกกระทบจากกระแสความยั่งยืนหากไม่ปรับตัว และการพึ่งพาเครื่องยนต์ ตัวเดิมจะลำบาก เพราะไทยจะโตแบบเดิม เท่าเดิมไม่ได้ เพราะการส่งผ่านจะไม่ทั่วถึง

เนื่องจากการเติบโตที่ผ่านมาไม่ใส่ใจเรื่องว่าการเติบโตจะตกอยู่กับใคร ผลประโยชน์อยู่กับการเติบโตที่แคบ และโตบนฐานที่แคบ ทำให้การจะเติบโตแบบ Resilience จะลำบาก

“หากดูข้อมูลย้อนหลัง 20 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าจีดีพีที่ได้มาไปที่ไหนบ้าง ไปที่รัฐจากการเก็บภาษี จ่ายค่าแรงงาน กำไรธุรกิจ แต่หากดูไส้ในข้อมูลในอดีตช่วง 20 ปี หรือในปี 2554 เทียบรายได้ประชาชาติไม่รวมเงินเฟ้อเท่ากับ 100 จะเห็นว่าโตเพิ่มขึ้นมา 3 เท่าเป็น 298 ถือว่าโอเค

แต่ถ้าไล่ไปดูไส้ใน เช่น ผลประโยชน์การเติบโตจะไม่กระจาย โดยรายได้ภาครัฐอยู่ที่ 277 รายได้ค่าแรง 274 เพิ่มขึ้นมา 2.74 เท่า หรือรายได้บริษัทขนาดใหญ่อยู่ที่ 482 หรือเกือบ 5 เท่า แต่หากดูจะเห็นว่ากลุ่ม SMEs ไม่สูง เราเห็นการกระจุกตัวของกำไร ดังนั้น หากต้องการให้เศรษฐกิจ Resilience จะต้องมี 3 องค์ประกอบที่กล่าวมา”

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของหน้าที่ ธปท. คือ ดูแลเสถียรภาพและนโยบายการเงินให้เหมาะสม ทั้งในส่วนของนโยบายการเงินและสถาบันการเงินให้สามารถเติบโตแบบ Resilience โดยจะมีอยู่ 1-2 อย่าง คือ

1.การเปลี่ยนแปลงนโยบายจากช่วงโควิด-19 กลับมาสู่นโยบายภาวะปกติ (Normalize Policy) การขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้ในระดับเหมาะสม และในฝั่งมาตรการทางการเงินปรับจากการเหยียบคันเร่ง โดยการปรับหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการปรับโครงสร้างหนี้ และผ่อนปรนให้สามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยการถอนคันเร่ง

2.สร้างภูมิให้สถาบันการเงิน และต่างประเทศ โดยตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือ หนี้ครัวเรือนเป็นสิ่งที่กังวล โดยในช่วงโควิด-19 พยายามประคองให้สามารถอยู่รอดได้ ลดภาระต่าง ๆ ในช่วงที่รายได้ไม่มี แต่ปัจจุบันจะต้องทำให้หนี้ครัวเรือนสามารถกลับเข้ากรอบก่อนจะติดกับดักหนี้ สามารถปิดจบหนี้ได้

ส่วนภาคธุรกิจจะช่วยเรื่องการค้าขายด้วยสกุลเงินท้องถิ่น เพื่อลดความผันผวนของค่าเงิน และสร้างกลไกทางด้านระบบชำระเงินภายในประเทศ และระหว่างประเทศ (Cross Border Payment) รวมถึงสร้างโอกาสในด้านดิจิทัลและความยั่งยืน เพราะถ้าไม่มีการปรับตัว หรือไม่สร้างโอกาสในการเติบโต จะไม่ก้าวไปสู่ความมั่งคั่งและยั่งยืนได้