ปลดล็อกลูกหนี้โควิดรหัส 21 “คลัง-ธปท.” เปิดทางแบงก์รัฐตั้ง AMC

ปลดล็อกหนี้โควิด

คลัง-แบงก์ชาติ ร่วมมือปลดล็อกลูกหนี้รหัส 21 “เอสเอ็มอี-รายย่อย” เอ็นพีแอลแบงก์รัฐที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เตรียมออกประกาศให้แบงก์รัฐร่วมทุนเอกชนจัดตั้ง AMC รับซื้อ-โอนหนี้เสียออกไปแก้ ชี้เพื่อความคล่องตัวในการจัดการลูกหนี้ คาด ธปท.ออกประกาศภายในปลายปีนี้ เผยใช้แนวทางเดียวกับกรณีธนาคารพาณิชย์ที่ร่วมทุนตั้ง JVAMC ไปก่อนหน้านี้

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เรื่องการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันมีลูกหนี้ที่ยังประสบปัญหาเป็นหนี้เสีย (ลูกหนี้รหัส 21) ในส่วนสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (แบงก์รัฐ) จำนวนมาก

ซึ่งมีทั้งรายย่อยและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยแนวทางจะเป็นลักษณะของการเปิดทางให้แบงก์รัฐสามารถดำเนินการตัดขายลูกหนี้รหัส 21 ออกไปให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) เพื่อที่จะช่วยให้มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการหนี้เสีย

สำหรับวิธีการ ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะออกประกาศให้แบงก์รัฐ สามารถร่วมทุนเอกชนตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็มซี) เพื่อรับซื้อและรับโอนลูกหนี้รหัส 21 ออกไปจากแบงก์รัฐ ซึ่งจะเป็นแนวทางเดียวกับที่ ธปท.ออกมาตรการสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ร่วมทุนกับ AMC เพื่อรับซื้อหนี้เสียที่ได้ผลกระทบจากโควิด-19

“แบงก์รัฐจะไม่ถือหุ้นใหญ่ แต่จะถือหุ้นในสัดส่วนเท่า ๆ กัน เพื่อไม่ให้บริษัทร่วมทุนมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ เพื่อให้มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการหนี้ที่รับซื้อไป ทั้งในการปรับโครงสร้างหนี้ หรือแฮร์คัต (ลดหนี้) ให้กับลูกหนี้ ทั้งนี้ คาดว่า ธปท.จะออกประกาศดังกล่าวได้ในช่วงปลายปีนี้” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ จากข้อมูลของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) อัพเดตจนถึง ณ เดือน มิ.ย. 2566 พบว่า บัญชีลูกหนี้ รหัสสถานะบัญชี-21 (ลูกหนี้เอ็นพีแอลที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19) มีจำนวน 4.9 ล้านบัญชี มูลค่า 3.7 แสนล้านบาท โดยเป็นลูกหนี้ของแบงก์รัฐประมาณ 60% น็อนแบงก์ 18% บริษัทเช่าซื้อ 13% และแบงก์พาณิชย์ 10%

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ตามหลักการจะเปิดโอกาสให้แบงก์รัฐทุกแห่งสามารถเข้าร่วมมาตรการดังกล่าวได้ ขึ้นอยู่กับผู้บริหารและบอร์ดแบงก์แต่ละแห่ง ว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ เพราะปัญหาหนี้ของแบงก์รัฐบางแห่งก็มีความซ้ำซ้อน เช่นกรณีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งลูกหนี้เป็นเกษตรกร ประกอบกับที่ผ่านมา รัฐบาลมีนโยบายพักหนี้ ยืดหนี้ มาช่วยเหลือแล้ว

เศรษฐา ทวีสิน
เศรษฐา ทวีสิน

“การตัดขายหนี้เสียออกไป นอกจากช่วยให้แบงก์ตัวเบาแล้ว ขณะเดียวกันถือเป็นการช่วยลูกหนี้ให้หลุดพ้นจากพันธนาการหนี้ได้ง่ายมากขึ้น เพราะเมื่อตัดขาย “ลดราคา” ให้กับ AMC ก็ทำให้การปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้ทำได้สะดวกมากขึ้น ไม่ติดข้อกฎหมายต่าง ๆ และทำให้ลูกหนี้ปลดหนี้ได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ เมื่อดำเนินการปิดหนี้เรียบร้อย ก็จะมีชื่อติดอยู่ในเครดิตบูโรแค่ 3 ปี แต่หากยังเป็นหนี้รหัส 21 ที่อยู่กับแบงก์รัฐ บัญชีลูกหนี้จะค้างหนี้ไปอีก 8 ปี เพราะแบงก์รัฐจะต้องรายงานบัญชีหนี้เสียดังกล่าวไปอีก 5 ปี ถึงจะตัดออกจากบัญชีได้ ซึ่งจากนั้นรายชื่อลูกหนี้ก็จะติดอยู่กับเครดิตบูโรไปอีก 3 ปี”

แหล่งข่าวกล่าวว่า หลักการให้แบงก์รัฐร่วมทุนตั้งเอเอ็มซี เป็นโมเดลเดียวกับที่ ธปท.ออกประกาศให้แบงก์พาณิชย์ดำเนินการเมื่อปี 2565 โดยส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์และบริษัทบริหารสินทรัพย์ สามารถร่วมลงทุนในกิจการร่วมทุน จัดตั้ง JVAMC

ซึ่งสัดส่วนการถือหุ้นจะเป็นธนาคาร 49% และ AMC อีก 49% และบุคคลอื่นอีก 2% ตามข้อกำหนดการจัดตั้งบริษัทของกระทรวงพาณิชย์ โดยจะไม่มีใครมีอำนาจควบคุม ซึ่งการตัดขายหนี้จะได้ทั้งหนี้เอ็นพีแอลและทรัพย์สินรอการขาย (เอ็นพีเอ) ในราคายุติธรรม และอาจจะเป็นหนี้ด้อยคุณภาพจากปัญหาโควิด-19 และหนี้จากปัญหาอื่น ๆ

“ตามกฎหมายการเคลียร์หนี้จะต้องเสร็จสิ้นภายใน 10 ปี แต่ครั้งนี้ ธปท.ได้เปิดช่องขยายเวลาเป็น 15 ปี” แหล่งข่าวกล่าว

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า ได้มอบหมายให้นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง รับผิดชอบเรื่องการตั้ง AMC ขึ้นมารับซื้อหนี้เสียรหัส 21 จากแบงก์ไปบริหารจัดการ ซึ่งเป็น 1 ในมาตรการแก้ปัญหาหนี้ให้กับประชาชนของรัฐบาล

“กลุ่มที่เราห่วงมากที่สุด คือ รหัส 21 ที่มีจำนวนคนที่ตกชั้นเป็นหนี้เสียมากถึง 3.5 ล้านคน ที่ไม่ได้ตั้งใจเป็นหนี้เสีย แต่เป็นสถานการณ์โควิด จึงต้องเร่งช่วยเหลือให้กลุ่มนี้สามารถออกจากปัญหาหนี้ได้ และอีกกลุ่มที่น่าห่วง คือ เอสเอ็มอีรายจิ๋ว ที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ปัจจุบันมีหนี้เสียระดับสูงที่ 9.7% หรือคิดเป็นหนี้เสียรวมที่ 6.6 หมื่นล้านบาท และกลุ่มนี้มีแนวโน้มปรับโครงสร้างได้น้อยลง เนื่องจากกฎเกณฑ์กติกาที่อาจเข้มงวดขึ้นในอนาคต”