เปิดลงทะเบียนแก้หนี้ 1 ธ.ค.นี้ เครดิตบูโรห่วงกู้ซื้อ “รถ-บ้าน” ค้างจ่ายพุ่ง

รัฐบาลแถลงแก้หนี้นอกระบบ

รัฐบาลเศรษฐาเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้ทั้งใน-นอกระบบ หวังช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ เปิดลงทะเบียน 1 ธันวาคมนี้ ดึงแบงก์ออมสินช่วยปล่อยกู้ต่อรายละ 5 หมื่น-ธ.ก.ส. สางหนี้ที่ดินให้กู้สูงสุด 2.5 ล้านบาท สภาพัฒน์เผยหนี้ครัวเรือนทะลุ 16 ล้านล้าน เครดิตบูโรเปิดตัวเลขหนี้เสีย 1.05 ล้านล้านบาท ห่วงสินเชื่อ “รถยนต์-บ้าน” ตกชั้นเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น หลังเห็นสัญญาณความสามารถผ่อนค่างวดสะดุด

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.มหาดไทย นายกฤษฎา วิจารณะ รมช.คลัง ร่วมกันแถลง วาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ”

รัฐบาลแถลงแก้หนี้
รัฐบาลแถลงแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ

นายเศรษฐากล่าวว่า รัฐบาลเห็นปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นปัญหากัดกร่อนสังคมไทยมานาน และเป็นเรื่องใหญ่ของคนไทยจำนวนมาก จะเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ ทำให้การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ ฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ คืนศักดิ์ศรี คืนความหวัง และสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนคนไทยทุกคน
นอกจากการแก้ไขหนี้แล้ว รัฐบาลจะฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ระดับครัวเรือน ไปจนถึงระดับมหภาค ยกระดับความเป็นอยู่ ไม่กลับไปเป็นหนี้ล้นพ้นตัวอีก

หนี้นอกระบบ “ค้าทาสยุคใหม่”

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสังคมอีกหลาย ๆ ประการ รัฐบาลได้ประเมินจำนวนหนี้ครัวเรือนที่มีปัญหาหนี้นอกระบบไว้ คิดเป็นมูลค่า 50,000 ล้านบาท ซึ่งตนคิดว่าตัวเลขนี้น่าจะประเมินไว้ค่อนข้างต่ำ และปัญหาจริง ๆ น่าจะมีมากกว่านั้น

รัฐบาลแถลงแก้หนี้นอกระบบ
เศรษฐา ทวีสิน

“หนี้นอกระบบเป็นปัญหาส่งผลกระทบต่อทุกคนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจ ประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นรากฐานของประเทศต้องเจอกับความเปราะบางของหนี้สินที่ใช้เท่าไหร่ก็ไม่มีวันหมด พวกเขาไม่สามารถแม้แต่ฝัน หรือทำตาม passion ได้ ส่งผลกระทบเป็นโดมิโน่เอฟเฟ็กต์ไปทุก ๆ ภาคส่วน สำหรับผมหนี้นอกระบบเป็นการค้าทาสในยุคใหม่ ที่ได้พรากอิสรภาพความฝันไปจากผู้คนในยุคสมัยนี้” นายเศรษฐากล่าวและว่า

รัฐบาลจึงต้องบูรณาการหลายภาคส่วนเข้ามา ทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ และกระทรวงการคลัง รับบทบาทเป็นตัวกลางสำคัญในการไกล่เกลี่ยพร้อมกันทั้งหมด ดูแลทั้งเจ้าหนี้ ลูกหนี้ อย่างเป็นธรรม ตั้งแต่ต้นกระบวนการไปจนถึงปิดหนี้ การทำสัญญาที่หลายครั้งไม่เป็นธรรมตามกฎหมาย มีดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรม และกระบวนการทวงหนี้ที่ใช้ความรุนแรง ต้องจัดให้ทำสัญญาที่เป็นธรรมและเป็นไปตามกฎหมาย

“ผมได้สั่งการในช่วงเดือนพฤศจิกายน ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงมหาดไทย ไปทำการบ้านมา ให้ทั้ง 2 หน่วยงานต้องทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ ให้ดีกว่าในอดีตที่แยกกันทำ ต้องทำด้วยกัน มีมาตรการต่อเนื่องเพื่อไม่ให้ประชาชนกลับเข้าสู่วงจรอีก”

นอกจากนี้จะมีการทำฐานข้อมูลกลาง นำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างความโปร่งใสตั้งแต่ต้นจนจบ มีตัวเลขตรวจสอบที่ประชาชนนำไปใช้ติดตามผลได้ มีวิธีการเข้าสู่กระบวนการหลายรูปแบบ เพื่อความสะดวกของประชาชน และต้องมีการสื่อสารกับประชาชนถึงความคืบหน้าต่าง ๆ อย่างตรงไปตรงมา

คลังช่วยปรับโครงสร้างหนี้

นายกรัฐมนตรีระบุว่า “หลังจากขั้นตอนการไกล่เกลี่ยแล้ว รัฐบาลจะช่วยปรับโครงสร้างหนี้ โดยกระทรวงการคลังจะเข้ามาช่วยในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน เพื่อให้ประชาชนสามารถชดใช้หนี้ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ผมมั่นใจว่าด้วยเศรษฐกิจที่ดีขึ้น”

และในวันที่ 12 ธ.ค. จะมีการแถลงภาพรวมของหนี้แบบครบวงจร จะครอบคลุมทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบอีกครั้งหนึ่ง และจะทำให้โครงการนี้ช่วยปลดปล่อยพี่น้องประชาชนจากการเป็นทาสหนี้นอกระบบ

ดึงออมสิน-ธ.ก.ส.ช่วยปล่อยกู้

กฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
กฤษฎา จีนะวิจารณะ

ด้านนายกฤษฎากล่าวว่า กระทรวงการคลังจะดูแลเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้และการไกล่เกลี่ยหนี้สิน โดยธนาคารออมสินจะดูแลประชาชนที่กู้หนี้นอกระบบ โดยให้กู้ต่อรายละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลา 5 ปี ส่วนสินเชื่อสำหรับอาชีพอิสระเพื่อรายย่อยกู้ไม่เกิน 100,000 บาท ระยะเวลา 8 ปี ดอกเบี้ยตามความสามารถของลูกหนี้

ส่วนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งนำที่ดินทำกินไปจำนองหรือขายฝาก เมื่อไกล่เกลี่ยและปรับปรุงโครงสร้างหนี้นอกระบบแล้ว จะให้สินเชื่อสำหรับให้แก้ไขปัญหาสูงสุดต่อราย 2.5 ล้านบาท

ลงทะเบียน 1 ธ.ค. 66-29 ก.พ. 67

นายอนุทินกล่าวว่า การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จะร่วมมือโดยนายอำเภอ และผู้กำกับสถานีตำรวจ ช่วยเหลือลูกหนี้ไกล่เกลี่ย ประนีประนอมข้อพิพาท รวมถึงปราบปรามผู้กระทำความผิดอย่างเด็ดขาด โดยสามารถลงทะเบียน ศูนย์ดำรงธรรม ณ ศาลากลางจังหวัดทุกแห่ง ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอทุกแห่ง ส่วน กทม.สามารถลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเขตทุกแห่ง

อนุทิน ชาญวีรกูล
อนุทิน ชาญวีรกูล

สำหรับระยะเวลาดำเนินโครงการ แบ่งเป็น ช่วงที่ 1.เปิดรับลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566-29 กุมภาพันธ์ 2567 2.รวบรวมข้อมูลลูกหนี้ แยกแต่ละประเภทในเดือนมีนาคม 2567 3.ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้ลงทะเบียนในเดือนมีนาคม-สิงหาคม 2567 4.ประเมินผลการดำเนินการตามนโยบายในเดือนกันยายน 2567

หนี้ครัวเรือนแตะ 16.07 ล้าน ล.

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า หนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 2 ปี 2566 มีมูลค่า 16.07 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.6% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 90.6% คงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา โดยการเพิ่มขึ้นของหนี้สินครัวเรือน มาจากหนี้เพื่ออสังหาริมทรัพย์และหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเป็นหลัก

ขณะที่คุณภาพสินเชื่อภาพรวมปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) มีมูลค่า 1.47 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.71% ต่อสินเชื่อรวม จากไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 2.68%

ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ 1) ความเสี่ยงในการติดกับดักหนี้ของเกษตรกรไทยจากมาตรการพักหนี้ จากผลการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า มาตรการไม่สามารถลดหนี้ของเกษตรกรได้มากนัก เพราะเกษตรกรที่เข้าร่วมมักมีการก่อหนี้เพิ่ม เนื่องจากรายได้จากการทำการเกษตรยังไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ดังนั้นต้องมีการยกระดับรายได้ควบคู่กับการดำเนินมาตรการ และ 2) การเร่งดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เนื่องจากยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งมูลค่าหนี้และบัญชีที่เป็นหนี้เสีย

หนี้เสียขยับเพิ่ม 1.05 ล้าน ล.

สุรพล โอภาสเสถียร
สุรพล โอภาสเสถียร

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) เปิดเผยว่า ภาพรวมหนี้ครัวเรือนในระบบ ณ ไตรมาสที่ 2/2566 อยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 90.7% ต่อจีดีพี โดยมียอดสินเชื่อที่อยู่บนฐานข้อมูลเครดิตบูโร ณ ไตรมาสที่ 3/2566 อยู่ที่ 13.5 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ ยอดสินเชื่อในไตรมาสที่ 3/2566 จะพบว่า สินเชื่อบัตรเครดิตเติบโต 3.2% จากไตรมาสที่ 3/2565 อยู่ที่ 5.29 แสนล้านบาท เพิ่มเป็น 5.46 แสนล้านบาท โดยมีจำนวนบัตรเครดิตทั้งสิ้น 23.8 ล้านใบ แต่ในจำนวนดังกล่าวมี 6 ล้านใบที่ไม่ได้เปิดใช้งานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจและรายได้ไม่โต ประกอบกับมีการคุมดอกเบี้ยปรับลดลงเหลือ 16% ส่งผลให้สถาบันการเงินหลายแห่งตัดสินใจไม่ดำเนินธุรกิจบัตรเครดิตต่อ และหันไปปล่อยสินเชื่อ Buy Now Pay Later แทน ที่ได้อัตราดอกเบี้ย 25%

ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลเติบโต 3.1% จากยอดสินเชื่อ 2.50 ล้านล้านบาท เพิ่มเป็น 2.58 ล้านล้านบาท ด้วยจำนวนลูกหนี้ 31.7 ล้านบัญชี โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังมองประเด็นเรื่องของหนี้เรื้อรังไม่สามารถปิดจบหนี้ได้ ด้านสินเชื่อรถยนต์มีอัตราการเติบโต 2% ยอดสินเชื่ออยู่ที่ 2.61 ล้านล้านบาท จำนวน 6.5 ล้านบัญชี ถือว่าขยายตัวไม่มากสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ และความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ โดยในส่วนนี้ ธปท.จะเข้ามากำกับดูแลเพิ่มเติม แต่จะสามารถควบคุมได้หรือไม่ เนื่องจากมีผู้ประกอบการจำนวนมากถึง 2,300 ราย

นายสุรพลกล่าวว่า ภาพรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) หรือค้างชำระเกิน 90 วัน พบว่า ณ ไตรมาสที่ 3/2566 อยู่ที่ 1.05 ล้านล้านบาท มีจำนวนทั้งสิ้น 10 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2/2566 อยู่ที่ 1.03 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ หากมองไปข้างหน้ามองว่าคาดว่าหนี้เสียยังมีทิศทางเพิ่มขึ้น แต่อาจจะไม่เห็นตัวเลขสูงสุดเท่าไตรมาสที่ 3/2565 ที่อยู่ 1.09 ล้านล้านบาท เนื่องจากสภาพหนี้ไม่ได้เลวร้ายในทุกเซ็กเตอร์

เอ็นพีแอลสินเชื่อรถยนต์พุ่ง

ทั้งนี้ หากดูไส้ในของหนี้เสียจะพบว่า สินเชื่อรถยนต์มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นสูงถึง 20.9% โดย ณ ไตรมาสที่ 3/2566 อยู่ที่ 2.07 แสนล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่ 1.71 แสนล้านบาท โดยจำนวนบัญชีเพิ่มจาก 6.39 แสนบัญชี เป็น 6.94 แสนบัญชี หรือเพิ่มขึ้น 8.6% สะท้อนว่าหนี้เสียกลุ่มรถยนต์ยังคงเป็นปัญหา และมองไปข้างหน้าเศรษฐกิจยังขยายตัวต่ำ ราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับสูง ปัญหาค่าครองชีพอาจจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้

“หัวใจสำคัญของหนี้เสียจะปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงจะอยู่ที่สินเชื่อรถยนต์ จะสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้เร็วขนาดไหน เพราะสินเชื่อรถยนต์ทำได้ค่อนข้างยากเมื่อเทียบกับสินเชื่อประเภทอื่น เนื่องจากอายุรถ 4 ปี หากสถาบันการเงินยืดอายุในการปรับโครงสร้างหนี้เป็น 7 ปี จะทำให้มูลค่าลดลงอีก ทำให้สถาบันการเงินใช้วิธีเมื่อค้างชำระเกิน 3 เดือนจะยึดรถทันที”

บ้านต่ำ 3 ล้านค้างจ่ายเพิ่มขึ้น

ผู้จัดการใหญ่เครดิตบูโรกล่าวว่า ภาพรวมสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) หรือค้างชำระตั้งแต่ 31 วันไม่เกิน 90 วัน ไตรมาสที่ 3/2566 มีอยู่ 4.9 แสนล้านบาท พบว่าสินเชื่อที่ยังมีปัญหาอยู่ในกลุ่ม SM มีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท ได้แก่ สินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อรถยนต์

โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยมี SM เพิ่มขึ้นถึง 37.2% มียอดสินเชื่ออยู่ที่ 1.36 แสนล้านบาท เพิ่มจากไตรมาส 3/2565 ที่อยู่ 9.95 หมื่นล้านบาท และจำนวนบัญชีเพิ่มจาก 8.62 หมื่นบัญชี เป็น 1.05 แสนบัญชี หรือเติบโต 22.2% ซึ่งในจำนวนดังกล่าวจะอยู่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) 9.3 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 68%

ทั้งนี้ กลุ่มสินเชื่อบ้านราคา 1-3 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง เห็นสัญญาณเริ่มมีปัญหาในการผ่อนชำระติดขัดมากขึ้น และเห็นการไหลจากสินเชื่อปกติเป็น SM มากขึ้น สิ่งที่จะต้องจับตาคือ อัตราการไหลจาก SM ไปเป็น NPL ของสินเชื่อบ้าน จะมากน้อยขนาดไหน หากดูตามคำนิยามของ ธปท. จะพบอัตราการตกชั้น (Migration Rate) ไปเป็นหนี้เสีย ของสินเชื่อบ้านอยู่ที่ 22% สินเชื่อรถ 12% สินเชื่อพีโลน 54% และสินเชื่อเครดิตการ์ด 57%

หนี้ 1.55 ล้าน ล.น่าห่วง

นายสุรพลกล่าวว่า ส่วนตัวเลข SM ของสินเชื่อรถยนต์ก็มีอัตราการเติบโต 17.5% ทำให้ยอดสินเชื่อค้างชำระเพิ่มจาก 1.81 แสนล้านบาท เพิ่มเป็น 2.13 แสนล้านบาท โดยมีจำนวนบัญชีเพิ่มจาก 4.87 แสนบัญชี เป็น 5.60 แสนบัญชี เติบโต 15.0%

อย่างไรก็ดี หากรวมทั้งหนี้เสียแล้ว 1.05 แสนล้านบาท และหนี้ที่กำลังจะเสียหรือกลุ่ม SM อีก 4.9 แสนล้านบาท พบว่า โดยรวมมีหนี้ที่น่าเป็นห่วง 11.4% หรือ 1.55 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบตัวเลขหนี้เสียของระบบธนาคารพาณิชย์ตอนนี้อยู่ที่ 2% และ SM เฉลี่ย 5%

สิ่งสำคัญคือต้องติดตามตัวเลขอัตราการตกชั้น เพราะเราไม่รู้ว่าจะเกิดช็อกขึ้นเมื่อไร และจะเห็นการปรับอัตราชำระขั้นต่ำบัตรเครดิต จาก 5% เป็น 8% จะเห็นการกระโดดและตกชั้นหนี้เพิ่มขึ้นได้ ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 นี้เป็นต้นไป

ปรับโครงสร้างหนี้ทะลุ 1 ล้าน ล.

ขณะที่ตัวเลขปรับโครงสร้างหนี้ (TDR) ในไตรมาสที่ 3/2566 อยู่ที่ 9.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ 9.8 แสนล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าแนวโน้มหนี้ปรับโครงสร้างจะทะลุระดับ 1 ล้านล้านบาท เนื่องจากสถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้ก่อนที่มาตรการช่วยเหลือทางการเงินหรือมาตรการฟ้า-ส้มของ ธปท.จะหมดอายุภายในสิ้นปีนี้

อย่างไรก็ดี การปรับโครงสร้างหนี้จะทำได้ยากขึ้น เนื่องจาก ธปท.ได้มีการส่งหนังสือเวียนในเรื่องของการปรับโครงสร้างหนี้บนกติกาที่ยืดหยุ่นน้อยลง โดยธนาคารจะต้องมีการพิสูจน์ทราบลูกหนี้ถึงกระแสเงินสด และศักยภาพของลูกหนี้ ทำให้ธนาคารมีความระมัดระวังมากขึ้น ประกอบกับเป็นการปรับโครงสร้างหนี้บนทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น จึงเป็นเรื่องยากในการปรับโครงสร้างหนี้

ห่วงลูกหนี้โควิด-เอสเอ็มอีจิ๋ว

นายสุรพลกล่าวต่อว่า สำหรับกลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียจากผลกระทบในช่วงโควิด-19 หรือรหัสสถานะบัญชี 21 ณ เดือนกันยายน พบว่า ภาพรวมหนี้อยู่ที่ 3.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 3.7 แสนล้านบาท และหากคิดเป็นจำนวนคนพบว่ามีทั้งสิ้น 3.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 3.4 ล้านคน และจำนวนบัญชีเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.1 ล้านบัญชี จาก 4.9 ล้านบัญชี

“กลุ่มที่เราห่วงมากที่สุด คือ กลุ่มรหัส 21 ที่มีคนเป็นหนี้เสียค่อนข้างมากถึง 3.5 ล้านคน ที่ไม่ได้ตั้งใจเป็นหนี้เสีย แต่เป็นสถานการณ์โควิด-19 ที่ต้องเร่งช่วยเหลือให้กลุ่มนี้สามารถออกจากปัญหาหนี้ได้ และอีกกลุ่มที่น่าห่วงคือ ลูกหนี้เอสเอ็มอีรายจิ๋วที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ปัจจุบันมีหนี้เสียสูงที่ 9.7% หรือคิดเป็นหนี้เสียรวม 6.6 หมื่นล้านบาท และกลุ่มนี้มีแนวโน้มปรับโครงสร้างได้น้อยลง ด้วยกฎเกณฑ์กติกาที่อาจเข้มงวดขึ้นในอนาคต”