เศรษฐา แถลงวาระแห่งชาติแก้หนี้นอกระบบ 5 หมื่นล้าน สั่งตำรวจจัดการ

เศรษฐาแถลงแก้หนี้นอกระบบ

เศรษฐา คิกออฟแถลง “แก้หนี้นอกระบบ” เป็นวาระแห่งชาติ ชี้เป็นการค้าทาสยุคใหม่ เปิดลงทะเบียน 1 ธันวาคม สั่งมหาดไทย-สตช. ห้ามทำงานร่วมกัน ห้ามซ้ำซ้อน ปล่อยกู้รายละ 5 หมื่น ระยะเวลา 5 ปี อาชีพอิสระรายย่อย 1 แสน ระยะเวลา 8 ปี 

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย นายกฤษฎา วิจารณะ รมช.คลัง ร่วมกันแถลงวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ”

ทั้งนี้ นายเศรษฐากล่าวว่า เรื่องหนี้นอกระบบ รัฐบาลเห็นปัญหาหนี้นอกระบบเป็นปัญหากัดกร่อนสังคมไทยมานาน และเป็นเรื่องใหญ่ของคนไทยจำนวนมาก วันนี้เราจะเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ ทำให้การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ ฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ คืนศักดิ์ศรี คืนความหวัง และสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนคนไทยทุกคน

ในวันนี้เราได้รับความร่วมมือกับหลายฝ่าย ไม่ว่าฝ่ายปกครองที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน และฝ่ายตำรวจที่ดูแลบังคับใช้กฎหมายจะมาทำงานร่วมกันแก้ไขเรื่องหนี้ และมีเรื่องความสัมพันธ์กับชุมชนในระดับที่ละเอียดอ่อน นอกจากการแก้ไขหนี้แล้ว รัฐบาลจะฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ระดับครัวเรือน ไปจนถึงระดับมหภาค ยกระดับความเป็นอยู่ ไม่กลับไปเป็นหนี้ล้นพ้นตัวอีก

หนี้นอกระบบ คือค้าทาสยุคใหม่

ปัญหาหนี้นอกระบบได้กัดกร่อนสังคมไทยมายาวนาน และเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสังคมอีกหลาย ๆ ประการ รัฐบาลได้ประเมินจำนวนหนี้ครัวเรือนที่มีปัญหาหนี้นอกระบบไว้ คิดเป็นมูลค่า 50,000 ล้านบาท ซึ่งผมคิดว่าตัวเลขนี้น่าจะประเมินไว้ค่อนข้างต่ำ และปัญหาจริง ๆ น่าจะมีมากกว่านั้น

Advertisment

คนที่ไม่ได้เป็นหนี้อาจสงสัยว่าทำไมต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ หนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อทุกคนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจ ประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นรากฐานของประเทศ ต้องเจอกับความเปราะบางของหนี้สินที่ใช้เท่าไหร่ก็ไม่มีวันหมด พวกเขาไม่สามารถแม้แต่ฝัน หรือทำตาม passion ได้

“ปิดโอกาสการต่อยอดไปอีกหลายอย่าง ไม่สามารถเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ ส่งผลกระทบเป็นโดมิโนเอฟเฟ็กต์ไปทุก ๆ ภาคส่วน สำหรับผมหนี้นอกระบบเป็นการค้าทาสในยุคใหม่ ที่ได้พรากอิสรภาพความฝันไปจากผู้คนในยุคสมัยนี้” นายเศรษฐากล่าว

นายเศรษฐากล่าวว่า ปัญหานี้เรื้อรังและใหญ่เกินกว่าจะแก้ปัญหาได้โดยไม่มีภาครัฐเป็นตัวกลาง ในวันนี้รัฐบาลจึงต้องบูรณาการหลายภาคส่วนเข้ามา ทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ และกระทรวงการคลัง เพื่อไม่ให้ประชาชนกลับไปอยู่ในวงจรหนี้นอกระบบอีก ภาครัฐจะรับบทบาทเป็นตัวกลางสำคัญในการไกล่เกลี่ยพร้อมกันทั้งหมด

ดูแลทั้งเจ้าหนี้ ลูกหนี้อย่างเป็นธรรม ตั้งแต่ต้นกระบวนการไปจนถึงปิดหนี้ การทำสัญญาที่หลายครั้งไม่เป็นธรรมตามกฎหมาย มีดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรม และกระบวนการทวงหนี้ที่ใช้ความรุนแรง ต้องจัดให้ทำสัญญาที่เป็นธรรมและเป็นไปตามกฎหมาย

Advertisment

บูรณาการ มหาดไทย-สตช.

การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ภาครัฐจะทำงานร่วมกันหลาย ๆ หน่วยงาน เพื่อทำให้ลูกหนี้มีโอกาสหายใจ มีกำลังใจที่จะดำเนินชีวิตหาเงินมาปิดหนี้ให้ได้ และความตั้งใจนี้ผมได้สั่งการในช่วงเดือนพฤศจิกายน ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงมหาดไทยไปทำการบ้านมา ให้ทั้ง 2 หน่วยงานต้องทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ ให้ดีกว่าในอดีตที่แยกกันทำ

การแก้ไขหนี้นอกระบบต้องทำด้วยกัน มีมาตรการต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ประชาชนกลับเข้าสู่วงจรอีก และทั้งสองหน่วยงานต้องเข้าใจกระบวนการของกันและกัน ต้องทำให้กระบวนการไม่ซับซ้อน มีขอบเขตหน้าที่ และความรับผิดชอบร่วมกันที่ชัดเจนตั้งแต่ต้นจนจบ

จะมีการทำฐานข้อมูลกลาง นำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างความโปร่งใสตั้งแต่ต้นจนจบ มีตัวเลขตรวจสอบที่ประชาชนนำไปใช้ติดตามผลได้ มีวิธีการเข้าสู่กระบวนการหลายรูปแบบ เพื่อความสะดวกของประชาชน และต้องมีการสื่อสารกับประชาชนถึงความคืบหน้าต่าง ๆ อย่างตรงไตรงมา

จะต้องมีกระบวนการถ่วงดุลระหว่างหน่วยงาน เพราะบางกรณีที่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ขอให้ทุกส่วนดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา เข้ากระบวนการไกล่เกลี่ยให้ถูกต้อง เพื่อแก้ปัญหาให้พร้อม ๆ กัน ฝากให้ทั้งสองหน่วยงานทำงานกันอย่างมีเป้าหมาย มีเป้าประสงค์ หรือ KPI ร่วมกัน และกรอบเวลาที่ชัดเจน และจะติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด

คลังช่วยปรับโครงสร้างหนี้

หลังจากขั้นตอนการไกล่เกลี่ยแล้ว รัฐบาลจะช่วยปรับโครงสร้างหนี้ โดยกระทรวงการคลังจะเข้ามาช่วยในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ทั้งการช่วยปรับระยะเวลา เงื่อนไข และกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถชดใช้หนี้ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่เบียดบังการใช้ชีวิตจนทำให้พี่น้องท้อถอย

แน่นอนว่ารัฐบาลจะระมัดระวัง ไม่สร้างภาวะอันตรายทางศีลธรรม ในมาตรการช่วยเหลือทั้งหมด การแก้ไขหนี้ในวันนี้คงไม่ใช่ยาปฏิหาริย์ที่จะทำให้หนี้นอกระบบไม่เกิดขึ้นอีก แต่ผมมั่นใจว่าด้วยเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จะทำให้พี่น้องประชาชนที่มีรายได้ดีขึ้น จนไม่จำเป็นต้องก่อหนี้อีกในอนาคต และจะเพิ่มโอกาสให้พี่น้องประชาชนรายเล็กรายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบได้มากขึ้น

นอกจากหนี้นอกระบบแล้ว ในวันที่ 12 ธันวาคม จะมีการแถลงภาพรวมของหนี้แบบครบวงจร จะครอบคลุมทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบอีกครั้งหนึ่ง และจะทำให้โครงการนี้ช่วยปลดปล่อยพี่น้องประชาชนจากการเป็นทาสหนี้นอกระบบ ลืมชีวิตที่เคยลำบาก มีกำลังใจ มีแรงใจที่จะทำตามความฝันนับแต่บัดนี้เป็นต้นไป

คลังปล่อยกู้รายละไม่เกิน 5 หมื่น

ด้านนายกฤษฎากล่าวว่า กระทรวงการคลังจะดูแลเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้และการไกล่เกลี่ยหนี้สิน โดยธนาคารออมสินจะดูแลประชาชนที่กู้หนี้นอกระบบ โดยให้กู้ต่อราย รายละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลา 5 ปี ส่วนสินเชื่อสำหรับอาชีพอิสระเพื่อรายย่อย ให้ผู้กู้กู้ไม่เกิน 100,000 บาท ระยะเวลา 8 ปี ดอกเบี้ยตามความสามารถของลูกหนี้ ส่วนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้เกษตรกรกู้วงเงินต่อราย 2.5 ล้านบาท เพื่อแก้ไขเรื่องที่ดินทำกิน ขณะที่ผู้ประกอบการสามารถยื่นเรื่องขอสินเชื่อรายย่อยพิโกไฟแนนซ์ได้

นอกจากนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ยังมีโครงการช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งนำที่ดินทำกินไปจำนองหรือขายฝาก เมื่อไกล่เกลี่ยและปรับปรุงโครงสร้างหนี้นอกระบบแล้ว จะมีสินเชื่อโดยให้สินเชื่อสำหรับให้แก้ไขปัญหาสูงสุดต่อราย 2.5 ล้านบาท

เปิดลงทะเบียน 1 ธ.ค.-29 ก.พ.

นายอนุทินกล่าวว่า การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ กระทรวงมหาดไทยจะทำงานแก้ปัญหาเชิงพื้นที่อย่างบูรณาการกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จะร่วมมือโดยบุคลากรหลักคือนายอำเภอ และผู้กำกับฯสถานีตำรวจ จะศึกษา ปฏิบัติงานให้เข้าใจทั้งสองหน่วยงาน ตั้งแต่การช่วยเหลือลูกหนี้ โดยเฉพาะมิติด้านการไกล่เกลี่ย ประนีประนอมข้อพิพาท การเฝ้าระวัง และป้องกัน

รวมถึงปราบปรามผู้กระทำความผิดอย่างเด็ดขาด พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อดำเนินการไม่ซ้ำซ้อน และเป็นไปทางเดียวกัน ทั้งดำเนินการในทุกภาคส่วน และเป็นไปตามข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด และตัวชี้วัดที่ชัดเจน

นายอนุทินกล่าวว่า การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบนี้สามารถลงทะเบียน ที่ศูนย์ดำรงธรรม ณ ศาลากลางจังหวัดทุกแห่ง ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอทุกแห่ง ส่วน กทม.สามารถลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเขตทุกแห่ง เพื่อ กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้รวบรวมข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน นำไปสู่การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้แก่ประชาชนทุกราย

ในส่วนที่อาจจะมีลูกหนี้บางท่านหวั่นเกรงเรื่องผู้มีอิทธิพลอยู่ กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้ ผู้ว่าฯ นายอำเภอ ฝ่ายปกครองไปสำรวจด้วยตัวเอง เพื่อทำความมั่นใจว่าเราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ทั้งนี้ สำหรับระยะเวลาดำเนินโครงการ แบ่งเป็น ช่วงที่ 1.ประชาสัมพันธ์ และรับลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม-29 กุมภาพันธ์ 2567 2.รวบรวมข้อมูลลูกหนี้ แยกแต่ละประเภทในเดือนมีนาคม 2567 3.ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้ลงทะเบียนในเดือนมีนาคม-สิงหาคม 2567 4.ประเมินผลการดำเนินการตามนโยบายในเดือนกันยายน 2567

จับหนี้นอกระบบ 134 ราย

ด้าน พล.ต.อ.ธนากล่าวว่า สตช.รับผิดชอบบังคับใช้กฎหมาย เราเห็นความเดือดร้อนการทวงโดยใช้ความรุนแรง โดยมีสายด่วน 1559 เพื่อรับแจ้งปัญหา มอบหมายให้ตำรวจตรวจตราพื้นที่อย่างเข้มข้น เพื่อสำรวจข้อมูลผู้ประกอบการหนี้นอกระบบทั้งหมด โดยตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงปัจจุบัน สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ 134 ราย ยึดของกลางมูลค่า 8 ล้านบาท ทั้งนี้ ผบ.ตร.พร้อมทำงานร่วมกับทุกหน่วยงาน เพื่อให้เกิดการติดตามผลอย่างโปร่งใส