ธปท.คาดจีดีพีไตรมาส 4/66 โตได้ 3.7% ชี้ “ท่องเที่ยว-บริโภค” แรงหนุนหลัก

ชญาวดี ชัยอนันต์
ชญาวดี ชัยอนันต์

ธปท.ประเมินเศรษฐกิจไตรมาส 4/66 ขยายตัวได้ 3.7% จากทั้งปีโตได้ 2.4% เผยภาพรวมเศรษฐกิจเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ฟื้นตัวต่อเนื่อง ชี้ “ภาคท่องเที่ยว-การบริโภค-ลงทุนเอกชน” แรงขับเคลื่อนหลัก จับตาภาคส่งออก-เอลนีโญ-สงครามอิสราเอล-ฮามาส กระทบราคาพลังงาน

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4/2566 คาดว่าจะขยายตัวได้ในระดับ 3.7% จากทั้งปี 2566 ที่ประมาณการอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในระดับ 2.4% ส่วนหนึ่งมาจากฐานที่ต่ำในปี 2565 รวมถึงภาคการท่องเที่ยวและส่งออกที่ขยายตัว ขณะที่ไตรมาสที่ 3/2566 ตัวเลขที่ออกมาต่ำกว่าคาด มาจากตัวเลขภาคการผลิตออกมาแย่กว่าที่คาดการณ์ตามการส่งออกที่ยังไม่ได้ฟื้นตัวตามการขยายตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า

ทั้งนี้ หากดูเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจในเดือนตุลาคม 2566 ยังคงอยู่ในทิศทางการฟื้นตัว และแนวโน้มในเดือนพฤศจิกายนยังคงปรับตัวดีขึ้น ซึ่งแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักมาจากอุปสงค์ภายในประเทศ โดยภาคการบริโภคเอกชนในเดือนตุลาคมขยายตัว 1.7% จากเดือนก่อนที่หดตัว -1.3% ซึ่งขยายในทุกหมวด ยกเว้นภาคบริการ โรงแรม และภัตตาคาร สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง อย่างไรก็ดี การบริโภคเอกชนที่ขยายตัวสอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้นจากมาตรการค่าครองชีพ และมาตรการกระตุ้นทางด้านการท่องเที่ยว

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 1.4% จากเดือนก่อนที่หดตัว -1.6% โดยการเพิ่มขึ้นมาจากเครื่องจักรและอุปกรณ์ และด้านก่อสร้าง รวมถึงมีการนำเข้าสินค้าทุนในหมวดการสื่อสาร และการขยายพื้นที่ก่อสร้าง แม้ว่าความเชื่อมั่นภาคการลงทุนปรับลดลง แต่ยังคงอยู่เหนือระดับ 50

สำหรับภาคการท่องเที่ยว จะเห็นว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนตุลาคมหดตัว -1.4% โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ 2.2 ล้านคน จากเดือนก่อนขยายตัว 5.6% จำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 2.1 ล้านคน ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวที่ปรับลดลงเป็นไปตามฤดูกาล และเป็นนักท่องเที่ยวประเทศรัสเซียที่เร่งตัวไปก่อนหน้า และมาเลเซียที่มีการประกาศวันหยุดยาวเพิ่มเติมในเดือนพฤศจิกายน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชะลอ และคาดว่าจะเข้ามาในเดือนพฤศจิกายนแทน

Advertisment

โดยภาพรวมจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาตินับตั้งแต่ต้นปี-ตุลาคม 2566 มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วทั้งสิ้น 22.2 ล้านคน แต่ในส่วนของรายได้จากภาคการท่องเที่ยวได้ปรับลดลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวและอัตราการเข้าพัก รวมถึงโครงสร้างนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนกลุ่ม จากการท่องเที่ยวระยะยาวมาแบบระยะสั้นมากขึ้น อย่างไรก็ดี ธปท.คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุลทั้งปี 2566 อยู่ที่ 5 พันล้านดอลลาร์ จากปัจจุบันเกินดุลแล้ว 3.5 พันล้านดอลลาร์

ส่วนภาคการส่งออก (ไม่รวมทองคำ) ในเดือนตุลาคมหดตัว -1.4% จากเดือนก่อนหน้าขยายตัว 4.8% เป็นผลมาจากเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว และลดลงตามการส่งออกเครื่องประดับไปฮ่องกง และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ลดลงตามการส่งมอบสินค้า และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ลดลงตามการส่งออกไปสหรัฐ อย่างไรก็ดี การส่งออกบางหมวดปรับเพิ่มขึ้น เช่น รถยนต์ในออสเตรเลีย และปิโตรเลียมไปอาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับภาคการผลิตที่หดตัว -2.1%

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางเป็นสำคัญ ตามการเบิกจ่ายที่ลดลงจากการทบทวนงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า ขณะที่รายจ่ายประจำของรัฐบาลกลางขยายตัว ตามการเบิกจ่ายเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ และค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ และการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านการศึกษา สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวตามการเบิกจ่ายในโครงการด้านคมนาคมและสาธารณูปโภค

ขณะที่ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจาก -0.31% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 0.30% ตามราคาพลังงานและอาหารสดที่ปรับลดลง โดยหมวดพลังงานลดลงจากมาตรการลดราคาน้ำมันดีเซลของภาครัฐ และราคาน้ำมันเบนซินที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก โดยหมวดอาหารสดลดลงจากผลของฐานสูงในราคาผักเป็นสำคัญ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวจากเดือนก่อนจาก 0.63% มาอยู่ที่ 0.66%

Advertisment

ด้านอัตราแลกเปลี่ยนในเดือนตุลาคมจะพบว่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่า ซึ่งมาจาก 2 ส่วนคือ ดอลลาร์ปรับแข็งค่าขึ้น และตลาดปรับการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐจะอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน รวมถึงความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ขณะที่แนวโน้มค่าเงินบาทในเดือนพฤศจิกายนมีทิศทางแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าของเงินสกุลดอลลาร์ ซึ่งเป็นผลมาจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ออกมาอ่อนแอลง และนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

“ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคมยังคงฟื้นตัว โดยแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการบริโภคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชน และหากมองไปข้างหน้าในเดือนพฤศจิกายนเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจหลายตัวปรับดีขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจสำคัญที่ขับเคลื่อนยังคงมาจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคเอกชน อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามภาคการส่งออกสินค้า และผลกระทบจากเอลนีโญ และความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ต่อราคาพลังงาน”