
“สาระ ล่ำซำ” ซีอีโอเมืองไทยประกันชีวิต ตั้งเป้าเบี้ยใหม่ปี 2567 โต 20% บุกขายสินค้า “คุ้มครองชีวิต-สุขภาพโรคร้าย” ดันพอร์ตโฟลิโอแตะ 70% เน้นทำกำไรยั่งยืน ล้อมาตรการบัญชีใหม่บังคับใช้ปี 2568 ปักหมุดกลยุทธ์ Happiness, You Way ยึดหลัก outside-in ตามโลกใหม่ไดนามิก-เฉพาะตัว ด้านซีเอฟโอ ชี้เป็นปี “ระมัดระวังลงทุน” พอร์ตมูลค่า 6 แสนล้าน รักษารีเทิร์นระดับ 3.5-4% แย้มปีนี้ปิดดีลลงทุน “คลินิกเฉพาะทาง-ที่พักสูงวัย”
วันที่ 29 มกราคม 2567 นายสาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต (MTL) ในฐานะนายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า ในปี 2567 เมืองไทยประกันชีวิตตั้งเป้าเบี้ยรับรายใหม่ (NBP) จะเติบโต 20% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) และมีเบี้ยรับรวม (GWP) เติบโตใกล้เคียงกับอุตสาหกรรม จากปี 2566 บริษัทมีเบี้ยรับรวมกว่า 7 หมื่นล้านบาท เติบโต 2% เมื่อเทียบกับปี 2565
โดยปีนี้มีแผนจะขยายพอร์ตประกันชีวิต (Life Protection) รวมกับพอร์ตประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง (Health & Critical illness) ให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 70% จากปีที่แล้วอยู่ที่ระดับกว่า 60% ของพอร์ตโฟลิโอรวม โดยปีที่แล้วมีเบี้ยประกันโรคร้ายแรงเติบโต 70% เบี้ยประกันบำนาญเติบโต 13% ส่วนที่เหลือจะมาจากพอร์ตประกันสะสมทรัพย์ ประกันชีวิตควบการลงทุน (ยูนิตลิงก์) และประกันบำนาญ
“เราพยายามมุ่งขายประกันโดยใช้เรื่องโปรเท็กชั่นเป็นตัวนำ ทั้งผ่านช่องทางตัวแทนและธนาคาร โดยปีนี้เราจะให้น้ำหนักในการทำทุนชีวิตตั้งแต่หลักแสนไปสู่ระดับร้อยล้าน และมุ่งสร้างการเข้าถึงได้ของประกันชีวิตให้กับทุกเซ็กเมนต์ (democratize insurance) ทั้งช่วงอายุและฐานรายได้” นายสาระ กล่าว
ขณะที่เรื่องหนึ่งที่ให้คามสำคัญมากคือเรื่องความยั่งยืน ซึ่งมาตรวัดที่ใช้ดูอยู่คือ ผลรวมของกำไรที่คาดว่าจะได้รับตั้งแต่วันแรกจนกระทั่งถึงวันสิ้นสุดสัญญาของกรมธรรม์ (New Business Value : NBV) เพื่อจะสอดคล้องไปกับมาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS17 ที่จะเริ่มมีผลบังคับปี 2568 ซึ่งจะใช้ผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 ปี หากขายแบบประกันตลอดอายุสัญญาแล้วมีมูลค่าติดลบ จะต้องบันทึกในงบการเงินเป็นขาดทุนทันที จึงต้องมีความระมัดระวังมาก
“ช่วงก่อนหน้านี้อาจจะเห็นภาคธุรกิจมีเบี้ยลดลง คนจะเข้าใจว่ามาจากกำลังซื้อที่อ่อนแอ แต่จริง ๆ แล้วมาจากโครงสร้างแบบประกันที่เปลี่ยนไป จากขายประกันสะสมทรัพย์ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาซึ่งจะต้องตรึงผลตอบแทนระยะยาวกับพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 10 ปีขึ้นไป แต่ช่วงหลังมานี้จะเห็นเส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve) ที่ปรับตัวลงตลอดเวลา ดังนั้นหากยีลด์ต่ำมากและไม่สามารถแมชชิ่งกับการลงทุนได้ดีพอ การทำธุรกิจก็จะไม่ยั่งยืน
กลยุทธ์ Happiness, You Way
จึงมุ่งไปสู่การขายแบบประกันคุ้มครองชีวิตและสุขภาพ ซึ่งไม่อ่อนไหวต่อภาวะดอกเบี้ยและเป็นแบบพื้นฐานของการประกันชีวิต เพียงแต่จะมีขนาดเบี้ยเล็กกว่ากันเป็น 10 เท่า แม้ว่าคนจะสนใจซื้อประกันสุขภาพจำนวนมาก ตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดการระบาดโควิด รวมทั้งคนหันมาสนใจซื้อประกันคุ้มครองชีวิตและวางแผนเรื่องมรดกมากขึ้นก็ตาม
ส่วนแบบประกันยูนิตลิงค์ที่มีขนาดเบี้ยใหญ่พอ ๆ กับประกันสะสมทรัพย์ ก็ยังได้รับความนิยมอยู่ เพียงแต่ปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากภาวะตลาดทุนที่ผันผวนหนัก”
โดยกลยุทธ์ของเมืองไทยประกันชีวิตจากปีที่แล้วคือ Happiness Reinvented มาปีนี้จะมุ่งสู่ Happiness, You Way พยายามยึดหลัก outside-in ปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงในทุกเฟ็กเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจ สังคม กฎเกณฑ์ต่าง ๆ รวมทั้งความพึงพอใจของผู้บริโภค ตามโลกใหม่ในวันนี้ที่มีความไดนามิก เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และมีความเฉพาะตัวมากยิ่งขึ้น
ระมัดระวังลงทุน
นายธนัญชัย สัจจะปรเมษฐ รองกรรมการผู้จัดการสายงานการเงิน บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต กล่าวว่า ประเมินภาพเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะยังคงฟื้นตัว ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ไว้จะขยายตัว 3.2% หากรวมผลของโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเลตจะขยายตัวได้ 3.8% ซึ่งโครงการดังกล่าวมองว่าน่าจะไม่ทันช่วงเดือน พ.ค. 2567 จากที่มีความท้าทายอยู่มาก ทำให้ภาวะเศรษฐกิจไทยจะโตแบบไม่เท่าเทียมกัน กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีจะค่อนข้างเหนื่อย
ส่วนการบริโภคจะขึ้นอยู่กับการกระตุ้นของรัฐบาล ด้านการลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามภาคส่งออกยังมีความท้าทายอยู่ ดังนั้นด้วยบริบทการโตแบบไม่เท่าเทียม จะสะท้อนไปสู่กำลังซื้อของคนไม่เท่ากัน ซึ่งบริษัทมีการเตรียมความพร้อมเรื่องเหล่านี้ในทุกด้านและทุกแบบประกันที่จะตอบโจทย์ลูกค้าทุกเซ็กเมนต์ไว้แล้ว
ขณะที่แผนการลงทุนยอมรับว่าปีนี้จะเป็นปีที่มีความระมัดระวัง เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนอยู่ และมีความเสี่ยงเรื่องการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ ขณะที่ประเมินดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) น่าจะทยอยลดลงช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่า กนง.น่าจะยืนอยู่ที่ระดับ 2.5% หรือมีโอกาสลดดอกเบี้ยลงได้ 1 ครั้ง ในช่วงครึ่งหลังปีนี้
ซึ่งจะสะท้อนไปสู่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) โดยตอนนี้มองบอนด์ยีลด์จะไซด์เวย์ อยู่ในระดับไม่สูงเท่าปีที่แล้ว แต่ไม่ต่ำมากเมื่อเทียบ 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลดีกับการลงทุนของบริษัทประกันชีวิต เพราะยีลด์ที่จะไปลงทุนในสินทรัพย์ใหม่ในปีนี้น่าจะค่อนข้างคงที่

แต่ที่ต้องระวังคือการลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งอาจมีความผันผวนอยู่ ก็หวังว่าตลาดหุ้นไทยจะฟื้นตัวได้จากภาคท่องเที่ยวและการลงทุนของภาคเอกชนที่ดีขึ้น แต่ปีที่แล้วบริษัทได้ประโยชน์จากการกระจายไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นปีที่ตลาดหุ้นโลกปรับตัวดี
พอร์ต 6 แสนล้าน รักษารีเทิร์น 3.5-4%
โดยปี 2566 บริษัทมีขนาดของพอร์ตสินทรัพย์รวม 630,000 ล้านบาท เป็นพอร์ตลงทุน 600,000 ล้านบาท ประมาณ 80% ลงทุนในตราสารหนี้ ส่วนใหญ่เป็นพันธบัตรและหุ้นกู้เรตติ้ง A+ และกระจายลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงน้อยสัดส่วน 13-15% (แบ่งเป็นหุ้นไทย 40% และหุ้นต่างประเทศ 40% ที่เหลืออีก 20% เป็นรีท) และลงทุนอื่น ๆ อีก 5-7% ปีที่แล้วมีผลตอบแทนจากการลงทุนสุทธิ 3.5-4% ถือว่าเพิ่มขึ้นจากปี 2565 หลัก ๆ มาจากจากผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ โดยเฉพาะในอเมริกา
สำหรับปี 2567 พยายามรักษาผลตอบแทนจากการลงทุนที่ระดับใกล้เคียง 3.5-4% ยังคงมุ่งเน้นการลงทุนผ่านตราสารหนี้เป็นหลัก อาจจะลงทุนเพิ่มในกรีนบอนด์และตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (ESG Bond) ซึ่งปัจจุบันลงทุนไปแล้วด้วยเม็ดเงินหลักพันล้าน
ปิดดีลลงทุน “คลินิก-ที่พักสูงวัย”
ส่วนหุ้นอาจจะมีเทคนิคอลในการจัดสรรสินทรัพย์มากขึ้น เช่น ดูภาวะตลาดและให้ความสำคัญเรื่องจังหวะเวลาในการเข้าลงทุนมากขึ้น โดยเน้นลงทุนหุ้นที่มีความยั่งยืนและปันผลสูง ทั้งนี้กำลังหารือ Fund Manager ซึ่งอาจจะลดพอร์ตหุ้นต่างประเทศลงบ้าง ขณะที่พอร์ตหุ้นไทยอาจะมีการเปลี่ยนตัวบริษัทลงทุนใหม่ และเพิ่มน้ำหนักลงทุนในกองรีทตามภาวะดอกเบี้ยขาลงที่จะกลับมาน่าสนใจ
นายธนัญชัย กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันในปีนี้จะมีความชัดเจนเรื่องการลงทุนในคลินิกเฉพาะทางและสถานดูแลผู้สูงอายุ (Nursing Home) เป็นลักษณะร่วมทุน (Joint Venture) โดยผลตอบแทนจะคล้ายกับการลงทุนเรียลเอสเตตบวกกับเซอร์วิส โดยผลตอบแทนจะขึ้นอยู่กับลักษณะโครการ เช่น เพื่อพักอาศัย, เพื่อผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งเซอร์วิสชาร์จ ก็จะมีความแตกต่างกัน