
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสูงกว่าคาด ขณะที่อัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 3.7% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.8% ส่วนปัจจัยในประเทศ เงินเฟ้อเดือน ม.ค. 2567 ของไทยลดลง 1.11% ลดลงต่อเนื่อง 4 เดือนติดต่อกัน และต่ำสุดในรอบ 35 เดือน
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (5/2) ที่ระดับ 35.65/66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (2/2) ที่ระดับ 35.23/25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
โดยดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก จากคาดการณ์ว่าทางธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาดไว้ หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา (2/2) เพิ่มขึ้น 353.00 ตำแหน่งในเดือนมกราคม สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 187,000 ตำแหน่ง ขณะที่อัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 3.7% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.8%
นอกจากนี้ ทางกระทรวงแรงงานสหรัฐได้มีการปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือนธันวาคม จากเดิมเพิ่มขึ้น 216,000 ตำแหน่ง เป็นเพิ่มขึ้น 333,000 ตำแหน่ง ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 4.5% ในเดือนมกราคม เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.1% และเมื่อเทียบรายเดือน ค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.6% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3% ส่วนตัวเลขอัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานของสหรัฐอยู่ที่ระดับ 62.5%
นอกจากนั้นช่วงคืนวันศุกร์ (2/2) ทางมหาวิทยาลัยมิชิแกนได้มีการเปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 79.0 ในเดือนมกราคม สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 78.8 จากระดับ 69.7 ในเดือนธันวาคม โดยผู้บริโภคเพิ่มความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต และคลายความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ ทั้งนี้ ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 2.9% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า ลดลงจากระดับ 3.1% ในการสำรวจเมื่อเดือนที่แล้ว
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ช่วงสายของวันนี้ (5/2) สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการเปิดเผย ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรือเงินเฟ้อทั่วไป ในประจำเดือนมกราคม อยู่ที่ระดับ 106.98 ลดลง 1.11% จากช่วงมกราคมของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 35 เดือน
โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงต่อเนื่อง จากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน เช่น น้ำมัน และค่าไฟฟ้า รวมทั้งผลของมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ ประกอบกับสินค้าอาหารสดมีราคาลดลง ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรือเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนมกราค 2567 เพิ่มขึ้น 0.52% จากมกราคมของปีก่อนหน้า
ทั้งนี้ สนค.คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสแรกของปี 2567 จะยังลดลงราว -0.7% เนื่องจากรัฐบาลยังมีมาตรการช่วยหลือประชาชนในเรื่องการลดค่าครองชีพ และยืนยันว่ายังไม่เข้าภาวะเงินฝืด อย่างไรก็ดี หากภาครัฐทยอยยกเลิกมาตรการดังกล่าวลง อาจส่งผลให้เงินเฟ้อกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง ทั้งนี้ในระหว่างวันบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 35.54-35.83 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.79/80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (5/2) ที่ระดับ 1.0772/76 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (2/2) ทื่ระดับ 1.0889/90 ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ และในช่วงบ่ายวันนี้ (5/2) ได้มีการเปิดเผยดุลการค้าเยอรมนีเดือนธันวาคมอยู่ที่ 22.8 พันล้าน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายนที่ 20.7 พันล้าน และสูงกว่าคาดการณ์ที่ 19.8 พันล้าน
ทั้งนี้ ในระหว่างวันยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.0762-1.0786 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0768/71 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (5/2) ที่ระดับ 148.66/67 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (2/2) ที่ระดับ 146.69/70 จากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อช่วงสายของวันนี้ (5/2) ทาง au Jibun Bank ได้มีการเปิดเผยผลสำรวจภาคบริการของญี่ปุ่นขยายตัวในเดือนมกราคม 2567 อยู่ที่ระดับ 53.1 เพิ่มขึ้นจากระดับ 51.5 ในเดือนธันวาคม นับเป็นการขยายตัวเป็นเดือนที่ 17 ติดต่อกัน และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์เบื้องต้นที่ระดับ 52.7
ซึ่งนับเป็นการขยายตัวด้วยอัตราที่มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 โดยได้รับแรงหนุนจากดีมานด์ที่แข็งแกร่งและเงินเยนที่อ่อนค่า ขณะที่ดีมานด์จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 148.25-148.82 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 148.38/41 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนมกราคมจากเอสแอนด์พี โกลบอล (5/2), ดัชนีภาคบริการเดือนมกราคมจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) (5/2), หนี้ภาคครัวเรือนประจำไตรมาส 4/2566 (6/2), ยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือนธันวาคม (7/2), สต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) (7/2), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (8/2), สต๊อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนธันวาคม (8/2
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -8.1/-7.9 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -6.1/-4.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ