ธปท. แจงปมขึ้นดอกเบี้ยสวนทางเงินเฟ้อติดลบ ยันเดินนโยบายการเงินมาถูกทาง

ปิติ ดิษยทัต
ปิติ ดิษยทัต

ธปท.ยันนโยบายการเงินเดินมา “ไม่ผิดทาง” มองสามารถรองรับการฟื้นตัวเศรษฐกิจ-ไม่เป็นอุปสรรคฉุดรั้ง พร้อมติดตามข้อมูลหลายมิติ ชี้การทำนโยบายการเงินท้าทาย ไม่ถูกต้องเป๊ะ 100% ย่อมมีผู้ได้ประโยชน์-เสียประโยชน์ แต่พร้อมรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน

วันที่ 15 มกราคม 2567 นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงินและเลขาคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวภายในงาน “ธปท.เปิดแนวคิดนโยบายแบงก์ชาติ” ถึงคำถามเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP) ว่า เป็นความยากลำบากในการดำเนินนโยบายการเงิน เนื่องจากมีผู้เสียประโยชน์และได้ประโยชน์เสมอ โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ดูเศรษฐกิจภาพรวมไม่ใช่แค่ระยะสั้น แต่ในระยะปานกลางและยาว

ทั้งนี้ มองว่าสิ่งที่เดินมาถามว่า เดินมา “ผิดทาง” หรือ “ผิดพลาด” หรือไม่ ตอบได้ว่า “ไม่” ไม่ได้เดินมาผิดพลาด เนื่องจาก 1.กนง.ได้คิดนโยบายให้สามารถรองรับได้หลายกรณี เช่น กรณีแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 1 หมื่นบาท ที่ยังมีความไม่แน่นอนค่อนข้างเยอะ แต่ดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นมาในช่วง 2 ครั้งล่าสุดอยู่ 2.25-2.50% ต่อปี แม้ว่าดิจิทัลวอลเลตจะมาช้าหรือเร็วกว่าที่คาด หรือมีการเปลี่ยนแปลง แต่ดอกเบี้ยในระดับดังกล่าวสามารถรองรับได้ทั้ง 2 กรณีได้

โดยที่เศรษฐกิจที่ยังสามารถอยู่ในขอบเขตที่ใช้ได้ ไม่ได้เป็นตัวหลักว่าเศรษฐกิจจะไปในทางไหน จะขยายตัวแรง หรือฉุดมากขนาดนั้น หรือเป็นพระรองมากกว่าพระเอก อะไรที่แนวนโยบายรวมทำให้เศรษฐกิจอยู่ในขอบเขตที่พอไปได้ เงินเฟ้อทั่วไปลดลง แต่เงินเฟ้อพื้นฐานอาจจะเพิ่มขึ้น ชั่งน้ำหนักปัญหาเชิงโครงสร้างบริบทต่างประเทศ

“กนง.ไม่ได้นิ่งนอนใจเรื่องภาวะเศรษฐกิจที่อาจจะเปลี่ยนแปลง ว่าเงินเฟ้อที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ต้องดูข้อมูลอย่างใกล้ชิด และดูหลากหลาย มีหลายมิติที่ต้องชั่งน้ำหนักระยะสั้นระยะยาวนโยบายการเงินใช้เวลา ไม่สามารถขึ้น ๆ ลง ๆ ตามภาวะที่เกิดขึ้นได้

Advertisment

และตระหนักดีว่า “ดอกเบี้ย” เป็นราคาที่สำคัญที่สุดราคาหนึ่งในระบบเศรษฐกิจต้องชั่งน้ำหนักให้ดี ในแง่ภาพเศรษฐกิจศักยภาพของเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ต้องคุยกันให้ดี เพราะปัญหาเชิงโครงสร้างต้องช่วยกันหาวิธีที่จะเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจได้อย่างไร สิ่งที่คาดหวังคือการลงทุนที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น โดยหวังว่าจะเป็นทางนั้น การผลักการลงทุนไม่ใช่เรื่องของต้นทุนทางการเงินแต่เป็นเรื่องของโอกาสที่ธุรกิจมองเห็น”

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการ กนง.จะมีการประชุมปลายเดือนนี้ และจะมีการประกาศผลในต้นเดือนหน้า และตลาดการเงินทำงานปกติ ไม่จำเป็นต้องมีการประชุมนัดพิเศษแต่อย่างใด โดยพิจารณาจากข้อมูลเศรษฐกิจโดยรวมแนวโน้มยังคงมีการฟื้นตัวต่อ แต่สิ่งที่อาจจะผิดคาด คือ ปัญหาเชิงโครงสร้างที่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้เร็วและแรงกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากโลกก่อนโควิด-19 และหลังโควิด-19 มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะ

ดังนั้น กนง.จะดูปัญหาเชิงโครงสร้างจะกระทบต่อเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน ขณะที่เงินเฟ้อโดยรวมยังมาจากปัจจัยเชิงอุปทานและยังคงเห็นอัตราติดลบจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ และทยอยปรับเพิ่มขึ้นอยู่ในคาดการณ์ 1-2% ภายใต้กรอบเป้าหมาย 1-3% โดยผลที่มาจากเอลนีโญน้อยกว่าเดิม ทำให้เงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลง ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย รวมถึงวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์จะกลับมาเร็วกว่าที่คาดหวังหรือไม่

“เรารับฟังทุกภาคส่วน และมีการประสานงานกับกระทรวงการคลัง รวมถึงนายกรัฐมนตรี ซึ่งมองว่านโยบายการเงินไม่ได้เป๊ะ 100% กนง.รับฟังทุกเสียงสะท้อนและนำมาดูว่าสอดคล้องกับสิ่งที่จะควรจะเป็นหรือไม่ บทบาทนโยบายการเงินเหมือนเป็นประตู เป็นกองหลังของทีมฟุตบอล โดยประชาชน-ภาคธุรกิจเป็นกองหน้าที่จะลงสนาม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังโควิด-19 ช่วงแรกเรายังมีแรงอยู่แต่เมื่อเจอคู่แข่งที่แข็งแรงกว่าที่เราคิดก็เป็นเรื่องยากขึ้น เช่น ผู้ส่งออกที่เจอการแข่งขันที่ยากกว่าเดิม มีกฎระเบียบต่าง ๆ เพิ่มขึ้น

Advertisment

ซึ่งนโยบายการเงินในฐานะผู้รักษาประตูพยายามสร้างพื้นฐานให้มั่นคง แต่ช่วงโควิด-19 ก็ต้องส่งกองหลังขึ้นไปข้างหน้าด้วย การลดดอกเบี้ยมาก ๆ ช่วงโควิดเหมือนการส่งผู้รักษาประตูไปอยู่ข้างหน้าด้วยก็อาจจะช่วยเพิ่มโอกาสได้ประตู แต่เป็นการเปิดช่องโหว่ความเสี่ยงไว้ข้างหลัง เหมือนเทหมดหน้าตักไปนิดนึง หน้าที่ธนาคารกลางเป็นผู้รักษาประตู กระทรวงการคลังเป็นโค้ชหรือกัปตัน ส่วนรัฐบาลคือผู้จัดการทีมที่จะปรับโครงสร้างหลาย ๆ อย่างได้กว้างกว่า ซึ่งบทบาทจะเห็นชัดว่าทำหน้าที่ของเราได้ดีที่สุดแล้ว การจะทำเกินหน้าที่ต้องพิจารณาว่าจะได้คุ้มเสียหรือไม่”