บาทเคลื่อนไหวในกรอบ หลังกนง.มีมติ 5:2 คงดอกเบี้ยนโยบายตามคาด

กนง. เงินบาท แบงก์ชาติ

เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ หลัง กนง.มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง คงดอกเบี้ยนโยบาย 2.50% ตามคาด ระบุอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว 

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/2) ที่ระดับ 35.55/56 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวนอังคาร (6/2) ที่ระดับ 35.67/68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากดัชนีดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ปรับตัวลดลง 0.11% แตะที่ระดับ 104.11 ดอลลาร์สหรัฐ

โดยนายนีล แคชแครี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขามินนีแอ โพลิสกล่าวว่า ภารกิจด้านการควบคุมเงินเฟ้อของเฟด ยังไม่เสร็จสิ้น แม้มองว่าข้อมูลในช่วงเวลา 3-6 เดือนที่ผ่านมาบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อได้ชะลอตัวลงอย่างรวดเร็วก็ตาม

ในขณะที่นางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานเฟดสาขาคลีฟแลนด์กล่าวว่า หากเศรษฐกิจสหรัฐอยู่ในทิศทางที่คาดการณ์ไว้ก็อาจเปิดโอกาสให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย แต่นางเมสเตอร์กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่พร้อมที่จะระบุช่วงเวลาของการผ่อนคลายนโยบายการเงิน เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงมีความไม่แน่นอน

ทั้งนี้ นายพาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ให้สัมภาษณ์ในรายการ “60 Minutes” ของสถานีโทรทัศน์ซีบีเอสเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (4/2) ว่า “เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยล่าช้ากว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เนื่องจากเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในขณะนี้ทำให้เฟดต้องใช้ความระมัดระวังในการพิจารราเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และเฟดต้องการเห็นหลักฐานเพิ่มเติมว่าเงินเฟ้อสหรัฐจะปรับตัวลงสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนของการปรับลดอัตราดอกเบี้ย”

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 1/2567 คณะกรรมการมีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี ขณะที่ 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี

ADVERTISMENT

กนง.ระบุว่า ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียภาพระบบการเงิน ประเมินว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอลงเป็นผลมาจากปัจจัยต่างประเทศและปัญหาเชิงโครงสร้าง ขณะที่อุปสงค์ในประเทศมีแรงส่งต่อเนื่องและอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมาย

กนง.ระบุว่า อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว อย่างไรก็ดี กนง.เห็นว่ายังมีความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้าจากปัจจัยวัฏจักรเศรษฐกิจและปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดยการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าจะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.40-35.60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระบ 35.58/60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/2) ที่ระดับ 1.0755/59 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (6/2) ที่ระดับ 1.0728/29 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร จากการอ่อนค่าลงของดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งสำนักงานสถิติแห่งเยอรมนีเปิดเผยเมื่อวานนี้ (6/2) ว่า ยอดคำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมหลังปรับค่าตามฤดูกาลและปฏิทิน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.9% ในเดือนธันวาคม เทียบกับเดือนก่อนหน้า

ในขณะที่นักวิเคราะห์จากผลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์ คาดว่าจะทรงตัว เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลแบบ 3 เดือนที่มีความผันผวนน้อยกว่า พบว่า ยอดสั่งซื้อใหม่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1% ในช่วงเดือนตุลาคม-เดือนธันวาคม 2566 เทียบกับในช่วง 3 เดือนก่อนหน้า (เดือนกรกฎาคม-เดือนกันยายน)

ทั้งนี้ Ifo ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนีกล่าวเมื่อวันจันทร์ (5/2) ว่า การขาดแคลนคำสั่งซื้อในภาคการผลิตจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเยอรมนีมากขึ้น ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0751-1.0773 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0765/68 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/2) ที่ระดับ 147.93/94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดคลาดเมื่อวันอังคาร (6/2) ที่ 148.67/70 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากการอ่อนค่าลงของดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่ากระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่น (MIC) เปิดเผยข้อมูลเมื่อวานนี้ (6/2) ว่า การใช้จ่ายภาคครัวเรือนของญี่ปุ่นปรับตัวลดลง 2.5% ในเดือนธันวาคม 2566 เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยลดลงเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกัน โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 147.70-148.08 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 147.90/91 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้และพรุ่งนี้ ได้แก่ ยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือนธันวาคมของสหรัฐ (7/2), สต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (7/2), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมกราคมของจีน (8/2), ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนมกราคมของจีน (8/2), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (8/2) และสต๊อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนธันวาคมของสหรัฐ (8/2)

สำหรับอัตราองกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -8.5/-8.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -6/-4.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ