
ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดหนักมาตรการคุม “ชอร์ตเซล-หุ้นร้อน“ เพิ่มโทษปรับ บล. 3 เท่าของกำไร เตรียมหารือ ก.ล.ต. แก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เปิดช่องให้มีบทลงโทษกับผู้ลงทุนที่ทำ Naked Short
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานกฎหมาย และหัวหน้ากลุ่มงานเลขานุการองค์กรและกำกับองค์กร ในฐานะโฆษก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวในงาน Press Briefing : เกี่ยวกับมติคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ ในการดำเนินการเพื่อยกระดับความเชื่อมั่นเรื่องชอร์ตเซลและโปรแกรมเทรดดิ้ง รวมถึงมาตรการเพิ่มการเปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณชน ว่า
มาตรการของตลาดหุ้นไทยที่ได้รับความเห็นชอบจากบอร์ด ตลท. เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2567 จะแบ่งตามเป้าหมายที่คาดหวังเป็น 3 กลุ่มหลักคือ 1.มาตรการเกี่ยวกับการลดความผันผวนที่ผิดปกติของราคาหลักทรัพย์ 2.มาตรการเกี่ยวกับการกำกับดูแลพฤติกรรมการซื้อขายที่ไม่เหมาะสม และ 3.มาตรการที่เป็นการเพิ่มความคุ้มครองผู้ลงทุน
โดยกลุ่มแรกที่ทำคือ ทบทวนหลักทรัพย์ที่ Short Sell ได้ ซึ่งหุ้นที่จะทำชอร์ตเซลได้จะต้องมี Turn Over ขั้นต่ำเฉลี่ยย้อนหลัง 12 เดือน ที่อย่างน้อย 2% และเพิ่มขนาดมาร์เก็ตแคปเป็น 7,500 ล้านบาท ซึ่งสูงขึ้นจากเกณฑ์ปัจจุบัน 5,000 ล้านบาท และเพิ่มสภาพคล่องฟรีโฟลต 20% ซึ่งจะทำให้จำนวนหุ้นที่ short sell ได้ลดลงเหลือประมาณ 231 หลักทรัพย์ จากเดิมที่ 292 หลักทรัพย์
และถัดมาจะควบคุมผลกระทบจาก short sell โดยจะเพิ่ม Uptick รายหลักทรัพย์เมื่อราคาปิดลดลง 10% เทียบกับราคาปิดก่อนหน้า เพื่อลดความผันผวนด้านราคา และเพิ่ม Daily short selling Limit รายหลักทรัพย์ที่ x% ของเทรดดิ้งวอลุ่ม (ดูย้อนหลังเฉลี่ย 30 วัน) เพื่อควบคุมปริมาณชอร์ตเซลในแต่ละวัน ทั้งนี้ x% ของเทรดดิ้งวอลุ่ม อยู่ระหว่างศึกษากับบริษัทหลักทรัพย์สมาชิกว่าควรจะกำหนดไว้เท่าไร
ต่อมาคือจะยกระดับการตรวจสอบ โดยจะจัดให้มี Central Platform ในการ check หลักทรัพย์ก่อนขาย เพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูลกลางสำหรับบริษัทสมาชิกและตลาดหลักทรัพย์ฯในการตรวจสอบการมีอยู่ของหลักทรัพย์ของผู้ลงทุนก่อนขาย เนื่องจากมีประเด็นที่เกิดขึ้นว่าผู้ลงทุนบางราย อาจจะไม่มีหลักทรัพย์ในครอบครองและมีการขายหลักทรัพย์นั้นออกมาก่อน
และสุดท้ายการป้องกันราคาผันผวนผิดปกติ โดยเพิ่ม Circuit Breaker รายหุ้นที่บวกลบ 10% ของราคาซื้อขายล่าสุด หรือเรียกว่า Dynamic price band เพื่อไม่ให้ราคาผันผวนเร็วเกินไป และเพิ่มมาตรการจับคู่ซื้อขายครั้งเดียวเมื่อเปิดทำการ (Auction) กรณีหุ้นที่อยู่ในมาตรการกำกับการซื้อขาย
โดยจะจับคู่ซื้อขายวันละ 3 รอบ (pre-open1, pre-open2, pre-close) โดยสุ่มเวลาจับคู่เหมือนหุ้นปกติ และจะมีการเปิดให้ Cancel Order ได้ หรือ Update ราคาที่จะซื้อได้ แต่จะไม่ได้เป็นระบบการซื้อขายด้วยวิธีจับคู่อัตโนมัติ (AOM) ซึ่งจะใช้กับกรณีที่หุ้นมีความผันผวนสูง
นายรองรักษ์กล่าวต่อว่า สำหรับกลุ่มที่สอง จะเพิ่ม Auto Halt รายหุ้นกรณีที่จำนวนหุ้นรวมในคำสั่งมากกว่า x% ของฟรีโฟลต ซึ่งจะเป็นการตอบโจทย์กรณีของหุ้นที่เกิดเหตุเมื่อปี 2565 นั่นคือหุ้น MORE ที่มีการส่งคำสั่งเข้ามาผิดปกติเป็นจำนวนมากก่อนที่จะเปิดตลาด จึงเป็นการป้องกันการจับคู่ของคำสั่งซื้อขายที่อาจผิดปกติในตลาดได้
และกำหนดเวลาขั้นต่ำของออร์เดอร์ก่อนที่จะสามารถยกเลิกคำสั่ง (Minimum Resting Time) เพื่อป้องกันการใส่ถอนคำสั่งถี่เกินไป และจะจัดทำ Central Order Screening เพื่อเป็นระบบกลางในการคัดกรองคำสั่งซื้อขายที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งจะมีการเปิดเผยข้อมูลลูกค้าที่ส่งคำสั่งไม่เหมาะสมแก่บริษัทสมาชิกทุกราย เพื่อควบคุมผู้ลงทุนที่มีพฤติกรรมการซื้อขายที่ไม่เหมาะสม และสุดท้ายจะมีการให้ลงทะเบียนสำหรับผู้ใช้ HFT เพื่อให้สามารถติดตามการซื้อขายได้สะดวกยิ่งขึ้น
และกลุ่มที่สาม เพิ่มความโปร่งใสต่อสาธารณชน โดยเพิ่มการเปิดเผยรายงาน Outstanding short Position รายหลักทรัพย์เป็นรายวัน เพื่อให้เห็นว่ามีการชอร์ตมากน้อยแค่ไหน ผู้ลงทุนจะได้มีข้อมูลในการประกอบตัดสินใจ และปรับปรุงการเปิดเผยรายชื่อผู้ถือหุ้นให้ครอบคลุมถึงกรณีการถือในรูปแบบ NVDR ด้วย โดยจะมีการเปิดเผยรายชื่อผู้ถือ NVDR ตั้งแต่ 0.5% แต่ไม่น้อยกว่า 10 ราย เช่นเดียวกับการเปิดเผยรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียน
และถัดมาจะเพิ่มบทระหว่างโทษบริษัทสมาชิกให้สูงขึ้นจากเดิมประมาณ 3 เท่า ซึ่งกรณี Naked short sell โดยการขายหลักทรัพย์โดยที่สมาชิกหรือลูกค้ายังไม่มีหลักทรัพย์นั้นอยู่ในครอบครองและรายงานตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ปัจจุบันกำหนดปรับเท่ากับกำไรที่ได้รับ แต่ต่อไปจะปรับ 3 เท่าของกำไรที่ได้รับ แต่ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท
และการขายหลักทรัพย์โดยที่สมาชิกหรือลูกค้ายังไม่มีหลักทรัพย์นั้นอยู่ในครอบครองและไม่ได้รายงานตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ปัจจุบันกำหนดปรับเท่ากับกำไรที่ได้รับ และปรับเพิ่มอีกไม่เกิน 50,000 บาท แต่ต่อไปจะปรับ 3 เท่าของกำไรที่ได้รับ แต่ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท และปรับเพิ่มอีกไม่เกิน 150,000 บาท
และกรณี Short sell ไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์ขายชอร์ตที่ตลาดหลักทรัพย์ฯกำหนด เช่น ขายชอร์ตในหลักทรัพย์ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯกำหนด, ไม่ใส่ Flag “s” ปัจจุบันปรับไม่เกิน 100,000 บาทต่อครั้งแต่ต่อไปจะปรับเป็นไม่เกิน 300,000 บาทต่อครั้ง
“ปัจจุบันขั้นตอนในการออกกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ในสเต็ปแรกคือเสนอหลักการต่อคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯเพื่อพิจารณาอนุมัติไปแล้ว สเต็ปต่อไปจะต้องไปหารือกับสมาชิก Stakeholders และจัดทำร่างกฎเกณฑ์ และนำไปรับฟังความคิดเห็น (Hearing) และเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. หลังจากได้รับความเห็นชอบแล้วจึงจะประกาศบังคับใช้กฎเกณฑ์ ทั้งนี้คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ภายในช่วงไตรมาส 2/2567”
อย่างไรก็ตาม บางมาตรการเราอาจจะทำได้ทันที แต่บางมาตรการก็จำเป็นต้องมีการพัฒนาปรับปรุงระบบเพื่อให้รองรับกับเรื่องนี้ ซึ่งก็อาจจะต้องใช้เวลา หากทำได้เราอยากทำให้เร็วที่สุดทุกมาตรการอยู่แล้ว แต่แต่ละมาตรการมีวิธีการและขั้นตอนที่แตกต่างกัน
เช่น อะไรที่เป็นเพียงแก้เกณฑ์ อย่างการปรับคุณสมบัติของหุ้น หรือกรณีการลงโทษปรับ แค่แก้เกณฑ์ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำเฮียริ่งอันนี้ไม่ต้องไปปรับระบบอะไร อันนี้ทำได้เร็ว แต่หากต้องมีการแก้เกณฑ์และไปปรับระบบ ต้องดูความพร้อมของสมาชิก อันนี้อาจจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการ” นายรองรักษ์กล่าว
นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯยังเตรียมหารือกับสำนักงาน ก.ล.ต. ในการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เพื่อเปิดช่องให้มีบทลงโทษกับผู้ลงทุนที่ทำ Naked Short Selling ได้ ตามความกังวลของบอร์ด ท. เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายหลักทรัพย์มีอำนาจแค่ลงโทษได้เฉพาะบริษัทสมาชิกเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถลงโทษไปถึงตัวบุคคลได้ จึงทำให้ผู้กระทำความผิดอาจไม่เกรงกลัว อย่างไรก็ตามหากจะสามารถดำเนินการได้ต้องไปแก้กฎหมายหลักทรัพย์ก่อน