ธปท. เปิดไทม์ไลน์ “แก้หนี้เรื้อรัง” ดีเดย์ 1 เม.ย.นี้ ธนาคาร-น็อนแบงก์เตือนลูกหนี้เข้าข่ายเข้าโครงการ PD กดดอกเบี้ย 15% ปิดจบหนี้ 5 ปี ระบุเดือน ก.ค. ต้องส่งรายงานคนต้องการเข้าโครงการหากลูกค้าชำระไม่ไหวต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้
วันที่ 13 มีนาคม 2567 นางสาวอรมนต์ จันทพันธ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภายในเดือนนี้ ธปท.จะเข้าไปตรวจสอบสถาบันการเงินภายใต้กำกับ ทั้งธนาคารพาณิชย์ และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) ถึงกระบวนการช่วยเหลือลูกหนี้ภายใต้เกณฑ์ได้ดำเนินการที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt : PD) ที่เป็นกลุ่มเปราะบางที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 เมษายน 2567
ซึ่งภายใต้เกณฑ์ดังกล่าว ลูกหนี้ที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt : PD) ที่เป็นกลุ่มเปราะบางจะได้รับความช่วยเหลือให้ปิดจบหนี้ได้เร็วภายใน 5 ปี และลดภาระดอกเบี้ยเหลือ 15% ต่อปี โดยลูกหนี้ที่เข้าข่ายเรื้อรัง จะเป็นลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับประเภทวงเงินหมุนเวียน (ไม่รวมสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล และบัตรเครดิต) ที่ไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และชำระดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นที่ชำระมาทั้งหมดเป็นระยะเวลานาน
โดยลูกหนี้กลุ่มเป้าหมายจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาหนี้เรื้อรัง (General PD) คือ ลูกหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวม มาแล้ว 3 ปี แต่ไม่ถึง 5 ปี โดยลูกหนี้จะได้รับการแจ้งเตือน เพื่อกระตุกพฤติกรรมให้จ่ายชำระหนี้เพิ่มเติมและพิจารณาขอความช่วยเหลือให้สามารถปิดจบหนี้เร็วขึ้นได้ และลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง (Severe PD) ลูกหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวม มาแล้ว 5 ปี
ทั้งนี้ ธปท.กำหนดรายได้ลูกหนี้สำหรับธนาคารพาณิชย์ จะมีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 20,000 บาท และน็อนแบงก์น้อยกว่า 10,000 บาท โดยลูกหนี้จะได้รับความช่วยเหลือให้ปิดจบหนี้ภายใน 5 ปี และลดภาระดอกเบี้ยเหลือ 15% ซึ่งปัจจุบันลูกหนี้ 1 ราย จะมีจำนวนบัญชีเฉลี่ย 4 บัญชี โดยลูกหนี้สามารถเข้าโครงการได้ทุกบัญชี แต่จะใช้สิทธิได้เพียง 1 ครั้งเท่านั้น นอกจากนี้ ลูกหนี้จะต้องปิดวงเงินเดิม แต่หากกรณีฉุกเฉินสามารถเจรจากับเจ้าหนี้ได้ รวมถึงจะต้องถูกบันทึกข้อมูลในรายงานของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร)
ทั้งนี้ ลูกหนี้ทั้ง 2 กลุ่ม จะได้รับการแจ้งเตือนเป็นรายบัญชี (อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง) ผ่านช่องทางที่ตกลงไว้กับเจ้าหนี้อย่างน้อย 1 ช่องทาง เช่น จดหมาย อีเมล์ SMS Mobile Application เพื่อกระตุ้นให้จ่ายชำระหนี้เพิ่มขึ้น ตลอดจนสมัครเข้าร่วมมาตรการปิดจบหนี้เรื้อรัง หากลูกหนี้ต้องการทราบสถานะของตนเอง สามารถติดต่อสาขา หรือ Call Center ของผู้ให้บริการเพื่อตรวจสอบสถานะและสอบถามรายละเอียดการเข้าร่วมมาตรการแก้หนี้เรื้อรังได้
อย่างไรก็ดี หากลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการ PD แล้วพบว่ามีปัญหาไม่สามารถชำระได้ตามกำหนด 5 ปี ธนาคารจะต้องช่วยเหลือลูกค้าในการปรับโครงสร้างหนี้โดยพิจารณาตามปัญหาของลูกหนี้ และปรับโครงสร้างตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ หรือหากลูกหนี้มีปัญหามากอาจจะต้องช่วยในเชิงลึก เช่น การปรับลดดอกเบี้ย เป็นต้น
สำหรับผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยนั้น ธปท.มีการพูดคุยกันต่อเนื่องกับสถาบันการเงินต่อเนื่องกว่าจะออกเกณฑ์มา ซึ่งยอมรับว่าอาจจะกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยบ้าง แต่ไม่ได้กระทบจนถึงขั้นทำธุรกิจไปต่อไม่ได้ ซึ่งอาจจะกระทบช่วงสั้น แต่ธุรกิจของธนาคารสามารถไปต่อได้ในระยะยาว
สำหรับบทลงโทษภายใต้เกณฑ์ปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) หากพบว่าสถาบันการเงินไม่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ ธปท.จะมีบทลงโทษตั้งแต่ตักเตือน จนถึงการปรับเกรด Market Conduct Rating ซึ่งจะมีผลต่อการขอทำธุรกิจใหม่ หรือ ธปท.สามารถสั่งระงับการทำธุรกิจได้
“ตามไทม์ไลน์เจ้าหนี้จะดึงข้อมูลลูกค้าที่เข้าข่ายทั้ง 2 กลุ่ม โดยใช้ข้อมูลในเดือน ก.พ. 2567 และภายในเดือน เม.ย.นี้ สถาบันการเงินจะต้องแจ้งเตือนลูกค้าให้เสร็จสิ้นเป็นรายบัญชี และรายงานให้กับ ธปท. โดยในเดือน ก.ค. รายงานตัวเลขว่ามีลูกค้าที่ต้องการเข้าร่วมแก้หนี้เรื้อรังเท่าไร อย่างไรก็ดี ตัวเลขจะเป็นเท่าไร ธปท.ไม่ได้มีเป้าหมาย แต่สิ่งที่เราต้องการ คือ กระบวนการในการเตรียมความพร้อมของระบบ พนักงาน เป็นสิ่งสำคัญ”