ลูกหลงศึกการค้า “สหรัฐ-จีน” เตือนไทยรับมือส่งออกวูบ-ปิดโรงงาน

ดร.อมรเทพ จาวะลา
ดร.อมรเทพ จาวะลา

สหรัฐ-จีน เตือนไทยรับมือส่งออกวูบ-ปิดโรงงาน

วันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนมีความเสี่ยงที่จะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจกระทบภาคการส่งออกของไทยที่อาจหดตัวได้ หากสถานการณ์รุนแรงมากขึ้น และจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในลำดับถัดไป โดยไทยต้องดูว่าจะปรับตัวอย่างไร ซึ่งขณะนี้ยังเป็นเพียงการเปิดไพ่ใบแรกของสหรัฐเท่านั้น

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะกระทบไทยมาก เพราะสหรัฐขึ้นภาษี จีนจะนำเข้าสินค้าจากไทยลดลง จะกระทบการจ้างงาน อาจมีโรงงานปิดตัวหรือย้ายฐานการผลิต อันนี้เป็นความเสี่ยงที่แม้อาจไม่ได้กระทบปีนี้ แต่จะกระทบในปีต่อ ๆ ไป ว่าเราจะขาดการลงทุนไปเป็นเวลานาน อันนี้เป็นโจทย์ใหญ่ว่าเราจะปรับตัวอย่างไร เพราะถ้าเราจะปรับตัวได้อย่างเวียดนามที่ไปชิงตลาดสหรัฐแทนจีน ส่งออกเวียดนามก็โตได้ดี แต่บ้านเราไม่ได้มีเทคโนโลยี ไม่ได้มีการลงทุนแบบนั้น ก็สู้เขาไม่ได้”

ดร.อมรเทพกล่าวอีกว่า จากนี้ต้องจับตาว่าจีนจะตอบโต้สหรัฐอย่างไร ซึ่งหากใช้ค่าเงินในการตอบโต้ก็จะกระทบมาถึงไทยด้วย ในขณะที่สหรัฐน่าจะบีบชาติพันธมิตร เช่น ยุโรปให้แบนจีนด้วย เนื่องจากจีนส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าไปยุโรปค่อนข้างมาก นอกจากนี้ ต้องจับตาว่าจะลามมาอาเซียนด้วยหรือไม่ ซึ่งอาจกระทบการดำเนินนโยบายของไทยได้

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองว่า ประเด็นการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนของสหรัฐน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนรอบใหม่ ซึ่งยังต้องติดตามทีท่าของทางการจีนต่อการขึ้นภาษีของสหรัฐ รวมถึงนโยบายของสหรัฐที่อาจจะออกมาตรการตอบโต้ต่อการปรับตัวของผู้ประกอบการจีนด้วยการส่งออกจากประเทศที่สาม

การประกาศขึ้นภาษี สะท้อนท่าทีสหรัฐที่ต่อต้านอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ใหม่ของจีน ทั้งพลังงานสะอาดและเทคโนโลยี รวมถึงมุ่งหวังผลคะแนนนิยมทางการเมืองของประธานาธิบดีไบเดน ก่อนที่จะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ในวันที่ 5 พ.ย.นี้ โดยเฉพาะในรัฐที่เป็น Swing States อย่างจอร์เจีย แอริโซนา เนวาดา และมิชิแกน ซึ่งเป็นรัฐที่กำลังลงทุนห่วงโซ่อุปทานรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ภายใต้เงินสนับสนุนจากกฎหมายการลดเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act) ของสหรัฐ

ADVERTISMENT

การขึ้นภาษีในรายการที่สหรัฐพึ่งพาการนำเข้าจากจีนสูง อย่างแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ที่มีสัดส่วนนำเข้าจากจีนมากถึง 70% นั้น มองว่าทั้งสหรัฐและจีนน่าจะสามารถบริหารจัดการผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา สหรัฐสนับสนุนการลงทุนสร้างห่วงโซ่การผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนขึ้นในประเทศ รวมถึงมีทางเลือกนำเข้าจากพันธมิตรอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ทดแทนได้

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านสู่การใช้แหล่งอุปทานแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ใหม่ เพื่อทดแทนจีนอาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง โดยเฉพาะบางค่ายรถสหรัฐที่ยังคงพึ่งพาแหล่งอุปทานจากจีนเป็นหลัก สำหรับผู้ประกอบการจีนอาจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่สามเพื่อส่งออกไปสหรัฐ แต่น่าจะต้องเผชิญการตอบโต้ของสหรัฐ โดยการขึ้นภาษีผ่านมาตรการ Anti-Circumvention ในท้ายที่สุดคล้ายกับกรณีของโซลาร์เซลล์ที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้า

ADVERTISMENT

สำหรับการขึ้นกำแพงภาษีสินค้าสำคัญอย่างรถยนต์ไฟฟ้า ยังเป็นการปกป้องอุตสาหกรรมรถยนต์สหรัฐ โดยเฉพาะก่อนผลการตัดสินมาตรการเก็บภาษีรถยนต์ไฟฟ้าจีนของสหภาพยุโรป ในช่วงเดือน พ.ย.นี้ แม้ปัจจุบันค่ายรถจีนส่วนใหญ่ยังแทบไม่ได้ทำตลาดในสหรัฐ โดยในปี 2566 สหรัฐมีสัดส่วนนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนเพียง 2.0% เท่านั้น

การปรับขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีน น่าจะเป็นตัวเร่งให้ผู้ผลิตจีนเข้าไปลงทุนในเม็กซิโก เพื่อนำเข้าชิ้นส่วนจากจีนมาประกอบ และส่งออกไปยังสหรัฐ โดยอาศัยอัตราภาษี MFN ของเม็กซิโกที่อยู่ในระดับต่ำเพียง 2.5% มากกว่าจะใช้สิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ข้อตกลง USMCA ที่มีเงื่อนไขเข้มงวดเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดสินค้า ซึ่งกำหนดให้สัดส่วนมูลค่าชิ้นส่วนที่ต้องผลิตในกลุ่มประเทศ USMCA รวมกันสูงถึง 75%