
ธนาคารกรุงไทยมั่นใจยื่นขอจัดตั้ง Virtual Bank ตามกำหนดการ ชี้อยู่ระหว่างกำลังพัฒนาโมเดล ย้ำระบบต้องมีข้อมูล-ช่องทางบริการต้องแข็งแรงมีเสถียรภาพ หวังช่วยดึงเศรษฐกิจนอกระบบ เผยสัญญาณสินเชื่อโตต่ำเอ็นพีแอล หนุนแบงก์เข้มปล่อยกู้สกัดหนี้เสีย-เร่งปรับโครงสร้างหนี้
วันที่ 5 มิถุนายน 2567 นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย (TBA) กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปัจจุบันธนาคารยังอยู่ระหว่างการจัดเตรียมโมเดลและรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ซึ่งยังมีเวลาเหลือก่อน ธปท.จะปิดการยื่นขอใบอนุญาต ทำให้ธนาคารยังมีเวลาในการศึกษาโมเดล และพัฒนานวัตกรรม เพราะโมเดลยังมีความยืดหยุ่น
ทั้งนี้ โมเดลการจัดตั้ง Virtual Bank จะเห็นว่าโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศไทย มีเศรษฐกิจนอกระบบค่อนข้างสูงราว 48-50% สะท้อนว่า ข้อมูลมีจำกัด ทำให้การเข้าถึงสินเชื่อในระบบค่อนข้างยาก ดังนั้น โครงสร้างของผู้เล่นรายใหม่ จะต้องมีข้อมูลทางเลือก (Alternative Data) มากขึ้น ขณะเดียวกัน Virtual Bank ไม่มีสาขา ทำให้ระบบจะต้องมีความมั่นคงแข็งแรง และเสถียรภาพด้วย
“ตอนนี้เราอยู่ระหว่างเตรียมระบบ โมเดลเรามีความยืดหยุ่น หากอันนี้ดีเราก็พร้อมพัฒนาและปรับเปลี่ยนได้เสมอ ซึ่งเรายังมีเวลาและคาดว่าจะสามารถยืนได้ทันตามกำหนด 19 กันยายน 2567 ตามที่ ธปท.กำหนดไว้”
นายผยงกล่าวต่อไปว่า สำหรับภาพรวมการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในช่วงนี้ จะเห็นว่ามีความเข้มงวดระมัดระวังมากขึ้น ตามสถานการณ์เศรษฐกิจและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง สะท้อนผ่านตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และยอดผิดนัดชำระหนี้ (Stage2) ที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น การปล่อยสินเชื่อของธนาคารจึงต้องทำอย่างระมัดระวัง รวมถึงเร่งปรับโครงสร้างหนี้ เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้กลุ่มเปราะบางสามารถกลับมาเป็นลูกค้าปกติได้ ซึ่งธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งก็กำลังทำเรื่องนี้กันอย่างเต็มที่
ขณะเดียวกัน การปล่อยสินเชื่อใหม่หรือการอัดฉีดสภาพคล่องจะต้องทำในกลุ่มที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับผู้ให้กู้และเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงให้เป็นไปตามมาตรการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ของ ธปท. เช่น ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ จะต้องดูให้สมดุลระหว่างดีมานด์และซัพพลาย ซึ่งกรณีที่มีความต้องการ (ดีมานด์) แต่หนี้มีระดับสูง ธนาคารไม่ควรเพิ่มภาระหนี้ให้ผู้กู้เพิ่มเติม
นอกจากนี้ จะต้องเร่งส่งเสริมให้กลุ่มที่อยู่นอกระบบเข้ามาสู่ระบบ เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินได้ ไม่ว่าจะผ่านช่องทางการยื่นชำระภาษี หรือการใช้ข้อมูลทางเลือกในการพิจารณาสินเชื่อ เป็นต้น
“สถานการณ์ตอนนี้อย่างที่เห็นก็คือ อัตราการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลสูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อ ทำให้แบงก์ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อไปพร้อม ๆ กับการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งก็ดูแลในทุกกลุ่มธุรกิจ ส่วนกลุ่มไหนมีความเปราะบางมากน้อยอย่างไร ก็เป็นไปตามข้อมูลของเครดิตบูโรที่ออกมา
ส่วนกลุ่มก่อสร้าง-อสังหาริมทรัพย์นั้น ก็ถือเป็นหนึ่งเสาหลักทางเศรษฐกิจของไทยเพราะมีความเชื่อมโยงไปถึงการจ้างงานอื่น ๆ จึงต้องมองว่า การชะลอหรือชะงักไปนั้น มาจากสาเหตุของอะไร งบประมาณที่ล่าช้าหรือไม่ เพราะฉะนั้นหากไตรมาส 3 เงินงบประมาณออกมา ก็จะช่วยให้ดีขึ้น เป็นต้น”