
จุลพันธ์ รมช.คลัง เผย สำหรับกลุ่มคนไม่มีสมาร์ทโฟน ลงทะเบียนรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะเตรียมแถลงข้อมูลรอบต่อไปกลางเดือนหน้าก่อน 16 ก.ย ชี้กลุ่มผู้พิการ ป่วยติดเตียง ลุ้นเปิดใช้จ่ายรอบพิเศษ
วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการแถลงข่าว “ดิจิทัลวอลเลต โครงการเพื่อประชาชน พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้ววันนี้” ว่า การลงทะเบียนประชาชนกลุ่มที่ไม่มีมือถือสมาร์ทโฟน ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการให้เข้าร่วมโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต ได้ในระยะต่อไป โดยจะมีการแถลงก่อนเปิดลงทะเบียนและยืนยันตัวตนผ่านช่องทางที่กำหนด (ระหว่างวันที่ 16 กันยายน – 15 ตุลาคม 2567) ในลำดับต่อไป
“วันนี้ได้แถลงรายละเอียดการลงทะเบียนกลุ่มคนที่มีสมาร์ทโฟนจบไปแล้ว สาเหตุที่ไม่ชี้แจงกลุ่มคนที่ไม่มีสมาร์ทโฟนในครั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสับสน และต้องการเน้นไปที่กลุ่มบุคคลที่มีสมาร์ทโฟน ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด โดยประมาณกลางเดือนหน้า (16 ก.ย.) รัฐบาลจะพูดถึงเรื่องรายละเอียดการลงทะเบียนกลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟนต่อไปและกลุ่มร้านค้าตามลำดับ” รมช.คลัง กล่าว
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า สําหรับผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง กรณีนี้รัฐบาลพร้อมดูแลประชาชนกลุ่มนี้เช่นกัน หากลงทะเบียนผ่านสมาร์ทโฟนได้ ก็สามารถลงทะเบียนได้ตามระยะเวลาที่กำหนด ถ้าไม่มีสมาร์ทโฟนก็รอการเปิดลงทะเบียนรอบผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน ตามกรอบเวลา (16 ก.ย.- 15 ต.ค.) แต่สิ่งที่รัฐบาลเป็นห่วงนั่นคือว่า การใช้จ่าย ซึ่งถ้าเป็นกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง และผู้พิการนั้น จะเปิดให้มีการใช้จ่ายเงินในรอบพิเศษต่อไป โดยเร็ว ๆ นี้จะแจ้งรายละเอียดให้ทราบอีกครั้ง
สำหรับการลงทะเบียนประชาชนเริ่ม 1 สิงหาคม ถึง 15 กันยายน 2567 ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” โดยไม่มีจำกัดจำนวนประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ แต่หากประชาชนเข้ามาใช้สิทธิเป็นจำนวนมากอาจจะทำให้แอปพลิเคชันเกิดการดีเลย์บ้างเป็นปกติ แต่ยืนยันว่าสามารถรองรับได้ แต่อาจจะใช้เวลามากกว่าปกติ ส่วนวันเวลาการลงทะเบียน นับตั้งแต่ 00.01 น. วันที่ 1 สิงหาคม ลงทะเบียนได้ตลอด 24 ชั่วโมง
โดยได้ย้ำแหล่งเงินของโครงการเงินดิจิทัลว่า ใช้งบประมาณ 4.5 แสนล้านบาท สำหรับประชาชนผู้ได้รับสิทธิ์ 45 ล้านคน จากเดิม 50 ล้านคน วงเงิน 5 แสนล้านบาท ดังนี้
1.การบริหารงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 165,000 ล้านบาท ประกอบด้วย
- แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปี 2567 วงเงิน 122,000 ล้านบาท
- ที่เหลืออีก 43,000 ใช้วิธีการบริหารจัดการงบประมาณรายจ่ายปี 2567
2.การบริหารงบประมาณรายจ่ายปี 2568 วงเงิน 285,000 ล้านบาท ประกอบด้วย
- งบประมาณรายจ่ายปี 2568 ที่ตั้งไว้แล้ว 152,700 ล้านบาท
- ส่วนที่เหลืออีก 132,300 ล้านบาทใช้วิธีการบริหารจัดการงบประมาณรายจ่ายปี 2568