จัดพอร์ตอย่างไรให้ Stay Invest แม้ในภาวะวิกฤต

ค่าเงิน การลงทุน
บทความโดย "รัฐพล วชิรเมฆากุล" 
นักวางแผนการเงินCFP® สมาคมนักวางแผนการเงินไทย

วันที่ 13 สิงหาคม 2567 นักลงทุนต่างรู้ว่าการลงทุนต่อเนื่อง (Stay Invest) มีความสำคัญ แต่ในภาวะวิกฤตหรือช่วงตลาดหมี ซึ่งเป็นช่วงที่ทำใจยากที่สุดที่จะลงทุน เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่มักตอบสนองต่อสถานการณ์รุนแรงเกินไป มีแนวโน้มจะใช้อารมณ์ และความรู้สึกตัดสินใจมากกว่าเหตุผล ดังนั้น มาทบทวนถึงหลักการ และวิธีการในเชิงปฏิบัติว่าควรทำอย่างไร ถึงควรลงทุนได้ในทุกภาวะตลาด

ในภาวะตลาดหมีหรือวิกฤตมีสัญญาณหลายรูปแบบ เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจตกต่ำ (จีดีพีเติบโตติดลบต่อเนื่อง) อัตราการว่างงานสูงขึ้น ภาคธุรกิจมีรายได้ หรือผลกำไรลดลง ทำให้ความเชื่อมั่นของทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และนักลงทุนต่ำไปด้วย เมื่อมีแต่ข่าวร้ายนักลงทุนก็จะยิ่งตอบสนองรุนแรงมากขึ้น อาจพอสรุปได้ว่านักลงทุนไม่ได้กลัวความเสี่ยง (Risk Aversion) แต่จริง ๆ แล้วกลัวการสูญเสีย (Loss Aversion) ต่างหาก

หนึ่งในวิธีการที่นักลงทุนทำโดยทั่วไปเพื่อลดหรือป้องกันการสูญเสีย คือ การปรับพอร์ตตามสถานการณ์ (Tactical Asset Allocation) ออกจากสินทรัพย์เสี่ยงสูง (หุ้น) ไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำแทน เช่น เงินฝาก ตราสารหนี้ หรือสินทรัพย์ที่ hedge กับภาวะวิกฤติได้ดีอย่างทองคำ ทำให้หุ้นยิ่งปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

แต่การปรับพอร์ตตามสถานการณ์นั้นต้องอาศัยการคัดเลือก Indicators ที่เหมาะกับแต่ละสินทรัพย์ ความแม่นยำของการตัดสินใจเข้า-ออกจากการลงทุน หากตัดสินใจผิดพลาด อาจยิ่งทำให้เกิดความสูญเสียมากขึ้น หรือเสียโอกาสในการลงทุน

อีกวิธีที่เริ่มนิยมคือ การลงทุนใน Futures / Options เพื่อลดการสูญเสียเงินลงทุน หรือแม้แต่ได้กำไร แต่ก็เป็นวิธีการที่ซับซ้อน และมีต้นทุน รวมถึงเป็นเครื่องมือที่มีความผันผวนไม่แพ้หุ้น

หากนักลงทุนไม่อยากใช้วิธีการซับซ้อน ไม่อยากจับจังหวะเข้า-ออกจากการลงทุน แต่ยังคาดหวังการเติบโตของเงินในระยะยาว อยากวางแผนการลงทุนเพื่อรับมือกับความเสี่ยงอย่างรอบคอบ สามารถใช้เทคนิคด้านล่าง ดังนี้

Advertisment

เตรียมใจก่อนจัดพอร์ต

เมื่อลงทุนแล้ว นักลงทุนคาดหวังให้พอร์ตลงทุนมีผลตอบแทนที่ดีต่อเนื่อง แต่ความเป็นจริงในโลกการลงทุนเต็มไปด้วยความผันผวน โดยจากสถิติย้อนหลังผลตอบแทนของดัชนี S&P 500 ตั้งแต่ปี 1980-2023 (43 ปี) ดัชนีมีช่วงเวลาที่ติดลบระหว่างปีทุกปี โดยอยู่ระหว่าง -3% ถึง -49% (Hamburger Crisis 2008) แต่มีถึง 33 ปี (76.74%) ที่ผลตอบแทน ณ สิ้นปีเป็นบวก (ซื้อต้นปี ขายสิ้นปี) ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุนควรเตรียมใจกับผลลัพธ์ที่ไม่เป็นใจด้วย ที่มา: JP Morgan, Guide to the Markets, U.S. 2Q 2024, March 31 2024

Advertisment

เตรียมเวลาลงทุนให้ยาว

วิธีการลดความเสี่ยงจากการลงทุนที่ดีวิธีหนึ่ง คือ การลงทุนระยะยาว รายงานจาก JP Morgan ศึกษาสถิติการลงทุนใน S&P 500 ช่วงปี 1950 – 2023 ระบุว่าหากลงทุน เป็นระยะเวลา 1 ปี ช่วงของผลตอบแทนที่ท่านอาจได้อยู่ระหว่าง -39% ถึง 47% แต่หากยืดระยะเวลาลงทุนออกไปเป็น 10 ปี ช่วงของผลตอบแทนอยู่ระหว่าง -1% ถึง 19% และหากยืดเวลาลงทุนออกไปถึง 20 ปี ผลตอบแทนที่อาจได้อยู่ระหว่าง 6% ถึง 17% ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 11.2% ต่อปี

เพิ่มสินทรัพย์เสี่ยงต่ำเข้าไปในพอร์ต

จากภาพประกอบในข้อ 2 จะเห็นว่าหากไม่อยากขาดทุนจากการลงทุนใน S&P 500 ต้องลงทุนนานถึงประมาณ 20 ปี แต่ถ้าแผนการลงทุนมีระยะเวลาสั้นกว่านั้นล่ะ เช่น 5 ปี การผสมผสานการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำอย่างตราสารหนี้ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ซึ่งการลงทุนในพอร์ต (หุ้น) 60/40 (ตราสารหนี้) เพียงระยะเวลา 5 ปีก็ช่วยปิดโอกาสขาดทุนได้ รวมถึงช่วยลดความผันผวนด้วย โดยในรายงานฉบับเดียวกันระบุว่า การลงทุนในพอร์ต 60/40 ช่วยลด Maximum Drawdown ในปี Hamburger Crisis 2008 จาก -49% เหลือเพียง -20% ความเสี่ยงขาลงหายไปเกินครึ่ง

จัดพอร์ตโฟลิโอ

การลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายมากขึ้น เช่น ทองคำ หรือ เงินสด จะช่วยลดความเสี่ยงได้ โดยเฉพาะทองคำได้รับการยอมรับว่าเป็น Crisis Hedging Asset ที่ดี โดย 6 ใน 8 ครั้งที่เกิด Recession ทองคำสามารถเอาชนะผลตอบแทนของ S&P 500 โดยเฉลี่ยถึง 37% มีผลตอบแทนนับจากช่วงก่อนเกิด recession 6 เดือนจนถึงหลังเกิด recession 6 เดือนทองคำทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ถึง 28% ที่มา: How Does Gold Perform With Inflation, Stagflation, and Recession?, Institutional Investor, May 8, 2023

อีกทั้ง การถือเงินสดเป็นส่วนหนึ่งของพอร์ตหรือการฝากเงินเป็นวิธีการช่วยลดความผันผวนได้ดี เนื่องจากเงินสดมีความสัมพันธ์ในทางตรงกันข้ามกับตลาดหุ้น นั่นหมายความว่า ในช่วงที่ตลาดหุ้นไม่เป็นใจ เงินสดจะยังคงเป็นสินทรัพย์หนึ่งที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกได้

การลงทุนต่อเนื่อง หรือ Stay Invest เป็นกลยุทธ์ที่ทรงพลังและสามารถสร้างผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจในระยะยาวได้ แม้ในช่วงเวลาตลาดผันผวนหรือเกิดวิกฤติ หากมีเป้าหมายการลงทุนระยะยาวและสามารถรับความเสี่ยงได้ การลงทุนต่อเนื่องเป็นกลยุทธ์ที่ไม่ควรมองข้าม