โบรกฯ หนุน SET เพิ่มเกณฑ์เปิดชื่อผู้บริหาร บจ. ตึ๊งหุ้น

SET

หลังจากที่ผ่านมา ผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) หลายแห่งถูกบังคับขายหุ้น (Forced Sell) จำนวนมาก ปมสำคัญเกิดจากผู้บริหารนำหุ้นที่ตัวเองถือไปวางค้ำประกันบัญชีมาร์จิ้น (บัญชีที่โบรกเกอร์เปิดให้นักลงทุนกู้ยืมเงิน) โดยสาเหตุการถูกฟอร์ซเซลเกิดขึ้น เมื่อราคาหุ้นลดลง จนทำให้หลักประกันที่วางไว้มีมูลค่าลดต่ำกว่าเกณฑ์ที่โบรกเกอร์กำหนด จนถูกเรียกหลักประกันเพิ่ม

ซึ่งหากไม่วางหลักประกันเพิ่มเติม เมื่อราคาหุ้นร่วงลงไปถึงจุดจุดหนึ่ง โบรกเกอร์ก็มีสิทธิบังคับขายหุ้นได้ทุกราคา เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ที่ลูกค้ากู้ยืมไปซื้อหุ้น ซึ่งหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับหุ้นหลาย ๆ ตัวในช่วงที่ผ่านมา ได้สร้างผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นรายย่อยอย่างมาก

เพิ่มกฎเปิดชื่อผู้บริหารตึ๊งหุ้น

ขณะที่ “ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์” ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ตลาดหลักทรัพย์ฯไปศึกษาหลักเกณฑ์การกำหนดให้ผู้บริหาร บจ. ที่นำหุ้นไปค้ำประกันบัญชีมาร์จิ้น ต้องเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะทุกครั้ง เช่นเดียวกับกรณีผู้บริหารซื้อขายหุ้น เพื่อสร้างความโปร่งใสและเป็นข้อมูลการตัดสินใจให้กับนักลงทุน

โดยแนวทางนี้จะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ (บอร์ด ตลท.) เพื่อออกเป็นกฎระเบียบ และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และเสนอสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เห็นชอบต่อไป

“ปัญหาที่ผ่านมา ที่มีผู้บริหาร บจ.ถูกฟอร์ซเซล สะท้อนว่าเจ้าของธุรกิจไม่ได้ตั้งใจทำธุรกิจอย่างจริงจัง แต่นำหุ้นตัวเองไปจำนำเพื่อเทรด แทนที่จะโฟกัสการทำธุรกิจ ดังนั้นหากบอร์ด ตลท.เห็นชอบ เราก็ออกกฎระเบียบมาบังคับใช้ได้เลย แต่อาจจะไม่มีอำนาจในการลงโทษ เพราะฉะนั้น ถ้าให้มีผลอำนาจทางกฎหมาย ก.ล.ต.จะต้องออกประกาศการเปิดเผยข้อมูล หากไม่ปฏิบัติตามจะมีความผิด ซึ่งเรื่องนี้คาดว่าน่าจะได้เห็นประกาศออกมาได้อย่างชัดเจนภายในปี 2567”

โบรกฯชี้เพิ่มความมั่นใจผู้ลงทุน

ขณะที่ “ภูวดล ภูสอดเงิน” นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง กล่าวว่า แนวทางดังกล่าวจะช่วยให้นักลงทุนมีความมั่นใจขึ้น จากที่ผ่านมานักลงทุนค่อนข้างเป็นกังวล เพราะเห็นรายชื่อหุ้นที่มีการนำไปเป็นหลักประกันในบัญชีมาร์จิ้น แต่ไส้ในไม่รู้สัดส่วนหุ้นว่าเป็นของใครเท่าไหร่ ทั้งเจ้าของธุรกิจ หุ้นของผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือหุ้นของนักลงทุนรายย่อย เพราะจะถูกนับรวมเป็นก้อนใหญ่

ADVERTISMENT

“ถ้าเปิดเผยรายชื่อเฉพาะเจ้าของธุรกิจหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ ก็น่าจะช่วยให้เห็นภาพชัดขึ้น และนักลงทุนก็จะมีข้อมูลที่มากขึ้นในการใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน และเมื่อกังวลในประเด็นนี้ จะไม่หว่านทั้งหมดว่าหุ้นไหนที่มีการวางค้ำประกันบัญชีมาร์จิ้น จำเป็นจะต้องระวังทุกครั้งเสมอไป”

ทั้งนี้ ต้องติดตามต่อไป ว่าทางตลาดหลักทรัพย์ฯจะให้มีการเปิดเผยพร้อมกับการรายงานถี่ขึ้นด้วยหรือไม่ ซึ่งจะทำให้นักลงทุนมีข้อมูลคล้าย ๆ กับช่วงที่บังคับใช้มาตรการโปรแกรมเทรดดิ้ง หากใช้งานได้มากขึ้น นักลงทุนจะได้ติดตามและเห็นภาพว่าเกิดอะไรขึ้นกับหุ้นรายตัว

ADVERTISMENT

ลุ้นฟังความเห็น “ผ่าน/ไม่ผ่าน”

“แนวทางนี้ยังต้องลุ้น 50:50 ตอนเปิดเฮียริ่ง ว่าจะผ่านหรือไม่ เพราะในฝั่งเจ้าของธุรกิจหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ที่จะต้องเปิดเผยข้อมูล อาจจะไม่เห็นด้วย เนื่องจากเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้นเรื่องนี้น่าจะเป็นประเด็นหลักที่จะต้องถกกันระหว่างเป็นเรื่องส่วนตัว กับเป็นเรื่องของตัวบริษัท ซึ่งจะเปิดข้อมูลได้ถึงแค่ไหน เช่น อาจไม่ได้เปิดชื่อเป็นรายคน

แต่สเต็ปแรกอาจจะเปิดแค่สัดส่วนของผู้บริหารหรือกรรมการ แต่ไม่ถึงขั้นลงรายละเอียดว่าเป็นชื่อใคร แต่ก็ต้องติดตามว่าข้อสรุปที่ออกมาจะเป็นอย่างไร เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคล”

“วีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า เกณฑ์ดังกล่าวที่จะบังคับใช้นั้น ถือเป็นข้อมูลเพิ่มเติมให้กับนักลงทุนในการต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น หรือว่ามีความเสี่ยงมากขึ้นถ้าเกิดเห็นการปรับลงของราคาหุ้นแรง ๆ และถูกฟอร์ซเซล

“ตลท.-ก.ล.ต.” เผยข้อมูลถี่ขึ้น

“รองรักษ์ พนาปวุฒิกุล” รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกฎหมาย และหัวหน้ากลุ่มงานเลขานุการองค์กร และกำกับองค์กร ตลท. ระบุว่า ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯได้มีการเปิดเผยข้อมูลการเอาหุ้นไปวางเป็นหลักประกันเป็นรายเดือนผ่านหน้าเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งสามารถดูได้เป็นรายหุ้นเลยว่าหุ้นตัวไหนมีการไปวางเป็นหลักประกันจำนวนเท่าไร และคิดเป็นสัดส่วนเท่าไรของจำนวนทุนจดทะเบียน

“กำลังอยู่ในขั้นตอนพูดคุยกับสำนักงาน ก.ล.ต. และโบรกเกอร์เพิ่ม ว่าจะทำอย่างไรให้สามารถเปิดเผยข้อมูลได้เร็วยิ่งขึ้นและถี่ขึ้น เพราะทุกวันนี้ข้อมูลดังกล่าวจะต้องมีการนำส่งจากทางโบรกเกอร์ ไปให้สำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ จะนำข้อมูลที่โบรกเกอร์นำส่งมาเปิดเผยต่อ ขอเน้นย้ำว่าเรื่องนี้ทุกคนเห็นปัญหาอยู่”

Uptick สกัดชอร์ตเซลลด 4 เท่า

นอกจากนี้ “ศรพล ตุลยะเสถียร” รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลท. เปิดเผยว่า มาตรการ Uptick ที่นำมาใช้วันแรก เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2567 พบว่าควบคุมให้สัดส่วนการทำชอร์ตเซลลดลง โดยเทียบครึ่งปีแรกของปีนี้สัดส่วนการชอร์ตเซลต่อมูลค่าการซื้อขายจะอยู่ที่ 11.4% และในช่วงที่เริ่มบังคับใช้มาตรการ อยู่ที่ 4.47%

“ถือว่าลดลงชัดเจน โดยมูลค่าการชอร์ตเซลลดลงจากระดับ 5,200 ล้านบาท/วัน เหลือแค่ 1,500 ล้านบาท/วัน หรือลดลงประมาณ 4 เท่า และจากการติดตามข้อมูลพบว่า สัดส่วนการซื้อขายโดยผู้ลงทุนรายย่อยกลับมาสูงขึ้น โดยสิ้นเดือน ก.ค. มีสัดส่วน 35.86% จากเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 32.47% และสัดส่วนการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติปรับลดลง สอดคล้องกับโปรแกรมเทรดดิ้ง สิ้นเดือน ก.ค. มีสัดส่วน 46.65% จากเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 52.60%”

ต้องติดตามกันต่อไปว่า มาตรการเปิดเผยข้อมูลรายชื่อผู้บริหาร บจ. ที่นำหุ้นไปค้ำประกันบัญชีมาร์จิ้น หากมีการบังคับใช้ได้จริง จะเป็น “ครั้งแรก” ของไทย รวมถึงอาจจะของโลกเลยด้วยซ้ำ