
คลังยันสั่งซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม Temu ต้องเสีย VAT นำเข้า 7% ชี้หากมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท เริ่มเก็บแล้วตั้งแต่ 5 ก.ค. 67 แจงไม่เข้าข่ายภาษี “อีเซอร์วิส” ขณะที่ “อธิบดีสรรพากร” ติดตามใกล้ชิด ระบุหากต่อไปแพลตฟอร์มมีบริการให้กับผู้ขายไทยก็ต้องเก็บภาษี ฟาก “อธิบดีกรมศุลกากร” เผยเก็บ VAT นำเข้าสินค้าต่ำกว่า 1,500 บาท ครบ 1 เดือน ได้ภาษีประมาณ 100 ล้านบาท
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะในกรณี “Temu” ที่มีข่าวว่าทางกรมสรรพากรไม่สามารถจัดเก็บภาษีในลักษณะ e-Service หรือการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศได้ ทำได้เพียงส่งหนังสือถึงแพลตฟอร์มนั้น ต้องบอกว่า หากเก็บในรูปภาษี e-Service ไม่สามารถเก็บได้ เนื่องจากแพลตฟอร์มดังกล่าวไม่มีบริการเกิดขึ้นในประเทศไทย รายได้ที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้ในประเทศไทย
อย่างไรก็ดี การสั่งซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มดังกล่าว มีการนำเข้ามาในประเทศไทย จึงต้องเสียภาษี VAT นำเข้า 7% เช่นเดียวกับการซื้อสินค้าและบริการทั่วไป แต่หน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดเก็บ จะเป็นกรมศุลกากรที่จัดเก็บแทนกรมสรรพากร ซึ่งหากเป็นสินค้าที่มูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ปัจจุบันรัฐบาลก็มีนโยบายให้จัดเก็บภาษี VAT แล้ว จากในอดีตที่ได้รับยกเว้น ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการในประเทศ
“การเก็บ VAT นำเข้าสินค้ามูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาทนั้น หากสั่งซื้อจากต่างประเทศ แล้วนำเข้ามาผ่านไปรษณีย์ ผู้ซื้อสินค้าก็จะต้องจ่าย VAT ดังกล่าว โดยทางไปรษณีย์จะมีใบแจ้งให้เสียภาษี ซึ่งปัจจุบันมีการอำนวยความสะดวกไปจ่ายกับไปรษณีย์ได้ทันที หรือหากได้รับใบแจ้งก็สามารถไปจ่ายที่เคาน์เตอร์ธนาคารได้ ส่วนการสั่งซื้อผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ทางตัวแทนออกของ หรือชิปปิ้งจะเป็นผู้จ่าย โดยแพลตฟอร์มจะคิด VAT รวมไปในราคาสินค้าแล้ว ทำให้ผู้ซื้อไม่ต้องจ่าย VAT เอง” แหล่งข่าวกล่าว
ขณะที่นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรมศุลกากรได้ดำเนินการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท มาตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค. 2567 โดยหลังจากผ่านไปประมาณ 1 เดือน สามารถจัดเก็บภาษีได้ประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งการเก็บภาษีดังกล่าวรวมถึงแพลตฟอร์ม “Temu” แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่เป็นกระแสอยู่ในปัจจุบันด้วย

“ตอนนี้เพิ่งเก็บมาได้เดือนเดียว ซึ่งได้ประมาณ 100 ล้านบาท ที่ตัวเลขไม่สูงนักก็เพราะว่าจัดเก็บจากสินค้าที่มูลค่าต่ำไม่เกิน 1,500 บาท” อธิบดีกรมศุลกากรกล่าว
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรได้ส่งหนังสือแจ้งไปยังแพลตฟอร์ม Temu แล้ว อย่างไรก็ดี ปัจจุบันสถานะของ Temu ยังไม่เข้าข่ายที่ต้องจด VAT เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่ขายสินค้าจากต่างประเทศโดยตรง ไม่มีผู้ประกอบการคนไทยเข้าไปเป็นสื่อกลางในการใช้บริการ
“ตอนนี้ยังไม่เข้าข่าย เพราะยังไม่ได้ Provide Service ให้กับผู้ขายไทย ยังไม่มีผู้ขายไทยบนแพลตฟอร์ม แต่สินค้าที่สั่งเข้ามา เวลาเข้าเมืองไทย กรมศุลกากรจะเก็บ VAT สินค้านำเข้าให้ อย่างไรก็ดี กรมสรรพากรก็จะติดตามว่า ถ้ามี Service ให้กับผู้ขายไทย ก็จะเข้าข่ายที่ต้องเก็บ”
ก่อนหน้านี้ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า Temu ใช้โมเดลธุรกิจแบบ B to C โดยนำสินค้าจากโรงงานในจีนนับแสนแห่งมาขายตรงสู่ผู้บริโภค ตัดตอนพ่อค้าคนกลางออก ทำให้มีจุดแข็งในด้านราคาที่ถูกกว่าระบบการค้าทั่วไปเฉลี่ย 30-50% และสามารถส่งสินค้าได้รวดเร็ว มีการรับประกันความพึงพอใจ รับเคลมภายใน 90 วัน หากลูกค้าไม่พอใจในสินค้า
ส่งผลให้ Temu ที่เปิดตัวมาปีเศษสามารถชิงมาร์เก็ตแชร์ไปจาก Amazon ซึ่งเคยเป็นเบอร์หนึ่งในสหรัฐ มีมาร์เก็ตแชร์ 40% ได้ ปัจจุบันมีคนสหรัฐหันมาใช้ Temu วันละ 50 ล้านคน เทียบกับ Amazon เสียเปรียบมาก เพราะต้นทุนสูง มีจ้างคน มีศูนย์กระจายสินค้า แต่ Temu ใช้ Outsource ทั้งหมด
“ความได้เปรียบของ Temu หลักคือ การนำสินค้าจากโรงงานมาขายตรงถึงผู้บริโภค โดยบอกว่าตั้งใจจะช่วยเอสเอ็มอีและผู้ผลิตสินค้าจีนให้ขยายตลาดได้ โดยไม่อาศัยแบรนด์”