
โจทย์ใหญ่รัฐบาล “แพทองธาร” เศรษฐกิจไทยโตต่ำสุดในอาเซียน สภาพัฒน์เปิดไส้ในลงทุนไตรมาส 2/67 สัญญาณอันตราย ลงทุนภาคเอกชนหดตัว 6.8% ติดลบครั้งแรกในรอบ 10 ไตรมาส กูรูนักเศรษฐศาสตร์หวั่นเกิดเป็น “วงจรอุบาทว์” ฉุดเศรษฐกิจซึมลึก-ซึมยาว “ไทยพาณิชย์-ซีไอเอ็มบี ไทย” แนะเร่งออกมาตรการฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุนไทย หนุนใช้ทั้งมาตรการภาษี-อุดหนุน “KKP” ชี้โจทย์รัฐบาลเร่งฟื้นเศรษฐกิจในระยะสั้น-ดึงดูดลงทุนต่างประเทศ เพราะบุญเก่าหมดแล้ว-ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ BOI ชง 3 ข้อเสนอรัฐบาลใหม่ขับเคลื่อนลงทุน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2567 ระบุว่าขยายตัว 2.3% เร่งขึ้นจากการเติบโต 1.6% ในไตรมาสแรกของปี 2567 ซึ่งจากข้อมูลจะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำสุดในอาเซียน โดยในไตรมาส 2 ปีนี้เวียดนามยังคงมีการเติบโตสูงสุด 6.93% ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ 6.30% มาเลเซีย 5.90% อินโดนีเซีย 5.05% และสิงคโปร์ 2.9%
เปิดไส้ในการลงทุนหดตัว
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 ปี 2567 ขยายตัว 2.3% ต่อปี และเติบโต 0.8% เทียบจากไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) ขณะที่ประมาณการทั้งปี เศรษฐกิจมีแนวโน้มจะขยายตัวได้ 2.3-2.8% ค่ากลางอยู่ที่ 2.5%
โดยปัจจัยที่น่ากังวลคือ การลงทุนรวมหดตัว -6.2% ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 จากการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลง -6.8% ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 10 ไตรมาส ตามการลดลงของการลงทุนในหมวดเครื่องมือ เป็นผลจากการลงทุนในหมวดยานยนต์ลดลง 22.5% ต่อเนื่องจากการลงทุนลดลง 19.5% ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนที่ขยายตัวเพียง 0.4%
นอกจากนี้ในหมวดการก่อสร้าง การลงทุนก็ลดลงครั้งแรกในรอบ 8 ไตรมาส โดยหดตัว 2.2% เทียบกับการขยายตัว 5.2% ในไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้เป็นผลจากการลดลงของการก่อสร้างที่อยู่อาศัย 7.4%
สืบเนื่องจากการชะลอตัวของสินเชื่อครัวเรือน และการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้นของสถาบันการเงิน ประกอบกับราคาที่อยู่อาศัยใหม่ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่การลงทุนภาครัฐปรับตัวลดลง 4.3% โดยการลงทุนของรัฐบาลลดลง 12.8% ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัว 10.1%
อสังหาฯชะลอตัวหนัก
“การลงทุนที่หดตัวในไตรมาสที่ 2 เกิดจากการชะลอตัวของการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ นอกจากในเรื่องของเครื่องมือเครื่องจักรที่มีการลงทุนไปไตรมาสก่อนหน้านี้ ยังมาจากทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ทำให้ภาคการผลิตได้รับผลกระทบ และการนำเข้าสินค้าประเภทวัตถุดิบลดลง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยในเรื่องของการลงทุนของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน โดยลดลงกว่า 50% ซึ่งมาจากกำลังซื้อของประชาชนที่ลดลงมาก เนื่องจากขาดสภาพคล่องในการใช้จ่าย รวมทั้งความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์ที่มีมากขึ้น”
นายดนุชากล่าวว่า การลงทุนภาคเอกชนส่วนใหญ่จะอยู่ที่ภาคอสังหาฯ ซึ่งตอนนี้สถานการณ์ไม่ดี กําลังซื้อไม่ค่อยมี ก็เป็นเรื่องที่ภาคเอกชนต้องไปเร่งดู อย่างกลุ่มที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ไปแล้ว ก็ต้องเร่งการลงทุนให้เกิดขึ้นจริง
สภาพัฒน์หนุนรัฐเร่งลงทุน
ทั้งนี้ สศช.คาดว่าการลงทุนของเอกชนทั้งปีจะขยายตัวได้ประมาณ 0.3% ปรับลดลงจากคาดการณ์เดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.2% ส่วนการลงทุนภาครัฐ คาดว่าทั้งปีจะหดตัว 0.7% จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัวจากปีก่อน 1.8% โดยคาดว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ การเบิกจ่ายงบฯลงทุนของภาครัฐจะเร่งตัวขึ้นกว่าในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากมีการทำสัญญาผูกพันรายจ่ายลงทุนไว้แล้ว
“การลงทุนภาครัฐติดลบไป 4.3% ด้วยสภาพขณะนี้ภาครัฐก็ต้องมีบทบาทในการที่จะเร่งการลงทุนอัดเงินเข้าไป จึงต้องเร่งสิ่งที่ทำได้ตอนนี้ก็คือเร่งเบิกจ่ายงบฯก่อสร้างทั้งหลาย ซึ่งช่วงนี้สัญญาโครงการใหม่ต่าง ๆ ก็ผูกพันสัญญาแล้ว ก็ต้องเร่งเบิกจ่าย ล่าสุดการเบิกจ่ายงบฯลงทุนออกไปได้แล้วประมาณ 1 แสนล้านบาท ก็น่าจะดีขึ้น รวมถึงจะมีแรงหนุนจากงบประมาณปี 2568 ที่จะเริ่มตั้งแต่เดือน ต.ค.อีก”
EIC ลงทุนทรุด-วงจรอุบาทว์
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การลงทุนเอกชนในไตรมาส 2 ที่ออกมาหดตัว 6.8 % เป็นเรื่องที่น่าห่วง ซึ่งหากดูไส้ในพบว่า เครื่องจักรและอุปกรณ์ลดลงค่อนข้างมาก หมายถึง “การผลิต” โดยสิ่งที่เกิดขึ้นคือ การผลิตของประเทศลดลงต่อเนื่อง แม้ว่าตัวเลขไม่ได้ปรับลดลงมาก แต่จะเห็นว่าการผลิตขยายตัวเพียงการผลิตภายในประเทศ แต่การผลิตเพื่อการส่งออกลดลงค่อนข้างมาก ซึ่งมาจากไทยเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง
“การผลิตที่ปรับลดลง สะท้อนไปยังการลงทุนที่ติดลบ และเกิดเป็นวงจรอุบาทว์ สืบเนื่องไปยังการจ้างงานลดลง ทำให้กำลังซื้อลดลง ส่งผลให้สินค้าก็ขายได้น้อยลง วนกลับไปที่กำลังการผลิตน้อยลง การลงทุนใหม่ก็น้อยลงตาม”
แนะกระตุ้นลงทุนเพิ่มรายได้
ดร.สมประวิณกล่าวว่า สิ่งที่ควรทำและมีความจำเป็น คือต้องเร่งประคอง และกระตุ้นการลงทุนมากกว่าการบริโภค เพราะการลงทุนยังคงติดลบต่อเนื่อง เราไม่ต้องการการบริโภคที่เพิ่มขึ้น แต่ต้องการรายได้ที่เพิ่มขึ้น ที่มาจากการจ้างงานมากขึ้น ซึ่งก็มาจากการผลิตและการลงทุนที่เพิ่มขึ้น
ภาครัฐควรเร่งดำเนินการ ทั้งมาตรการระยะสั้น คือ 1.มาตรการด้านภาษี ยกเว้นภาษี เพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการลงทุน 2.มาตรการอุดหนุน อาจจะใช้เม็ดเงินในการช่วยเหลือในผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุน และ 3.สร้างความเชื่อมั่น
ขณะที่มาตรการระยะยาวก็ต้องดำเนินการ มีอยู่ 3 ประเด็น ได้แก่ 1.ภายในประเทศ จะต้องมีการพัฒนาความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) แก้ปัญหาความซ้ำซ้อน และต้องขออนุญาตหลายหน่วยงานให้เป็นแห่งเดียว 2.นโยบายของแต่ละอุตสาหกรรมควรจะมีความชัดเจน และมีกลยุทธ์ที่แตกต่างกัน และ 3.การมีนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ส่งเสริมการเชื่อมกับตลาดโลก เพื่อให้ไทยไปอยู่บนซัพพลายเชนของโลก
“ต้องทำทั้งมาตรการระยะสั้น ควบคู่ไปพร้อมกับมาตรการระยะยาวไปด้วยเลย ซึ่งในระยะข้างหน้า 2 ปี อาจจะช่วยให้ภาคการลงทุนปรับดีขึ้น ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย จะเห็นว่ากรณีของญี่ปุ่นใช้เวลาในการปรับตัวและปฏิรูป 3 ปี เพราะเห็นว่า Landscape โลกเปลี่ยนไป จึงใช้จังหวะนี้ฉวยโอกาสในการปรับเปลี่ยน”
หวั่นลงทุนซึมยาว-จี้ออกมาตรการ
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตัวเลขการลงทุนเอกชนที่ออกมาหดตัว -6.8% ค่อนข้างน่าเป็นห่วง และถ้าดูตัวเลขไตรมาสต่อไตรมาส พบว่าติดลบแรงถึง -9.6% สะท้อนว่าภาคเอกชนมีความลังเลและชะลอการลงทุนต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับการลงทุนภาครัฐที่แม้ว่าจะหดตัว แต่เริ่มเห็นสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างเร็ว หลังงบประมาณออกมา
“ลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวนั้น หมวดที่ชะลอตัวรุนแรงจะเป็นหมวด ‘เครื่องจักร’ สะท้อนว่า ภาคเอกชนไม่มีการลงทุนซื้อเครื่องจักรเพื่อผลิตสินค้า หรือขยับไลน์การผลิตเพิ่มเติม โดยเน้นใช้สินค้าคงคลังเก่าที่มีอยู่ก่อน”
ดังนั้น หากภาครัฐจะเร่งแก้ในส่วนนี้ คือ 1.จะต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน ซึ่งไม่เพียงเฉพาะแค่นักลงทุนรายใหญ่ แต่จะเป็นธุรกิจเอสเอ็มอีระดับรายกลางและล่าง เนื่องจากกลุ่มนี้มีความกังวลในเรื่องของตลาดโลกและผลกระทบจากสินค้าจีน ทำให้เกิดความลังเลในการลงทุนใหม่เพิ่มเติม
2.การเข้าถึงแหล่งเงินทุน นอกจากจะมีการอัดฉีดเม็ดเงินในการเข้าถึงผู้ประกอบการระดับกลางและล่าง อาจจะต้องทำเป็นมาตรการในเชิงนโยบายสร้างแรงจูงใจในการเปลี่ยนเทคโนโลยี เพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาว ไม่ได้แค่เติบโตในระยะสั้นเพียง 2-3% เท่านั้น
เร่งฟื้นเชื่อมั่นนักลงทุนไทย
ดร.อมรเทพกล่าวว่า นอกจากหมวดเครื่องจักรที่หดตัวหนัก จะเห็นว่าหมวดการก่อสร้างหดตัวต่อเนื่องยาวนาน ทั้งตัวเลข YOY และ QOQ ซึ่งหากไม่มีมาตรการหรือสร้างแรงจูงใจ จะเห็นการซึมที่ยาวนานและลงลึกมาก ซึ่งจะทำให้ระบบมีปัญหา และกระทบเชื่อมไปยังสายป่านธุรกิจอื่น จนกระทบต่อภาคการเงินได้ ดังนั้นวันนี้จะต้องกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาการเข้าไม่ถึงสินเชื่อในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ โดยมาตรการกระตุ้นจะต้องไม่กระทบเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล
“การดึงดูดการลงทุนต่างชาติถือเป็นเรื่องของระยะยาว แต่วันนี้ภาครัฐจะต้องเร่งความเชื่อมั่นในนักลงทุนไทยด้วย โดยขับเคลื่อนไปพร้อมกับงบประมาณภาครัฐและมาตรการกระตุ้นต่าง ๆ เพราะมองสัญญาณการลงทุนในไตรมาสที่ 3 จะยังคงเห็นการติดลบ หากไม่มีแรงจูงใจ หรือมาตรการที่เป็น Quick Win โดยใส่เม็ดเงินในกระเป๋าประชาชนเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบ เพราะหากมัวแต่รอดิจิทัลวอลเลต เศรษฐกิจอาจจะลงลึกกว่านี้ ซึ่งแม้ว่าเศรษฐกิจวันนี้จะขยายตัวดีกว่าคาด 2.3% แต่ยังคงโตต่ำกว่าเพื่อนบ้านในอาเซียน”
KKP ชี้ควรลงทุนเพื่ออนาคต
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า หากดูไส้ในการลงทุนที่ติดลบในไตรมาส 2 มาจากลงทุนภาครัฐที่ยังหดตัวค่อนข้างมาก ซึ่งมาจากงบประมาณที่ล่าช้า แม้จะเริ่มเบิกจ่ายได้แล้ว แต่ก็ยังช้าอยู่ จึงเป็นการบ้านของรัฐบาลที่ต้องเร่งในช่วงที่เหลือของปี โดยส่วนนี้รัฐสามารถทำได้เลย เพื่อไม่ให้เป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจ
ส่วนลงทุนเอกชนที่หดตัวมาก ไม่ค่อยน่าแปลกใจ เพราะตัวเลขที่ออกมานับรวมการก่อสร้างและการลงทุนเพื่อซื้ออสังหาฯ ซึ่งมาจากประเด็นที่ธนาคารไม่ปล่อยกู้ เพราะกังวลหนี้เสียด้วย ตรงนี้คงต้องไปแก้กัน
ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า จากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมา สรุปได้ 3 ประเด็น คือ 1.การท่องเที่ยวและบริการยังเป็นพระเอกหลัก 2.ภาคการผลิตที่เคยแย่มาตลอด ฟื้นมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส นับจากไตรมาส 4 ปี 2565 เป็นสัญญาณว่าผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และ 3.การบริโภคเริ่มชะลอตัว ซึ่งโจทย์ของรัฐบาล “แพทองธาร” ก็คือ 1.ต้องสร้างความมั่นใจให้กับเศรษฐกิจในระยะสั้น 2.ต้องดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งสำคัญมาก เพราะบุญเก่าของประเทศไทยหายไปแล้ว และ 3.ต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ
“ถ้าจะช่วยพยุงเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งคงต้องกระตุ้นระยะสั้นด้วย เพราะดูทิศทางเศรษฐกิจแล้วเริ่มแผ่วจริง แต่อีกส่วนก็ต้องแก้เรื่องความสามารถในการแข่งขันในภาคการผลิต ซึ่งการมีมาตรการระยะยาว ก็จะดีกว่าการเอาเงินมาแจก การลงทุนอาจจะเห็นผลช้า กว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจต้องใช้เวลา แต่ต้องทำเพื่ออนาคต การดึงดูดการลงทุนต่างประเทศสำคัญ แต่ก็ต้องดูว่าทำไมคนที่เราไปชวนมาลงทุน เขาไปมาเลเซียกันหมด ซึ่งถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ตอนนี้เราโตต่ำสุดในอาเซียนก็อาจจะเป็นอย่างนี้ไปอีกเป็นสิบปี”
จับตาลงทุนไตรมาส 3
นายวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า เศรษฐกิจไตรมาส 2 ที่ออกมาไม่ได้แย่ แต่การลงทุนภาคเอกชนติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ไตรมาส จึงต้องมอนิเตอร์ต่อไปว่าจะพลิกกลับมาได้หรือไม่ เพราะสะท้อนว่าภาคเอกชนอาจจะไม่มั่นใจกับภาพเศรษฐกิจ หรือจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน หรือมีปัญหาเรื่องของโครงสร้างอุตสาหกรรม ที่ทำให้ภาคการลงทุนชะลอการลงทุนออกไป
“ถ้าไม่กลับมาในระยะยาวจะค่อนข้างเป็นประเด็นที่น่ากังวล แต่คงอยู่ที่ภาพใหญ่ของเศรษฐกิจด้วยว่า กำลังซื้อในประเทศดีขึ้นหรือไม่ และภาคส่งออกอย่างสินค้าที่ส่งออกได้และตอนนี้เริ่มแผ่วจะมีการปรับตัวได้เร็วแค่ไหน ฉะนั้นคงต้องพิจารณาในไตรมาส 3 ว่าการลงทุนภาคเอกชนจะยังติดลบหรือไม่ ถ้าเป็นลบน้อยลง ก็ยังพอเห็นเทรนด์ที่ดูฟื้นตัวขึ้นมาได้บ้าง และถ้ากลับเป็นบวกได้ก็ถือว่าดี แต่ถ้าภาพเป็นลบที่แย่กว่าเดิม จะยิ่งเป็นที่น่ากังวล”
ทำการเมืองให้นิ่ง-นโยบายชัด
แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินขนาดใหญ่แห่งหนึ่งกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การลงทุนเอกชนที่หดตัวสอดคล้องกับภาพรวมสินเชื่อธุรกิจที่ค่อนข้างทรงตัว ส่วนหนึ่งมาจากลูกค้าชะลอการตัดสินใจลงทุนใหม่ เพื่อรอดูสถานการณ์ (Wait & See) ทั้งภาพรวมเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ปัจจัยทางด้านต้นทุนอัตราดอกเบี้ย ปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมือง และปัจจัยภายนอกประเทศ เช่น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเลือกตั้งในประเทศสำคัญที่จะมีผลต่อนโยบายการค้าและลงทุน เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ปัจจัยภายนอกไม่สามารถควบคุมได้ แต่ปัจจัยภายในประเทศจะต้องจะมีนโยบายที่ค่อนข้างเสถียรและชัดเจน (Stable) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนและส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในระยะยาว เนื่องจากนักลงทุนจะตัดสินใจลงทุนจะพิจารณาในระยะยาวมากกว่ามองระยะสั้น โดยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษียังมีความจำเป็นอยู่ เพราะไทยยังคงต้องแข่งขันกับต่างประเทศในการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ แต่มาตรการอาจจะเน้นให้นักลงทุนอยู่ระยะยาว และเกิดการลงทุนต่อเนื่อง เพื่อสร้างการเติบโตระยะยาว ไม่ได้เข้ามาลงทุนใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีครบ และย้ายการลงทุนไปประเทศอื่นต่อ
“สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ เราต้องทำให้การเมืองนิ่ง เพราะการเมืองลิงก์กับเศรษฐกิจ จึงต้องทำให้ Stable ที่สุด เพราะนักลงทุนมองระยะยาว นอกจากนี้ เราต้องสร้างให้การลงทุนของเราให้ดูเป็นมิตร ลงทุนง่าย มีนโยบายชัดเจน ทั้งการลงทุนและสิทธิประโยชน์ ขณะเดียวกัน เราก็ต้องเน้นนักลงทุนที่มี Value และแบ่งปันความรู้ให้เรา ไม่ได้ดูเฉพาะแค่เม็ดเงินลงทุน แต่มาเอาค่าแรงราคาถูกและก็ย้ายกลับไป ดังนั้นไทยจะต้องสร้างความเชื่อมั่นในประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ให้นิ่งก่อน”
BOI ยืน 3 ข้อเสนอรัฐบาลใหม่
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บรรยากาศการลงทุนในครึ่งหลังของปี 2567 เชื่อว่าจะยังดีเพราะปัจจัยบวกมาจากการเคลื่อนย้ายการลงทุนและการปรับซัพพลายเชนทั่วโลก ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้เห็นตั้งแต่ช่วงครึ่งปีแรก จากยอดขอรับการส่งเสริม 1,412 โครงการ เงินลงทุน 458,359 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 35%
โดยเฉพาะการออกบัตรส่งเสริมซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงการลงทุนจริงมากที่สุดอยู่ที่ 1,332 โครงการ เงินลงทุนรวม 438,733 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 87% ซึ่งจะนำไปสู่การลงทุนจริงในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
สำหรับข้อเสนอที่เตรียมยื่นให้รัฐบาลชุดใหม่ 3 เรื่อง คือ 1.ขอให้เน้นการพัฒนา Ecosystem เพื่อสร้างขีดความสามารถในการดึงดูดการลงทุน และเตรียมพร้อมรองรับการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ โดยเฉพาะ 5 เรื่องสำคัญ การจัดทำกลไกพลังงานสะอาดในราคาที่เหมาะสม การเร่งขยาย FTA เปิดตลาดการค้-การลงทุน โดยเฉพาะตลาด EU การเตรียมบุคลากร (Talent) รองรับการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ การปฏิรูปกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค เพื่อสร้างความสะดวกในการประกอบธุรกิจและอยู่อาศัย และการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมใหม่ ๆ
2.เรื่องการดึงการลงทุนเชิงรุก โดยเน้นอุตสาหกรรมที่จะเป็นฐานการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ใน 7 สาขา ประกอบด้วย อุตสาหกรรมต้นน้ำสำคัญ 2 สาขา คือ เซมิคอนดักเตอร์ และแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ 5 สาขา คือ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพและพลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทและชิ้นส่วนสำคัญ อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ดิจิทัล โดยเฉพาะดาต้าเซ็นเตอร์และบริการคลาวด์ กิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศและศูนย์กลางบุคลากรทักษะสูง (Talent) ของภูมิภาค
3.ขอให้ออกมาตรการสนับสนุนการพัฒนาผู้ประกอบการไทย ให้ยกระดับประสิทธิภาพและมาตรฐานโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ สร้างโอกาสการร่วมทุน และผลักดันให้เข้าไปอยู่ใน Supply Chain ของอุตสาหกรรมใหม่