
ครึ่งทางของปี 2567 ที่ผ่านมา ภาพเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย ดูจะไม่ได้สดใสนัก สะท้อนผ่านตลาดหุ้นไทยที่ดัชนีติดแหง็กอยู่ที่ระดับ 1,300 จุดมาหลายเดือน แต่ถึงขณะนี้ SET Index ดีดตัวขึ้นไปยืนเหนือ 1,400 จุดได้แล้ว หมุดหมายต่อไปคือ 1,500 จุด แต่ปัจจัยต่าง ๆ จะเอื้อมากแค่ไหน ยังต้องติดตาม
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า โลกกำลังเข้าสู่ช่วงใหม่ของเศรษฐกิจ (New Phase) ที่จะอยู่กับเราไปอีกประมาณ 2-3 ปี ซึ่งในเฟสนี้จะต้องมาปรับวิธีการลงทุนและคิดกลยุทธ์ใหม่อีกรอบ
โดยสิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ สงครามกับเงินเฟ้อ ใกล้จะจบลงเต็มทีแล้ว ทั้งเงินเฟ้อในยุโรป เงินเฟ้อในอังกฤษ และในสหรัฐ ที่ขณะนี้เริ่มเห็นบางประเทศมีการลดดอกเบี้ยกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงธนาคารกลางแคนาดา
ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะมีประชุมในสัปดาห์หน้า ทั้งหมดนี้จะทำให้บรรยากาศการลงทุนในตลาดโลกเปลี่ยนไป เพราะทุกประเทศจะลดดอกเบี้ยลงอย่างพร้อมเพรียงกัน
“ในส่วนของเฟด ที่จะประชุมในสัปดาห์หน้า ทุกคนก็คาดหมายว่าจะมีการลดดอกเบี้ย และที่สำคัญ ก็คือ เฟดจะมีการประกาศลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง เป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง ถึง 2 ปี ซึ่งสิ่งที่กำลังลุ้นกันก็คือ จะลงเยอะ หรือลงแค่ 0.25% ทุกไตรมาส ตั้งแต่นี้ต่อไป
ทั้งหมดนี้จะมาถึงการสลับกันลดดอกเบี้ยในช่วง 2 ปีข้างหน้า ก็จะทำให้มู้ดของตลาดต่าง ๆ ดี แล้วก็ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และจะช่วยคลี่คลายปัญหาต่าง ๆ ซึ่งจะนำมาสู่เฟสใหม่ คือ การฟื้นตัวพร้อมกันทั่วโลก”
ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้ดัชนี PMI (ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ) ของหลาย ๆ ประเทศ ได้พ้นจุดต่ำสุดแล้ว และหลังจากนี้จะเป็นการฟื้นตัว โดยตลาดโลกกำลังฟื้น กำลังซื้อกำลังกลับมา ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของภาคการส่งออกของหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย
“ตอนนี้ เครื่องยนต์การส่งออกกำลังติด และจะกลายมาเป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทุกประเทศในช่วงถัดไป”
ส่วนข้อกังวลในช่วง “New Phase” สำหรับนักลงทุนนั้น ก็คือ 1.การลดดอกเบี้ยครั้งนี้ จะเป็นการลดดอกเบี้ยท่ามกลางสภาพคล่องจำนวนมากในตลาด ที่มีประมาณ 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสินทรัพย์ต่าง ๆ จะถูกแย่งซื้อ ทำให้ราคาดีเป็นพิเศษ และจะเป็นฟองสบู่ ซึ่งจะเป็นความท้าทายของเฟดในการตัดสินใจลดดอกเบี้ย ทั้งนี้ อาจจะไม่ใช่ในช่วงแรก ๆ ของการลดดอกเบี้ย แต่เมื่อลดไประยะหนึ่งจะเห็นผลกระทบเหล่านี้
2.ราคาสินทรัพย์ โดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยี ราคาทองคำ และ อนาคตของคริปโตเคอร์เรนซีจะเป็นอย่างไรต่อไป
และ 3.ความผันผวนของตลาดการเงินโลก อัตราแลกเปลี่ยนจะเป็นอย่างไร หลังจากที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งที่ผ่านมา ก็จะเห็นค่าเงินบาทที่ผันผวนอย่างรวดเร็ว จากระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่ามาอยู่แถวประมาณ 33 บาทต่อดอลลาร์
“ผมคิดว่า เศรษฐกิจไทย โดยรวมก็สามารถปรับตัวไปได้ ผมคิดว่าเราผ่านจุดต่ำสุดมาสักพักแล้ว ส่งออกที่เคยลงเยอะ ๆ ก็กลับดีขึ้นมาเรื่อย ๆ ขณะที่ตัวท่องเที่ยวก็ดีวันดีคืน แล้วก็การลงทุนก็กลับมาอีกส่วนหนึ่ง ขณะที่ PMI ที่เคยติดลบ ๆ ก็เริ่มกลับมาเป็นบวก
จะเห็นว่าเราผ่านจุดต่ำสุด แล้วเข้าสู่ช่วงการฟื้นตัว ถ้าดูมูลค่าการส่งออกล่าสุดโต 15% ก็สอดรับกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก สัญญาณเหล่านี้สะท้อนว่าเมืองไทยก็ได้รับอานิสงส์ เหมือนประเทศอื่น ๆ แล้วเงินเฟ้อก็ไม่เป็นปัญหา ส่วนดอกเบี้ยก็รอทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)”
สำหรับภาคการท่องเที่ยว คาดว่าปลายปีจะเห็นนักท่องเที่ยวเข้ามาระดับใกล้ ๆ 4 ล้านคนต่อเดือน ในช่วงเดือน ธ.ค. 2567-ม.ค. 2568 หรืออาจจะทะลุไปอีกก็ได้ ซึ่งแปลว่าประเทศไทยได้จบเรื่องโควิดแล้วอย่างแท้จริง
ขณะที่รัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีด้วย รวมถึงการลงทุนจากต่างประเทศที่เริ่มลงทุน ทั้งหมดนี้จะทำให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมไปได้ โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 นี้ น่าจะขยายตัวได้ 3% บวก/ลบ
ในส่วนของตลาดหุ้นไทย จะมีกองทุนรวมวายุภักษ์ ที่เข้ามาซัพพอร์ตตลาด ซึ่งเงื่อนไขการลงทุนเชื่อว่าเป็นที่ถูกใจรายย่อย เพราะมีการให้ผลตอบแทนที่ดีไม่แพ้เงินฝาก รวมถึงประกันเงินต้นด้วย นอกจากนี้ ยังมีกองทุน Thai ESG ที่ปรับเงื่อนไข ก็จะทำให้มีเม็ดเงินอีกส่วนหนึ่งมาซัพพอร์ตตลาด
“สองส่วนนี้รวมกัน จะมีเม็ดเงินมาซัพพอร์ตตลาดประมาณ 2 แสนล้านบาท ซึ่งน่าจะเป็นเม็ดเงินที่เข้ามาช่วยพยุงตลาดในช่วงถัดไป แต่ผมคิดว่าโดยรวม เรื่องสถานการณ์การเมืองที่คลี่คลายน่าจะเป็นตัวทำให้ทุกคนมั่นใจมากขึ้น”
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index : ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 132.51 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง”
โดยนักลงทุนมองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมา คือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และสัญญาณบวกจากความชัดเจนของการเมืองในประเทศ
ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า โจทย์ที่สำคัญตอนนี้ คือ เศรษฐกิจข้างบนฟื้น แต่จะทำอย่างไรให้ข้างล่างฟื้นขึ้นมาได้ เพราะแม้ว่าปีนี้เศรษฐกิจอาจจะโตได้ 3% บวก/ลบ แต่ฐานรากยังมีปัญหา ต่างจังหวัดกำลังซื้อไม่ดี มีหนี้สูง และที่สำคัญกว่า คือ เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มากขึ้น ทั้งสินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อบ้าน
ดังนั้น การกระตุ้นด้วยการแจกเงิน 10,000 บาทให้กลุ่มเปราะบาง ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็สามารถทำได้ เพื่อหมุนเศรษฐกิจในช่วงสั้น ๆ ส่วนระยะยาวก็อยากให้รัฐบาลเดินหน้าโครงการลงทุนใหญ่ ๆ ที่มีการเตรียมไว้แล้ว อย่างเช่น EEC ท่าเรือ สนามบิน รถไฟ รถไฟทางคู่ รถไฟใต้ดิน เป็นต้น เพราะการเริ่มโครงการใหม่ต้องใช้เวลา 2-3 ปี
นอกจากนี้ ก็อยากให้เปลี่ยนประเทศไทยให้ไปสู่การเป็นประเทศที่พึ่งพาเทคโนโลยีให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยโตได้ถึงระดับ 4.5%