
เงินบาทแข็งค่าที่สุดในรอบ 19 เดือน ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าต่อเนื่อง ตามราคาทองในตลาดโลกทำราคาสูงสุดเเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ผู้ว่าการ ธปท.ชี้ ไทยไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยตามธนาคารกลางสหรัฐ
วันที่ 23 กันยายน 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 23 กันยายน 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/9) ที่ระดับ 32.94/95 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (20/9) ที่ระดับ 33.05/06 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
โดยค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าต่อเนื่อง ตามราคาทองในตลาดโลกทำราคาสูงสุดเเป็นประวัติการณ์ จากการคาดการณ์ ประมาณการล่าสุดของเฟดสะท้อนว่าเฟดอาจจะลดดอกเบี้ยลงอีก 50bp สู่ 4.25-4.50% ในช่วง ปลายปีนี้ 100bp ในปี 2568 และอีก 50bp ในปี 2569 สู่ 2.75-3.00% ซึ่งจะถือเป็นจุดต่ำสุดของวัฏจักร
ขณะที่ตลาดคาดว่าดอกเบี้ยเฟดจะแตะระดับ 2.85% ช่วงสิ้นปี 2568 ซึ่งในส่วนของ FedWatch Tool ของ CME บ่งชี้ว่าตลาดคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างน้อย 0.25% ในเดือน พ.ย. และคาดว่ามีโอกาส 48.9% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50%
นอกจากนี้ นายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐและผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันเผยตนเองจะไม่เข้าร่วมการโต้วาทีเป็นครั้งที่ 2 ก่อนที่ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐจะเปิดฉากขึ้นในเดือน พ.ย.นี้ ในขณะที่นางคามาลา แฮร์ริส ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครต ได้ตอบรับคำเชิญเข้าร่วมการโต้วาทีครั้งที่ 2 กับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 23 ต.ค.นี้
ส่วนสถานการณ์ภายในสัปดาห์นี้ นักลงทุนจะติดตามความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่เฟดและเงินเฟ้อ PCE เดือน ส.ค.ของสหรัฐ เพื่อประเมินทิศทางดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐต่อไป
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ผู้ว่าการ ธปท.ยอมรับว่าเงินบาทแข็งค่าค่อนข้างเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่กระทบกับทั่วโลก แต่ในไทยนั้นมีปัจจัยเฉพาะเพิ่มเข้ามา คือราคาทองคำ ซึ่งเงินบาทมีความสัมพันธ์กับราคาทองคำมากกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาค รวมทั้งการเมืองในประเทศที่มีความชัดเจนมากขึ้น
ผู้ว่าการ ธปท.ชี้ ไม่จำเป็นว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ธปท.จะต้องลดดอกเบี้ยตามเสมอไป เพราะประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศที่ตรึงค่าเงินไว้กับดอลลาร์สหรัฐเหมือนกับในบางประเทศ ทั้งนี้ การปรับลดดอกเบี้ยจะต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย
ซึ่ง 3 ปัจจัยหลักที่ กนง.ใช้ประกอบการตัดสินใจ คือแนวโน้มเศรษฐกิจ, อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งปัจจุบันปัจจัยทั้ง 3 นี้ ยังเป็นไปตามมุมมองเดิมที่เคยประเมินไว้ และยังยึดหลัก นโยบายการเงินที่เน้นเป้าหมายเป็นหลัก (Outlook Dependent) มากกว่า นโยบายการเงินที่เน้นตัวเลขทางเศรษฐกิจเป็นหลัก (Data Dependent) แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้ยึดติด หากข้อมูลเปลี่ยนไป ก็พร้อมที่จะปรับนโยบายดอกเบี้ย
ทั้งนี้ในระหว่างวันบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 32.87-33.02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.98/99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/9) ที่ระดับ 1.1159/60 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (20/9) ที่ระดับ 1.1162/63 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยนักลงทุนยังขานรับการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมากถึง 0.50% ในการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนี้ในระหว่างวัน ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.1107-1.1160 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1106/05 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/9) ที่ระดับ 144.36/37 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (20/9) ที่ระดับ 143.84/85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25% ในการประชุมวันที่ 20/8 ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์
อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า BOJ อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ ภายในวันปริมาณการซื้อขายในภูมิภาคเอเชียค่อนข้างเงียบเนื่องจากตลาดญี่ปุ่นหยุดทำการ แต่เงินเยนอ่อนค่าลง โดยปรับตัวลงจากระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 143.60-144.38 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 143.60/61 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีกิจกรรมเศรษฐกิจทั่วประเทศเดือน ส.ค.จากเฟดชิคาโก (23/9), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือน ก.ย.จาก S&P Global (23/9), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นเดือน ก.ย. จาก S&P, ราคาบ้านเดือน ก.ค. จากเอสแอนด์พี/เคส-ชิลเลอร์ (24/9), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย. จาก Conference Board (24/9), ยอดขายบ้านใหม่เดือน ส.ค. (25/9),
สต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) (25/9), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (26/9), ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน ส.ค. (26/9), ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (Pending Home Sales) เดือน ส.ค. (26/9), ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือน ส.ค. (27/9), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นสุดท้ายเดือน ก.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (27/9)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7/-6.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -6/-4.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ