ในวันที่ 18 พ.ย.นี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ จะแถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 3 ปี 2567 รวมถึงประมาณการเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2567-2568
โดยช่วงที่ผ่านมา หลายสำนักฟันธงค่อนข้างเหมือนกันว่า เศรษฐกิจปีนี้น่าจะขยายตัวไม่เกิน 3% แต่ปีหน้ามีโอกาสขยายตัวได้มากกว่า 3% อย่างไรก็ดี ปัจจัยภายนอกที่ขณะนี้รู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐแล้ว ซึ่งนายโดนัลด์ ทรัมป์ คว้าชัยชนะ ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 47 แถมพรรครีพับลิกันยังครองทั้งสภาบนและสภาล่าง แน่นอนว่าจะส่งผลกับเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม
“คลัง-ธปท.” คาดปีนี้โต 2.7%
เมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงการคลังแถลงประมาณการครั้งล่าสุด คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัวที่ 2.7% (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.2% ถึง 3.2%) คงเดิมจากประมาณการครั้งก่อน โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2566 ที่ขยายตัวที่ 1.9% ต่อปี นำโดยการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก ส่วนปี 2568 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ 3.0% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.5% ถึง 3.5%) จากปัจจัยบวก 4 ด้านหลักคือ การบริโภคภาคเอกชน การส่งออกสินค้า การท่องเที่ยว และการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน
ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 โตได้ใกล้เคียง 3% ส่วนทั้งปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ที่ 2.7% (เดิมคาด 2.6%) และปี 2568 คาดโตที่ 2.9% (เดิมคาด 3%) โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งได้รับแรงส่งเพิ่มเติมจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการส่งออกที่ปรับดีขึ้นตามความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
ทั้งนี้ เศรษฐกิจฟื้นตัวแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วน โดยการส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรมบางกลุ่ม รวมถึง SMEs ยังถูกกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง
KKP หวั่น Q3 แผ่ว ฉุดแรงส่ง
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า เดิมประเมินว่าจีดีพีไตรมาส 3 จะออกมาใกล้ ๆ 3% แต่ตอนนี้เริ่มไม่แน่ใจแล้ว เนื่องจากตัวเลขในภาคการผลิตหลายตัวดูแผ่วกว่าคาด ทำให้ไม่แน่ใจว่าแรงส่งจากภาคการคลังจะเพียงพอที่จะดันการเติบโตกลับไปใกล้ ๆ 3% ได้หรือไม่ ซึ่งก็มีโอกาสที่จะออกมาต่ำกว่า 3%
ขณะที่ไตรมาส 4 ยังต้องติดตามแรงกระตุ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่แต่เดิมคาดว่าจะทำให้จีดีพีไตรมาส 4 โตได้มากกว่า 4% แต่หากออกมาแผ่ว ก็จะทำให้ทั้งปีอาจจะโตไม่ถึง 2.7-2.8%
“จริง ๆ ในไตรมาส 3 ควรจะมีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาล ซึ่งควรจะดีขึ้นจากที่ไตรมาส 1-2 งบฯ ยังไม่ออก แต่พอไปดูตัวเลขภาคการผลิต ก็มีหลายตัวที่แผ่วกว่าที่คาด แล้วยอดขายรถ ยอดขายบ้านที่แผ่วก็เป็นตัวฉุดเหมือนกัน”
นโยบาย ทรัมป์ กดดัน ศก.ไทย
ขณะที่ปี 2568 ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญ 3 ปัจจัยท้าทายที่สำคัญคือ 1.เรื่องความสามารถในการแข่งขัน ที่เห็นภาคการผลิตแผ่วมาสักพักแล้ว และยังไม่ดีขึ้น 2.งบดุลภาคครัวเรือน ทั้งเรื่องหนี้ครัวเรือน หนี้เสีย แบงก์ไม่ปล่อยกู้ ยอดขายรถ ยอดขายบ้าน มีเอฟเฟ็กต์ค่อนข้างรุนแรง ยิ่งเศรษฐกิจไม่ดี แบงก์ยิ่งไม่ปล่อยกู้ ก็ไม่มีใครบริโภค แล้วยิ่งหากเจอการค้าโลกมีปัญหาอีก
และ 3.การท่องเที่ยวที่เคยเป็นแรงส่งสำคัญในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็จะมีแรงส่งน้อยลงด้วย ดังนั้น หากภาคการผลิตไม่กลับมา การบริโภคไม่ดี ลงทุนไม่มี ก็จะเหนื่อยมาก
“คิดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยน่าจะยังเหนื่อย ตอนนี้ต้องรอดูตัวเลขไตรมาส 3 ถ้าออกมาใกล้ ๆ 3% ก็ยังถือว่าโอเค แต่ถ้าต่ำกว่า 3% โมเมนตัมน่าจะฮวบเลย ซึ่งการมาของทรัมป์ ผมว่าน่าจะกดดันเศรษฐกิจไทยให้เหนื่อยยิ่งกว่าเดิม ต้องระมัดระวังมากกว่าเดิม คือสมัยก่อนการส่งออกจะลิงก์กับการผลิตในประเทศ แต่ตอนนี้เริ่มไม่ลิงก์แล้ว ส่งออกดีขึ้น แต่การผลิตยังติดลบ ก็ไม่รู้ว่าเราเอาอะไรไปส่งออก” ดร.พิพัฒน์กล่าว