คอลัมน์ : Smart SMEs ผู้เขียน : ดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ กรุงศรี SME
เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ธนาคารกรุงศรีได้มีการจัดสัมมนาเพื่อลูกค้าธุรกิจ Krungsri Business Forum 2024 ในธีม Business Titans : Breaking the Ground to Win ซึ่งดิฉันได้มีโอกาสเป็นหนึ่งในผู้ร่วมเสวนาย่อยบนเวทีในหัวข้อ “ธุรกิจไทยในยุคที่โลกเปลี่ยน (Resilience Strategies in a Changing Business Landscape)” ร่วมกับคุณพลพัฒน์ อัศวะประภา ผู้ก่อตั้ง อาซาว่า กรุ๊ป และคุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ CEO บริษัท PaySolutions, Creden, Fino Efra Fund
ซึ่งทั้งสองเป็นผู้ประกอบการธุรกิจที่ผ่านร้อนผ่านหนาวจนสามารถประสบความสำเร็จในปัจจุบัน เลยถือโอกาสมาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งในเสวนาเราได้พูดคุยกันถึงความท้าทายที่ SMEs ในประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ รวมถึงแนวทางที่สามารถช่วยให้ธุรกิจพัฒนาและก้าวข้ามอุปสรรคที่พบได้
ทั้งนี้ ปัญหาหลักที่ SMEs ไทยต้องเผชิญตลอดมานั้นมีอยู่สองปัจจัยคือ ต้นทุนที่สูงและการแข่งขันที่รุนแรง เริ่มต้นจากปัญหาต้นทุนที่สูง SMEs ไทยส่วนใหญ่เมื่อเริ่มต้นธุรกิจมักจะใช้แรงงานเป็นหลัก ซึ่งทำให้ค่าแรงงานกลายมาเป็นภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอยู่เสมอ
ขณะที่การนำเทคโนโลยีหรือเครื่องจักรมาใช้ตั้งแต่เริ่มต้นอาจไม่ใช่ทางเลือกที่เป็นไปได้สำหรับหลาย ๆ ธุรกิจ การต้องเผชิญกับต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นนี้ ทำให้ SMEs ต้องหาวิธีลดค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน อีกทั้งเริ่มมีการกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ หรือ ESG ที่จะเข้ามากดดันให้ธุรกิจต้องปฏิบัติตาม
แม้ว่าเรื่องนี้จะเป็นสิ่งที่ดีในการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ในมุมมองของ SMEs มันก็เป็นต้นทุนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ต่อมาคือเรื่องของการแข่งขัน ซึ่งเป็นอีกปัญหาหลักที่ SMEs ไทยต้องเผชิญ การแข่งขันในตลาดมาจากทุกทิศทาง ทั้งการแข่งขันระหว่าง SMEs ด้วยกันเอง การแข่งขันจากผู้เล่นรายใหญ่ และการแข่งขันจากตลาดออนไลน์ทั่วโลก
โดยเฉพาะสินค้าจากประเทศจีนที่เข้ามาทำตลาดในราคาที่ถูกมาก จนบางครั้งทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ ผู้ประกอบการบางรายพยายามลดราคาสินค้าเพื่อตอบโต้กับการแข่งขันนี้ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในระยะยาว การลดราคาจนถึงจุดที่ไม่สามารถรักษาคุณภาพได้อาจทำให้ธุรกิจเสียฐานลูกค้า
และในที่สุดก็สูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดไปอย่างถาวร
ซึ่งในเสวนา ก็ได้มีการเสนอแนวทางเพื่อการพัฒนา SMEs ไทยในระยะยาว ได้แก่ การสร้างแบรนด์และเพิ่มมูลค่าสินค้า แทนที่จะเน้นการแข่งขันด้านราคา ควรเปลี่ยนจากการผลิต OEM ไปสู่การสร้างแบรนด์ของตนเอง
มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ มีการลงทุนใน R&D เพื่อสร้างสินค้าที่มีคุณภาพและตอบสนองความต้องการลูกค้าได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น และเพิ่มมูลค่าผ่านการสร้างความผูกพันกับลูกค้า
รวมทั้งควรนำเทคโนโลยีและข้อมูลมาใช้ เช่น AI และการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อปรับปรุงธุรกิจ ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน
สุดท้ายนี้ อยากจะย้ำถึงความสำคัญของการทำให้ธุรกิจ SMEs ไทยสามารถปรับตัวและแข่งขันได้ในตลาดที่มีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
นอกจากจะต้องมีการสร้างแบรนด์ที่มีคุณค่า การใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อนธุรกิจ จะต้องมีการร่วมมือและสร้างเครือข่ายธุรกิจ รวมการพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ให้กับทั้งตนเองและพนักงานอยู่เสมอ
ล้วนเป็นแนวทางสำคัญที่ SMEs ไทยควรนำมาใช้เพื่อสร้างความยั่งยืนและความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวในโลกที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนี้
ความสามารถในการปรับตัวและการสร้างความแตกต่างคือสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการอยู่รอดของ SMEs ไทย