
“อัสสเดช คงสิริ” เผยโจทย์เร่งด่วนตลาดหุ้นสร้างความเชื่อมั่น เปิดกลยุทธ์ 3 ปี เพิ่มมูลค่าบริษัทจดทะเบียนไทย ยกโมเดล “เกาหลี-ญี่ปุ่น” ดันตลาดหุ้นไทยพ้นทศวรรษที่สูญหาย เจรจาคลังงัดมาตรการภาษี-แก้กฎระเบียบ หนุน บจ. “ควบรวมกิจการ” ชูดีล GULF-INTUCH กลยุทธ์น่าจับตา ผลักดัน “Family Business” ยกระดับเข้าตลาด ตั้งเป้าเป็น Listing Hub ดึงดูดบริษัทต่างชาติระดมทุน สร้างนักลงทุนกลุ่มใหม่ ผนึกคลัง-ก.ล.ต. หนุนคนไทยออมผ่านตลาดหุ้น
พ้นทศวรรษที่สูญหาย
นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) คนที่ 14 เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สิ้นเดือน พ.ย.นี้ (28 พ.ย.) ตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมแถลงแผนกลยุทธ์ 3 ปี (2568-2570) อย่างเป็นทางการ หลังผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ (บอร์ด ตลท.) ไปเรียบร้อยแล้ว
โดยหนึ่งในแผนกลยุทธ์พื้นฐานสำคัญที่จะผลักดันให้ตลาดหุ้นไทยพ้นทศวรรษที่สูญหาย (Lost Decade) คือการสร้างโปรแกรมสนับสนุนบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ที่มีอยู่เกือบ 900 บริษัท ซึ่งจะคล้ายโปรแกรม Value up ของตลาดหุ้นเกาหลี และโปรแกรม Corporate Reform ของตลาดหุ้นญี่ปุ่น เช่นเดียวกับตลาดหุ้นฮ่องกงและมาเลเซียที่กำลังจะเริ่มดำเนินการเรื่องนี้
โดยจะเป็นโปรแกรมจูงใจให้บริษัทจดทะเบียนคิดพัฒนาเพิ่มศักยภาพและเพิ่มมูลค่าบริษัทของตัวเอง เพราะหลายบริษัทมีทุนมีสินทรัพย์แต่ไม่ได้ทำให้มีมูลค่าเพิ่ม
ตัวอย่างโปรแกรม Corporate Reform ของตลาดหุ้นญี่ปุ่นคือ การปรับกฎเกณฑ์ในการเปิดเผยข้อมูลให้ บจ.ที่เข้าโครงการสามารถเปิดเผยแผนข้อมูลอนาคตได้มากขึ้น จากปัจจุบันเราจะดูข้อมูลงบการเงินย้อนหลังตลอด
ดังนั้นถ้าตลาดหลักทรัพย์ฯ มีกรอบแนวคิดนี้ให้ บจ.ไทยสื่อสารแผนอนาคตกับนักลงทุนได้มากขึ้นและชัดเจนขึ้นน่าจะช่วยได้มาก ส่วนถ้ามีแรงจูงใจทางการเงินและภาษี ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็จะต้องไปพูดคุยกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไป
แผนผลักดัน M&A
นายอัสสเดชกล่าวว่า หนึ่งในการยกระดับศักยภาพบริษัทจดทะเบียนคือ การผลักดันให้เกิดการควบรวมกิจการ (M&A) ให้มากขึ้น เพราะมองว่า M&A เป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้บริษัทมี Value และมีความน่าสนใจมากขึ้น
ขณะที่ดีล M&A ในประเทศไทยยังเกิดขึ้นน้อย และส่วนตัวก็มีความเชี่ยวชาญเคยทำงาน Investment Banking มาก่อน โดยเรื่องสำคัญที่ต้องดู เช่น ด้านภาษีหรือกฎเกณฑ์ ที่ต้องพิจารณาว่าทำอย่างไรให้การควบรวมและซื้อขายกิจการทำได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
อย่างเช่นกรณี บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) และ บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) ที่ตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการควบรวมกิจการ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จะสร้างบริษัทใหม่ (NewCo) ที่น่าสนใจ และจะเป็นหุ้นใหญ่ในตลาดหุ้นไทย
เพราะภายใต้บริษัทใหม่ จากการวิเคราะห์ส่วนตัว ธุรกิจพลังงานการเติบโตจะมีขีดจำกัด แต่พอดึงธุรกิจเทคโนโลยีเข้ามาเสริม และใช้ทุนมาผลักดัน S-Curve ใหม่ ก็จะเป็นกลยุทธ์ที่น่าจับตามอง
“การทำดีล M&A ต้องลดความยากลงให้ได้ ซึ่งก็เป็น Pain Point ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องไปพูดคุยกับองค์กรอื่น ๆ ด้วย เพื่อผลักดันให้เกิดขึ้นได้มากกว่านี้ ซึ่งคงต้องไปปรึกษาท่านรัฐมนตรีคลัง กับทางกระทรวงการคลังว่าเราจะผลักดันเรื่องนี้ได้อย่างไร”
ผลักดันธุรกิจครอบครัว
นายอัสสเดชกล่าวถึงกรณีหุ้นไทยติดกับดัก 1,400-1,500 จุด ว่า เป็นอะไรที่ท่านประธานบอร์ด กิติพงศ์ (อุรพีพัฒนพงศ์) ให้ความสำคัญค่อนข้างมาก ซึ่งขณะนี้ก็ผลักดันอยู่ 2 เรื่องสำคัญคือ
1.ผลักดันธุรกิจครอบครัว (Family Business) จัดสัมมนาให้ความรู้ธุรกิจครอบครัว เพื่อที่จะข้ามมาเป็น Professional ได้อย่างไรในแต่ละเจเนอเรชั่น ด้วยการเข้ามาเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และ 2.สนับสนุนสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ที่เป็น New S-curve ขึ้นมาให้ได้
คือถ้ามองย้อนหลังไป 50 ปีที่ผ่านมา บริษัทท็อป 100 ของตลาดหุ้นสหรัฐเทียบกับยุโรป พบว่าในสหรัฐ 80-90% ไม่เหมือนเดิม มีบริษัทใหญ่ ๆ หน้าใหม่เกิดขึ้นมากมาย แต่ดูฝั่งยุโรป 80% ยังเหมือนเดิม ชื่อเดิม ๆ ซึ่งเราไม่อยากให้ประเทศไทยเหมือนยุโรป เราต้องหาทางสนับสนุนสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ชื่อใหม่ ๆ ขึ้นมาให้ได้ บทบาทของตลาดหลักทรัพย์ฯ เราเป็นแหล่งที่ให้นักลงทุนและบริษัทที่ต้องการระดมทุนเพื่อขยายกิจการมาเจอกันได้
นายอัสสเดชกล่าวว่า 2-3 เดือนที่ผ่านมา ประธาน ตลท.ได้จัดงานเชิญสตาร์ตอัพมาพบ Venture Capital มาเจอกองทุน นักบัญชี นักกฎหมาย ร่วมพูดคุยช่วยแก้ Pain Point ตรงนั้น ก็เป็นไอเดียที่กำลังพัฒนาอยู่ ซึ่งอาจใช้ กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) ในการผลักดันสำหรับเงินตั้งต้น (Seed money) หรือจะเป็น Professional Investment Company ก็ได้ ในทางกลับกันก็ต้องมีมาตรการกฎเกณฑ์ที่จะป้องกันนักลงทุนด้วย
ปั้นตลาดหุ้นไทย Listing Hub
สำหรับนโยบายของรัฐบาลเรื่อง Financial Hub นายอัสสเดชกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ สนับสนุนเต็มที่ แต่ทุกอย่างอยู่ที่รายละเอียด ว่าเราพร้อมแค่ไหน รวมถึงเสถียรภาพของสถาบันการเงินของประเทศไทย ต้องหาสมดุล ในส่วนของตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็มองถึงเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางระดมทุน (Listing Hub) ที่บริษัทต่างประเทศต้องมาระดมทุนในตลาดหุ้นไทย
อย่างไรก็ดีต้องหาอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทย รวมทั้งต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น BOI ว่าจะส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้มั้ย เพราะ ตลท.อาจจะเป็นปลายทาง ถ้านโยบายภาครัฐไม่สนับสนุนอุตสาหกรรมพวกนี้มาลงทุน ก็จะมาถึงตลาดทุนได้ค่อนข้างยาก
แต่ถ้าอุตสาหกรรมนั้น ๆ เข้ามาลงทุน แข็งแรงและเติบโต ระดมทุนอยู่ในตลาดหุ้นไทยเยอะ นักลงทุนต่างชาติก็จะมาสนใจตลาดหุ้นของเรา ก็จะเป็นแรงดึงดูดให้บริษัทต่างชาติ หรือซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมนั้น ๆ สนใจที่จะมาระดมทุนตลาดหุ้นไทยด้วย
มาตรการจูงใจ บ.ต่างชาติ
“รุ่นพ่อรุ่นแม่ของเรามีนโยบายสร้างให้ประเทศไทยเป็น ‘ดีทรอยต์แห่งเอเชีย’ เป็นฐานการผลิตยานยนต์ คือต้องเริ่มจากจุดหนึ่งก่อนมาถึงวันนี้ได้ อย่างตอนนี้ก็ดูว่า เฮลท์แคร์ หรือเวลเนสของไทยที่เป็นจุดแข็ง ในอนาคตต้องมีดีมานด์แน่นอนเรื่องเฮลท์แคร์ อุปกรณ์การแพทย์ มีโอกาสที่จะดึงดูดเข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตหรือไม่ ซึ่งจะเป็น Wellness Hub หรือ Healthcare Hub ได้มั้ย ตลาดทุนก็เป็นองค์ประกอบสำคัญ” นายอัสสเดชกล่าวและว่า
นอกจากนี้จากผลกระทบกำแพงภาษีของนโยบายทรัมป์ ที่มีบางอุตสาหกรรมย้ายฐานการผลิตมาอยู่ประเทศไทย ก็คิดว่าควรมีมาตรการจูงใจ ชักชวนให้เข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นไทยด้วย ซึ่งก็จะสร้างโอกาสให้กับนักลงทุนไทยด้วยเช่นกัน
โมเดลญี่ปุ่น “ออมผ่านตลาดหุ้น”
สำหรับในฝั่งของนักลงทุน นายอัสสเดช กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังศึกษาโครงการ Nippon Individual Savings Account (NISA) ของประเทศญี่ปุ่น เป็นการส่งเสริมให้คนญี่ปุ่นออมและลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นมากขึ้น ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นแรงจูงใจ ซึ่งเป็นนโยบายหลักอันหนึ่งที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็ดูอยู่ และประสานความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ฯ และกระทรวงการคลัง
“โครงการ NISA ก็คือ คนที่เอาเงินออม ซึ่งที่ญี่ปุ่นเข้าใจว่ามีเงินสดในบัญชีกันเยอะที่ไม่ได้เอาไปใช้ประโยชน์ และดอกเบี้ยเงินฝากในญี่ปุ่นก็ต่ำมาก แทนที่จะเก็บเงินไว้ในบัญชี 100% เขาก็สนับสนุนให้มาเปิด Savings Account หรือบัญชีเงินออมที่ลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น และหากลงทุนจะไม่ถูกนับว่าเป็นรายได้ ก็คือจะมีแรงจูงใจทางด้านภาษี”
โจทย์เร่งด่วนตลาดหุ้น
นายอัสสเดชกล่าวว่า โจทย์เร่งด่วนที่ต้องแก้ไขก็คงเป็นเรื่องความเชื่อมั่น ต้องยอมรับว่าใน 2-3 ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่ทำให้ความเชื่อมั่นใน “ตลาดทุน” ลดลง ดังนั้นต้องร่วมสร้างความมั่นใจขึ้นมา บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ต้องทำหน้าที่ที่ดีในการเปิดเผยข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน
“หลักการที่ผมคิดว่าเป็นตัวสำคัญในการบริหารตลาดทุน คือต้องทำเพื่อส่วนรวมและสร้างความเท่าเทียม เรื่องความเชื่อมั่น ความเท่าเทียมของ บจ. ที่จะเปิดเผยข้อมูลเป็นเรื่องที่สำคัญในฝั่ง Supply-side”
ส่วน Demand-side ก็คือ “นักลงทุน” โดยเน้นย้ำกับทุกคนว่า ต้องการดูพฤติกรรมของนักลงทุนมากกว่าการที่จะไปแยกแยะว่าเป็นกลุ่มโรบอตเทรด, HFT, รายย่อย, รายใหญ่, สถาบัน ต้องทรีตทุกคนเท่าเทียมกัน กฎเกณฑ์เดียวกัน
และมาดูที่ “พฤติกรรม” ถ้าพฤติกรรมไม่ดีก็ไม่ควรจะอยู่ หรือมาเกี่ยวข้องกับตลาดหุ้น ถ้ามีพฤติกรรมที่เหมาะสมตามเกณฑ์ก็ควรจะสนับสนุน ซึ่งโรบอตเทรดก็จะมีพฤติกรรมเหมือนมนุษย์ ว่าจะเกิดการปั่นหุ้นหรือไม่ปั่นหุ้น เราต้องคอยมอนิเตอร์
ล่าสุดก็มีมาตรการ Dynamic Price Band ซึ่งจะเป็นกลไกหนึ่งที่จะคอยแตะเบรกในหุ้นที่อาจจะร้อนแรงผิดปกติ แบบไม่มีข้อมูลหรือพื้นฐานที่จะผลักดันราคาให้ขึ้นไปในลักษณะนั้น
มอนิเตอร์ 5 แสนรายการ/วัน
ผู้จัดการตลาดหุ้นอธิบายว่า เพราะฉะนั้นงานเฝ้าระวัง ด้านงานกำกับ ฝ่ายนักลงทุนสำคัญมาก และที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำเยอะมาก โดยปี 2567 ฝ่ายกำกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มอนิเตอร์ข้อมูลซื้อขาย 106 ล้านรายการ (ข้อมูล ณ วันที่ 1 พ.ย. 2567) หรือประมาณ 5.2 แสนรายการต่อวัน ที่ต้องคอยวิเคราะห์ว่าเป็นพฤติกรรมที่ดีหรือไม่ดี เพราะฉะนั้นเป็นงานที่ละเอียดอ่อนมาก และก็ใช้เวลา ใช้วิจารณญาณ และใช้เทคโนโลยีอย่างมหาศาล
เช่นเดียวกับเรื่องข่าว บจ. เข้าใจว่ามีอย่างน้อยเฉลี่ยวันละ 260-300 ข่าว ที่ทีมตลาดหลักทรัพย์ฯต้องมาวิเคราะห์ทุกเช้า เพื่อดูว่าข้อมูลที่นักลงทุนหรือตลาดทุนควรจะรับทราบ เพี้ยนไปมั้ย อย่างล่าสุดที่ทำมากขึ้นก็คือ การตั้งคำถามให้บจ. เปิดเผยว่า ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 2-3 วัน มากผิดปกติ มีปัจจัยอะไรที่นักลงทุนควรทราบมั้ย เพื่อให้ บจ.ออกมาเปิดเผยข้อมูลให้เร็วมากยิ่งขึ้น
“เราเป็นต้นน้ำของข้อมูลพวกนี้ หน้าที่ของเราคือรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ ส่งให้สำนักงาน ก.ล.ต. ดำเนินการต่อ ซึ่งมีขั้นตอนหลายส่วน จริง ๆ ต้องเรียกว่าร่วมมือกัน”
ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯได้นำเอไอมาช่วย แต่ก็ต้องพัฒนาต่อเนื่อง เพราะเมื่อจับได้วิธีหนึ่ง เขาก็จะหาวิธีใหม่เพื่อหลบหลีกพฤติกรรมให้เราจับไม่ได้ ก็เป็นลักษณะของ “แมวไล่จับหนู” ตลอด
เปิด Sandbox ลดคาร์บอน
นายอัสสเดช กล่าวถึง ทิศทางของตลาดหลักทรัพย์ฯว่า มีบทบาทในการช่วยเหลือให้บริษัทจดทะเบียน ดำเนินการเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) เรื่องคาร์บอนเครดิต และการวัดการปล่อยคาร์บอน เพราะต่อไปการกู้เงินจะมีแรงกดดันที่จะต้องเปิดเผยข้อมูลด้านนี้มากขึ้น
อย่างกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) รวมทั้งต่อไปนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนสถาบัน ที่จะเข้ามาลงทุนก็ต้องดูข้อมูลพวกนี้มากขึ้น ธุรกิจที่ส่งออกไปยุโรปก็จะมีเกณฑ์ CBAM ดังนั้นแต่ละบริษัทต้องรู้ข้อมูลว่าตัวเองปล่อยก๊าซเรือนกระจกแค่ไหน
เบื้องต้นตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสร้างแพลตฟอร์ม Carbon Calculator ทำเป็น Sandbox Project โดยร่วมมือกับ EXIM Bank เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนและบริษัทนอกตลาด สามารถนำข้อมูลกิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัท เพื่อมาคำนวณว่าบริษัทมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแค่ไหน และควรจะลดอย่างไร ช่วยอำนวยความสะดวก บจ.ไม่ต้องไปพัฒนาระบบของตัวเอง
รวมถึงแผนที่จะสร้างแพลตฟอร์มให้บริษัทต่าง ๆ สามารถซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งยังวิเคราะห์อยู่ว่าจะใช้แพลตฟอร์มไหนเหมาะสมที่สุด เพื่อเป็นประโยชน์ต่อบริษัทจดทะเบียนโดยรวม ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องใช้ TDX (ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย) ก็ได้