คอลัมน์ : Smart SMEs ผู้เขียน : สิทธิกร ดิเรกสุนทร บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ผมและคณะผู้บริหาร ทีมงาน บสย.มีโอกาสเดินทางไปยังสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อศึกษาดูงาน พร้อมลงนามความร่วมมือ (MOU) กับสถาบันค้ำประกันสินเชื่อของสาธารณรัฐเกาหลี 2 สถาบัน ได้แก่ Korea Credit Guarantee Fund (KODIT) และ Korea Technology Finance Corporation (KOTEC)
โดยมี ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้เกียรติเป็นสักขีพยาน พร้อมมอบนโยบายการดำเนินงาน โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงตามนโยบายภาครัฐ สู่การจัดตั้ง “สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ” (NaCGA : National Credit Guarantee Agency) ที่กำลังจะเกิดขึ้น
ความน่าสนใจจากการศึกษาดูงานครั้งนี้ พบว่า Credit Rating System การค้ำประกันสินเชื่อที่สาธารณรัฐเกาหลี (KODIT Rating System-KRS and KOTEC Technology Rating System-KTRS) มีความหลากหลายมาก โดยใช้ข้อมูลทางเลือกที่ไม่ใช่ทางการเงิน (Nonfinancial Model) เช่น ความชำนาญประสบการณ์ของคณะผู้บริหาร, ความสามารถพิเศษของทรัพยากรบุคคล, ระดับของเทคโนโลยี และความสามารถพิเศษในอุตสาหกรรม เป็นต้น ของผู้ขอค้ำประกันสินเชื่อมาคำนวณคะแนนความน่าเชื่อถือด้านเครดิตของผู้กู้ (Credit Scoring)
นอกจากระบบคำนวณคะแนนความเสี่ยงที่หลากหลายในมิติของข้อมูลแล้ว แหล่งเงินทุนในการค้ำประกันสินเชื่อในประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ยังมาจากสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อทั้งระบบช่วยกันสนับสนุนร่วมกับภาครัฐ ทำให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการเข้าถึงสินเชื่อด้วย Credit Guarantee มีความคล่องตัวสูง ซึ่งเป็นความตั้งใจของผม และ บสย.ที่จะมีการนำเครดิตโมเดลต่าง ๆ เหล่านี้มาปรับใช้ เพื่อยกระดับและพัฒนาการค้ำประกันสินเชื่อในประเทศไทยให้แข็งแกร่งขึ้น
ด้วยโมเดลการค้ำประกันสินเชื่อรูปแบบใหม่ ๆ จะช่วยขยายบทบาทของ บสย.ในการช่วยเหลือ SMEs ได้มากขึ้น ครอบคลุมความต้องการ SMEs ในทุกมิติของการค้ำประกันสินเชื่อ Credit Guarantee จากปัจจุบันที่ค้ำประกันและจ่ายเคลมเป็นพอร์ต (Portfolio Guarantee Scheme : PGS) เป็นการค้ำประกันตรงและจ่ายเคลมเป็นสัดส่วนรายฉบับ (Direct and Individual Guarantee)
โดย บสย.จะเป็นผู้ประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ประกอบการตรง ตั้งแต่การตรวจสอบข้อมูล การประเมินความเสี่ยงรายบุคคล การคิดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันตามระดับความเสี่ยง (Risk-Based Pricing) ซึ่งจะทำให้ บสย.ขยายขอบเขตให้ความช่วยเหลือ SMEs ได้มากขึ้น ครอบคลุมความต้องการ SMEs ในทุกมิติของการค้ำประกันสินเชื่อ Credit Guarantee
ในอนาคตเมื่อมีการนำโมเดลนี้มาปรับใช้ จะปรับบทบาทด้านการขอสินเชื่อของ SMEs จากเดิมที่ต้องเดินไปธนาคารก่อน จากนั้นธนาคารจะยื่นเรื่องมาให้ บสย.ค้ำประกันสินเชื่อ แต่จากนี้ บสย.จะเป็นผู้ประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ประกอบการตรง ตั้งแต่การตรวจสอบข้อมูล การประเมินความเสี่ยงรายบุคคล การคิดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันตามระดับความเสี่ยง (Risk-Based Pricing) ซึ่งจะทำให้ บสย.ขยายขอบเขตการให้ความช่วยเหลือ SMEs ได้มากขึ้น ครอบคลุมความต้องการ SMEs ในทุกมิติของการค้ำประกันสินเชื่อ Credit Guarantee
นอกจากโมเดลการค้ำประกันรูปแบบใหม่ ๆ แล้ว ความร่วมมือระหว่าง บสย.กับ KOTEC จะยกระดับการช่วยเหลือกลุ่ม SMEs ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือกลุ่มสตาร์ตอัพ รวมถึง Green Technology ซึ่งเป็นเทรนด์ธุรกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพื่อสร้างขีดความสามารถทางเทคโนโลยี ศักยภาพในการทำตลาด และโอกาสของธุรกิจต่อยอดเทคโนโลยีในอนาคต
จากเป้าหมายดังกล่าว ตลอดเวลาที่ผ่านมา บสย.ได้ Transforms องค์กรในด้านต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการช่วยเหลือ SMEs ในประเทศไทย และเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงตามนโยบายภาครัฐ สู่การจัดตั้ง “สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ” (NaCGA : National Credit Guarantee Agency) ที่กำลังจะเกิดขึ้น ผมเชื่อว่าด้วยกลไกการค้ำประกันรูปแบบใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากนี้ จะสามารถแก้ Pain Points ของ SMEs ในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ทำให้ SMEs ไทยมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
ปี 2568 จึงเป็นปีที่น่าตื่นเต้นสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่จะเห็นการพลิกโฉมการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ในประเทศไทย สร้างความเข็มแข็งให้คนตัวเล็กเติบโตอย่างยั่งยืน