
ทะลวงปัญหาวิกฤตกำลังซื้อ “บ้าน-รถ” หดตัวรุนแรง หวั่นปี’68 โคม่า สถาบันการเงิน ผนึกกำลังผู้ประกอบการอสังหาฯ-ค่ายรถ เดินสายกระทุ้งรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อกลุ่มคนรายได้สูง “ลิสซิ่งกสิกรฯ” ออกโรงชงมาตรการ “ค่างวดลดหย่อนภาษี” กระทรวงการคลังเดินแผนดึง บสย.เข้าค้ำประกันสินเชื่อรถกระบะ เพิ่มสภาพคล่องกระตุ้นยอดซื้อรถใหม่ ด้านอสังหาฯอาการหนักไม่แพ้กัน ศูนย์ข้อมูลฯเผย รายกลาง-เล็กไม่มีที่ยืน 3 สมาคมอสังหาฯควง 3 แบงก์ใหญ่เข้าถก ธปท. ปลดล็อก LTV พร้อม 6 ข้อเสนอยาแรงต่อรัฐบาล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่สถานการณ์ตลาดรถยนต์และบ้าน ในปี 2567 ทรุดหนัก โดยตลาดรถยนต์หดตัวเหลือเพียง 5.7 แสนคัน ลดลงเกือบ 30% จากปีก่อนหน้า ขณะที่ตลาดบ้าน-คอนโดฯ ตัวเลขยอดขายรวมในตลาดลดลงว่า 40% เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัว ขณะที่ปัญหาหนี้ครัวเรือนก็อยู่ในระดับสูง ทำให้กำลังซื้อในตลาดหดหาย แม้ว่าจะมีความต้องการซื้อทั้งบ้านและรถยนต์ แต่ปัจจัยสำคัญก็คือสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเพราะกังวลปัญหาหนี้เสีย ทำให้อัตราการปฏิเสธปล่อยกู้เพิ่มขึ้นจึงส่งผลกระทบต่อทั้งตลาดบ้านและรถยนต์
ขณะที่สถานการณ์ยังคงทรุดหนักต่อเนื่องในปี 2568 กดดันให้ทั้งในกลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์และค่ายรถยนต์ และสถาบันการเงินออกมาเคลื่อนไหวเพื่อให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อในมิติต่าง ๆ นอกเหนือจากที่ผ่านมาสมาคมธนาคารไทยและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ร่วมมือกันจัดทำโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ช่วยภาคครัวเรือนและเอสเอ็มอีในการแก้ปัญหาหนี้ค้างชำระ
และล่าสุดเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 3 สมาคมวงการอสังหาฯ ได้แก่ สมาคมอาคารชุด, สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ร่วมกับตัวแทนจากธนาคารอาคารสงคราะห์, ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ได้มีการประชุมร่วมกับผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหารือถึงแนวทางการปลดล็อก LTV และอื่น ๆ
ดึง บสย.ค้ำสินเชื่อรถกระบะ
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นอกจากปัจจุบันที่รัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้บ้านและรถ ผ่านโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ไม่สามารถผ่อนชำระได้ในระยะสั้น ซึ่งจะพยายามปลดหนี้ให้เพื่อทำให้ลูกหนี้มีกำลังใจในการทำงานมากขึ้น ขณะเดียวกัน รัฐบาลอยู่ระหว่างหามาตรการใหม่ ๆ เพื่อหาแนวทางในการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ให้ง่ายขึ้น และกระตุ้นยอดซื้อรถใหม่ โดยให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อรถยนต์ เนื่องจากพบว่าช่วงหลังการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ลดน้อยลง โดยเฉพาะในส่วนของรถกระบะ ซึ่งประชาชนยังต้องใช้ทำมาหากิน
“สินเชื่อทั่วไป บสย.จะรับค้ำประกัน 30% แต่ถ้าการเข้ามาค้ำประกันสินเชื่อรถก็อาจจะขยับขึ้นไปอีกหน่อย แต่ต้องมาดูว่าจะรับได้เท่าไหร่ และการดำเนินการอาจจะมีการนำร่องดูก่อน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือรายละเอียด โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการในช่วง 3-4 เดือน”
คลังถกปล่อยกู้รถยนต์
ขณะที่นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการหารือกับหลาย ๆ ฝ่าย โดยปัญหาสินเชื่อรถยนต์นั้นส่วนใหญ่อยู่ที่ลีสซิ่ง และปัญหาคือเรื่องสภาพคล่องของลีสซิ่งในการปล่อยสินเชื่อ มีการประเมินความเสี่ยงที่เข้มงวดทำให้ระมัดระวังเกินไป
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจลีสซิ่งจำนวนมากไม่ได้อยู่ในกำกับของกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดังนั้นการดำเนินการจะยากพอสมควร จะต้องขอความร่วมมือหรือสร้างแรงจูงใจอื่น ๆ กับผู้ประกอบการ
โดยรัฐบาลมีโจทย์ว่า จะให้ผู้ให้บริการปล่อยสินเชื่อโดยเฉพาะรถปิกอัพ ต้องรับความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น แต่ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นนั้น รัฐจะเข้าไปรับกลไกความเสี่ยงของประชาชนผ่านกระบวนการต่าง ๆ ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ร่วมกับ ธปท.กำลังดูเรื่องนี้อยู่ แต่ยอมรับว่าไม่ง่าย เพราะผู้ประกอบการลีสซิ่งอยู่นอกการกำกับดูแลทั้ง ธปท. และคลัง
บสย.แผนค้ำ “สินเชื่อรถ”
ขณะที่นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า บสย.อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อเช่าซื้อรถพาณิชย์ ของลีสซิ่งในเครือธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจลีสซิ่งประสบปัญหาสภาพคล่อง เพราะลูกหนี้ได้รับผลกระทบจากธุรกิจชะลอตัว ทำให้การผ่อนชำระหนี้ไม่ราบรื่น จากการหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้มองเห็นปัญหาที่ส่งผลบานปลาย กระทบเป็นลูกโซ่ต่ออุตสาหกรรมรถยนต์เพราะรายใหม่กู้ยาก
นายสิทธิกรกล่าวว่า แนวทางการปล่อยกู้จะทำได้เฉพาะบริษัทลีสซิ่งที่อยู่ในเครือของธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากเป็นข้อกำหนดของ บสย. โดยมี 2 แนวทาง คือ 1.ลูกหนี้ที่ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน มีประวัติในการผ่อนชำระที่ดี เหลือวงเงินค้างไม่ถึง 20% ของวงเงินกู้ หรือไม่เกิน 2 แสนบาท และยังมีความประสงค์ที่จะใช้รถในการทำมาหากินต่อ บสย.จะเข้าปล่อยกู้ให้กับบริษัทลีสซิ่ง โดยรับโอนมาเป็นลูกหนี้ของ บสย. พร้อมยืดระยะเวลาการผ่อนชำระ ลดค่างวดผ่อนชำระ ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระให้กับลูกหนี้
2.กรณีลูกหนี้ค้างชำระ และไม่ประสงค์จะเก็บรถไว้ โดยเสนอให้ลีสซิ่งยึดเพื่อปิดหนี้ กรณีนี้ บสย.จะเข้าปล่อยกู้ส่วนภาระหนี้ที่เหลือ และรับโอนมาเป็นลูกหนี้ บสย.เช่นกัน โดยจะให้มีการผ่อนชำระที่ผ่อนปรน แต่ภาระการจัดการกับรถ การขายเพื่อคำนวณส่วนต่าง ลีสซิ่งจะเป็นผู้ดำเนินการแทน บสย.
“มาตรการนี้จะช่วยแก้ปัญหาหนี้ค้างชำระ ขณะเดียวกันก็เพิ่มสภาพคล่องให้กับลีสซิ่ง สามารถนำไปปล่อยกู้ใหม่ให้กับผู้ซื้อรถรายใหม่ได้ เพื่อช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมรถยนต์โดยรวม อย่างไรก็ตาม บสย.จะต้องศึกษารายละเอียดของมาตรการอย่างรอบคอบ รัดกุม เพื่อปิดช่องโหว่ ไม่สร้างปัญหาใหม่ขึ้นอีก”
ทีทีบีรับลูกศึกษา
นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือทีทีบี กล่าวว่า กรณีแนวคิดให้ บสย.ช่วยค้ำประกัน เพื่อกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ให้มากขึ้นนั้น เบื้องต้นธนาคารก็รับกลับมาพิจารณาว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง ที่จะสามารถกระตุ้นยอดขายรถให้เพิ่มขึ้นที่ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อมากนัก
ทั้งนี้ มองว่าหากจะให้มาตรการดังกล่าวเป็นประโยชน์ควรทำเป็นกลุ่ม เช่น กลุ่มที่มีความเปราะบาง และต้องการความช่วยเหลือ อาทิ กลุ่มอาชีพอิสระ เกษตรกร และกลุ่มผู้ใช้รถกระบะ เพราะช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ยอดขายรถกระบะลดลงค่อนข้างมาก ซึ่งการค้ำประกันก็เป็นรูปแบบหนึ่งที่จะช่วยให้กลุ่มนี้สามารถเข้าซื้อรถได้
ลิสซิ่งกสิกรฯออกโรง
นายธีรชาติ จิรจรัสพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทยและหัวหน้าคณะทำงานกลุ่มสินเชื่อรถยนต์ภายใต้สมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ภาพรวมสินเชื่อรถยนต์ปีนี้มีแนวโน้มทรงตัวหรือหดตัวเล็กน้อย แต่ยังมีโอกาสเติบโตหากปัจจัยลบคลี่คลายลงและได้รับแรงหนุนนโยบายส่งเสริมตลาดรถยนต์ในประเทศไทย โดยในปีที่ผ่านมาสินเชื่อรถยนต์หดตัวลงแรงที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ ซึ่งสอดคล้องกับยอดขายรถในประเทศที่ลงมาที่ 5.7 แสนคัน (ลดลง 26.19% จากปี 2566) ต่ำที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษเช่นกัน
ตอนนี้ต้องแก้ปัญหาให้ถูกจุดและทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเดินหน้าได้ ไม่ควรเป็นกระตุ้นยอดขายด้วยมาตรการเหวี่ยงแห ซึ่งจะส่งผลเสียต่อทั้งระบบ ที่สำคัญไม่ควรไปกระตุ้นคนที่ไม่มีกำลังซื้อหรือไม่พร้อมก่อหนี้ เพราะจะยิ่งเพิ่มปัญหาหนี้เสียและแก้ไขกันไม่จบ
“ส่วนตัวมองว่ามาตรการกระตุ้นที่ดี น่าจะเป็นมาตรการส่งเสริมยอดขายรถยนต์ภายในประเทศ เช่น ให้ผู้ซื้อรถยนต์สามารถนำค่างวดมาหักค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ ในลักษณะเดียวกับที่นิติบุคคลสามารถนำรถยนต์ลงบัญชีและหักค่าเสื่อมราคาเป็นค่าใช้จ่ายได้”
เช่น หากซื้อรถยนต์ราคา 1,000,000 บาท ผ่อนชำระปีละประมาณ 200,000 บาท ในระยะเวลา 5 ปี หากผู้ซื้อรถยนต์เสียภาษีเงินได้ อัตรา 10% มูลค่าของภาษีที่ได้ลดหย่อนจะอยู่ที่ประมาณปีละ 20,000 บาท รวม 5 ปี ประมาณ 100,000 บาท แนวทางนี้น่าจะส่งผลดีโดยรวมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม
หลักการ คือ 1.เป็นการกระตุ้นผู้ซื้อรถยนต์เป็นผู้มีความพร้อมมีโอกาสได้รับอนุมัติสินเชื่อมากกว่า 2.สามารถกำหนดให้สิทธิแก่กลุ่มรถยนต์ที่ส่งผลดีต่อ Supply Chain ภายในประเทศ และ 3.กำหนดกรอบเวลาให้นำค่างวดหักค่าใช้จ่ายทางภาษี เช่น ไม่เกิน 5 ปี โดยกำหนดเงื่อนไขมาตรการเฉพาะผู้ซื้อในปีนี้เท่านั้น ซึ่งการทยอยหักภาษีจะไม่เป็นภาระกับรัฐบาลทันที แต่การกระตุ้นดีมานด์ซื้อจะเกิดขึ้นได้ทันที
คลังแย้ง “ลดหย่อนภาษี”
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า กรณีดังกล่าวต้องมีการพิจารณาถึงผลดีและผลเสียอย่างรอบด้าน เพราะในกรณีกระตุ้นกลุ่มผู้มีกำลังซื้อ เพื่อที่จะได้รับอนุมัติสินเชื่อ ก็จะเป็นกลุ่มที่อาจต้องการซื้อเงินสด รวมทั้งเป็นการซื้อรถระดับราคาสูงซึ่งเป็นกลุ่มรถนำเข้า ก็อาจจะไม่ได้ช่วยอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศแต่อย่างใด การใช้มาตรการลดหย่อนภาษีก็ต้องดูความคุ้มค่าของการนำเงินภาษีไปใช้ คงต้องดูรายละเอียดในหลายมิติ
เช่าซื้อร่วงตามยอดขายรถ
นายศรัณย์ ทองธรรมชาติ ประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมยอดขายรถยนต์ในปี 2568 คาดการณ์อยู่ที่ระดับ 6 แสนคัน เติบโต 5% จากปี 2567 ที่มียอดขายอยู่ที่ 5.72 แสนคัน ลดลง 26% จากปี 2566
โดยจะเห็นว่ายอดขายและธุรกิจค่อนข้างซบเซา หดตัว 26% ส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามคาดการณ์ ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย แม้ว่าหนี้ครัวเรือนจะปรับลดลงจากระดับ 90% ของจีดีพี ลงมาอยู่ในระดับ 89% แต่นั่นเป็นผลมาจากสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ
ปฏิเสธสินเชื่อรถกระบะ 30%
นายศรัณย์กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการและสถาบันการเงินให้ความสำคัญในปี 2568 ยังคงเป็นเรื่องของการบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) โดยเน้นการดูแลลูกหนี้ไม่ให้ตกชั้นเป็นหนี้เสีย ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ก่อนและหลังเป็นเอ็นพีแอล ทั้งการยืดระยะเวลาการชำระหนี้ หรือการพักชำระหนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการไม่อยากเร่งตัดหนี้สูญ ทำให้ยอดรถยึดเข้าลานประมูลน่าจะทรงตัวที่ 2.3-2.5 แสนคัน
ภายใต้ความเสี่ยงที่ยังมีอยู่ ทำให้ผู้ประกอบการเช่าซื้อยังคงระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ยังคงเห็นอัตราการปฏิเสธสินเชื่อ (Rejection Rate) ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องจากปี 2567 เนื่องจากมีการคัดกรองที่เข้มงวด และผู้บริโภคก็ชะลอการซื้อรถ โดยอัตราปฏิเสธสินเชื่อรถยนต์อยู่ที่ 10-20% รถกระบะ 20-30% และรถใช้แล้ว 30-40%
ตลาดรถยนต์ทรุดหนัก
นายศุภกร รัตนวราหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ยืนยันกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2567 ที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์อยู่ที่ประมาณ 570,000 คัน ถือเป็นปีที่ยอดขายรถยนต์ต่ำสุดในรอบ 15 ปี โดยคาดว่าปีนี้จะมีการเติบโตเล็กน้อยที่ระดับ 6 แสนคัน โดยคาดว่าจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 แต่ยังต้องจับตาปัจจัยหลากหลายด้านที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางของตลาด ไม่ว่าจะเป็นกำลังซื้อที่ลดลงตามสถานการณ์เศรษฐกิจ รวมถึงค่าครองชีพ อัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ทรงตัวสูง
ตลอดจนความเข้มงวดของมาตรฐานในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ตลาดรถยนต์ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
ขอลดหย่อนภาษีแบบ “บ้าน”
ขณะที่นายวัลลภ เฉลิมวงศาเวช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮุนได โมบิลิตี้ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หากภาครัฐต้องการช่วยเหลืออุตสาหกรรมยานยนต์ให้ได้ประสิทธิภาพด้านยอดขายทันที อาจต้องใช้มาตรการลดหย่อนภาษีเข้ามาช่วย โดยที่ผ่านมาฮุนไดพยายามสะท้อนแนวคิดนี้ไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐ รวมทั้งสภาอุตสาหกรรมฯ เพื่อพิจารณาให้ผู้ซื้อรถยนต์ใหม่สามารถนำมาช่วยลดหย่อนภาษีได้ เช่นเดียวกับผู้ที่ซื้อบ้าน
อสังหาฯกลาง-เล็กไม่มีที่ยืน
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด (AREA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2568 ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยอาจเสื่อมทรุดกว่าที่คิด ดูจากยอดเปิดโครงการใหม่เดือนมกราคม 2568 พื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีเพียง 11 โครงการ น้อยสุดเทียบได้กับเดือนธันวาคม 2563 ในยุคโควิด ขณะที่เดือนกุมภาพันธ์คาดว่าจะมีเปิดโครงการใหม่ไม่เกิน 20 โครงการ เนื่องจากดีเวลอปเปอร์ส่วนใหญ่ได้ทยอยเปิดตัวโครงการไปแล้วในช่วงปลายปี 2567 และชะลอการเปิดตัวใหม่ปีนี้ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
โดยพบว่าการเปิดตัวใหม่เป็นของบิ๊กแบรนด์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ 4 บริษัท คือ บริษัท บริทาเนีย จำกัด (มหาชน), บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน), บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) และบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้ การเปิดโครงการใหม่หรือการลงทุนใหม่ของเดือนมกราคม เป็นการลงทุนของบิ๊กแบรนด์สัดส่วนถึง 88% โดยบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมแทบไม่มีที่ยืนเพราะมีมูลค่าพัฒนารวมกันเหลือ 12% เท่านั้น
LTV ทุบบ้านหรู 7-50 ล้าน
นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เทรนด์ตลาดที่อยู่อาศัยปี 2568 ถ้าสามารถประคองตัวให้เท่ากับปีที่ผ่านมาก็ต้องถือว่าเก่งแล้ว เพราะกำลังซื้อวิกฤตหนัก คนไทยอยู่ในภาวะซื้อบ้านไม่ได้บ้านเพราะไม่สามารถขอสินเชื่อได้ เนื่องจากแบงก์เข้มงวดการพิจารณาเครดิต ทำให้ยอดปฏิเสธสินเชื่อหรือกู้ไม่ผ่านสูง ที่สำคัญ เดิมปัญหากู้ไม่ผ่านเจอผลกระทบจำกัดวงในตลาดกลาง-ล่าง ราคาไม่เกิน 3-5 บ้านบาท แต่ปี 2567 เกิดปรากฏการณ์กู้ไม่ผ่านลามมาถึงตลาดกลาง-บน ตั้งแต่ราคา 5-10 ล้านบาท ไปจนถึงกลุ่มราคา 20 ล้านบาทขึ้นไป ที่เริ่มเจอผลกระทบแบงก์ปฏิเสธสินเชื่อเช่นเดียวกับตลาดแมส
ทั้งนี้ ปี 2567 ภาพรวมเปิดตัวใหม่ลดลง -28% ด้วยมูลค่า 427,258 ล้านบาท เทียบกับปี 2566 ที่เปิดใหม่ 552,008 ล้านบาท
ไฮไลต์อยู่ที่นับตั้งแต่แบงก์ชาติกลับมาเข้มงวดบังคับใช้ LTV-Loan to Value (มาตรการบังคับเงินดาวน์แพงในการขอสินเชื่อซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 เป็นต้นไป) ในปี 2566 จนถึงปัจจุบัน ตลาดบ้านเดี่ยวราคาแพงที่กำลังได้รับความนิยม และเคยเป็น Save Haven ของผู้ประกอบการเพราะลูกค้ามีกำลังซื้อสูง เริ่มโดนผลกระทบจากยอดปฏิเสธสินเชื่อด้วย
สะท้อนผ่านสถิติยอดขายที่เริ่มเป็นขาลงชัดเจนในปี 2567 ดังนี้ กลุ่มราคา 50 ล้านบาทขึ้นไป ลดลง -8% ยอดขาย 23,652 ล้านบาท เทียบกับปี 2566, กลุ่มราคา 20-50 ล้านบาท ลดลง -14% ยอดขาย 52,217 ล้านบาท, กลุ่มราคา 10-20 ล้านบาท ลดลง -9% ยอดขาย 52,596 ล้านบาท, กลุ่มราคา 7-10 ล้านบาท ถือว่าร่วงแรง -26% เหลือ 29,767 ล้านบาท และตลาดบ้านเดี่ยวไซซ์เล็กหรือบ้านแฝดกลุ่มราคา 3-5 ล้านบาท ลดลงเกือบครึ่ง
ขอยาแรง 6 ข้อประคอง
นายประเสริฐกล่าวว่า ในนาม 3 สมาคมวงการอสังหาฯ มีข้อเสนอถึงรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร และธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาออกมาตรการสนับสนุนการซื้อที่อยู่อาศัยในปี 2568 ซึ่งเป็นมาตรการแก้ปัญหาในภาวะวิกฤต 6 ข้อ ดังนี้
ข้อเสนอช่วยเหลือฝั่งผู้ซื้อ 4 ข้อ ได้แก่ 1.ขอให้แบงก์ชาติพิจารณาผ่อนปรนเกณฑ์ LTV ทุกระดับราคา 2.ขอให้รัฐบาลพิจารณาต่ออายุมาตรการรัฐที่หมดอายุลงตั้งแต่ 31 ธันวาคม 2567 โดยเสนอขอให้ลดค่าโอน-จำนองทุกระดับราคา ตั้งแต่วันนี้-31 ธันวาคม 2568
3.ขอให้พิจารณาหักลดหย่อนภาษีซื้อบ้านทุกระดับราคา สำหรับการกู้และโอนบ้านในปี 2568 เป็นเวลา 1 ปี 4.ขอให้พิจารณาหักลดหย่อนราคาซื้อขายที่กรมที่ดิน (ทด.13) ไม่เกิน 20% หรือ 6 แสนบาท เฉลี่ย 5 ปี ปีละ 1.2 แสนบาท
อีก 2 ข้อเพื่อสนับสนุนฝั่งผู้ประกอบการ ได้แก่ 5.เสนอให้พิจารณาลดอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 50% ในปี 2568 และ 6.ขอให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายภาษีในปีนี้
แบงก์หนุนปลด LTV บ้านแพง
แหล่งข่าวสถาบันการเงินเปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ข้อเสนอของผู้ประกอบการ ธนาคารพร้อมรับข้อเสนอต่าง ๆ เนื่องจากธนาคารจะพิจารณาตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าเป็นหลัก และเป็นการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้า เพราะปัจจุบันตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีน้อย และตลาดอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นตัวขับเคลื่อนหลักที่จะช่วยหมุนเศรษฐกิจได้ ซึ่งการปลดล็อกมาตรการ LTV ในระดับบ้านราคาเกิน 10 ล้านบาท แม้จะช่วยไม่ได้มากนัก แต่ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย
“ธปท.รับฟังความคิดเห็น และไม่ได้คัดค้านอะไร โดยแบงก์เสนอปลดล็อกบ้านหลังที่ 2 และ 3 ส่วนผู้ประกอบการเสนอบ้านราคา 10 ล้านบาท เพราะมาตรการ LTV ก็ทำมาแล้ว 5-6 ปี ซึ่งตอนนั้นทำมาตรการเพราะมีสัญญาณเก็งกำไรเยอะ แต่ปัจจุบันไม่มีสัญญาณเก็งกำไรแล้ว และแบงก์ก็พิจารณาตามความเสี่ยงลูกค้า แต่ยอมรับว่าคนซื้อรวยคงไม่เยอะมากจนสามารถชดเชยตลาดสินเชื่อบ้านกลับมาเป็นบวกได้ในปีนี้”