DELTA แจงหลังหุ้นร่วง รับรายได้-กำไรวูบ จากค่าใช้จ่ายพุ่ง 7,044 ล้าน

DELTA

บมจ.เดลต้าหรือ DELTA แจงตลาดหลักทรัพย์ฯหลังราคาหุ้นร่วงหนักวานนี้ ชี้กำไรไตรมาส 4/67 หดตัวแรง จากค่าใช้จ่ายในการขาย-บริหาร-รวมการวิจัยและพัฒนา พุ่ง 7,044 ล้านบาท พบต่อสู้คดี 1,008 ล้านบาท

บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า สืบเนื่องจากการรายงานผลประกอบการประจำปี 2567 ของทางบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) ที่ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ไปเมื่อวันที่ 14 กมภาพันธ์ 2567 ส่งผลให้เกิดความผันผวนในการซื้อขายและราคาหลักทรัพย์ของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญในวันเปิดทำการ ต่อมา ทางบริษัทจึงใคร่ขอเรียนชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/2567 เพื่อประกอบการพิจารณาของนักลงทุน ดังต่อไปนี้

1. ยอดขายสินค้าและบริการในไตรมาสนี้อยู่ที่ 41,747 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 10.6% แต่ลดลงจากฐานสูงในไตรมาสก่อน 3.4% ขับเคลื่อนโดยกลุ่มผลิตภัณฑ์พาวเวอร์ซิสเต็มสำหรับระบบศูนย์ข้อมูล และดีซีพาวเวอร์สำหรับโครงสร้างพื้นฐานปัญญาประดิษฐ์ ยังมีแนวโน้มแข็งแกร่งต่อเนื่อง ร่วมกับโซลูชั่นโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศเติบโตได้ดีจากไตรมาสก่อน และปีที่แล้วจากแนวโน้มความต้องการลงทุนเพื่อยกระดับดาต้าเซ็นเตอร์สำหรับการประมวลผลสมรรถนะสูง อย่างไรก็ตาม รายได้ส่วนกลุ่มโซลูชั่นสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีที่แล้ว สอดคล้องกับทิศทางตลาดโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว

2. กำไรขั้นต้น ในไตรมาสนี้ 9,376 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.2% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 21.4% จากฐานสูงของไตรมาสที่แล้ว สาเหตุหลัก ดังนี้

– สกุลเงินดอลลาร์ส่งผลต่อค่าเงินบาทแข็งในต้นไตรมาส 4 เกิดการรับรู้ขาดทุนต้นทุนสินค้าคงคลัง 13.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ADVERTISMENT

– การให้เงินคืนอุดหนุนแก่ลูกค้า 6.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากยอดขายสูงในกลุ่มผลิตภัณฑ์ดาต้าเซ็นเตอร์ เป็นไปตามข้อตกลงการค้า

– หน่วยงานโซลูชั่น Magnetic ซึ่งผลิตชิ้นส่วนสำหรับใช้ภายในหลากหลายกลุ่มผลิตภัณฑ์ เกิดกรณีข้อบกพร่องของวัตถุดิบที่ได้ประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูปส่งมอบลูกค้าแล้ว ทำให้บริษัทต้องดำเนินการแก้งาน พร้อมตั้งสำรองค่าใช้จ่ายที่ครอบคลุมการดำเนินการดังกล่าว มูลค่า 16.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ADVERTISMENT

– อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากปัจจัยกดดันกำไรข้างต้น สำหรับไตรมาสนี้ บริษัทยังสามารถควบคุมบริหารสินค้าคงคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีการกลับรายการตั้งสำรองมูลค่าสินค้าคงคลังออกมาเพิ่มเติมบางส่วน เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบของค่าใช้จ่ายไม่ประจำที่เกิดขึ้นไตรมาสนี้

3. ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (รวมการวิจัยและพัฒนา) มีจำนวน 7,044 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.6% จากไตรมาสก่อน 61.8% จากปีก่อนหน้า โดยมีสาเหตุหลัก ดังนี้

– ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยพัฒนา มีช่วงฤดูกาลที่บันทึกยอดจากโครงการต่าง ๆ ของศูนย์วิจัยที่เยอรมนีสูงขึ้นในช่วงปลายปี ทั้งนี้เป็นไปตามกลยุทธ์ในการเพิ่มการลงทุนเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีแห่งอนาคต ตามแนวโน้มธุรกิจหลักที่มีดีมานด์ความต้องการสูง

– ค่าสิทธิจ่าย ซึ่งบันทึกอยู่ในค่าใช้จ่ายการขาย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นช่วงปีที่ผ่านมา เนื่องจากยอดขายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เติบโตสูง อย่างไรก็ตาม ไตรมาสนี้มีการประเมินและปรับปรุงอัตราเรียกเก็บค่าสิทธิจ่ายสำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นเพิ่มเติมและมีผลคานวณย้อนถึงต้นปี ทำให้ค่าสิทธิจ่ายเพิ่มสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนอย่างมีนัยสาคัญ ทั้งนี้อัตราอ้างอิงดังกล่าว ได้ผ่านการสอบทานเปรียบเทียบกับมาตรฐานอุตสาหกรรมเทคโนโลยีโดยผู้เชี่ยวชาญการประเมินอย่างสมเหตุสมผล (บริษัท PWC)

– ค่าใช้จ่ายในการบริหาร เพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการบันทึกค่าใช้จ่ายทางกฎหมาย ในช่วงครึ่งปีหลังของปี’67 โดยยอดรวมค่าใช้จ่ายทางกฎหมายในปีนี้ 1,008 ล้านบาท เกิดจากกลุ่มบริษัทเดลต้ามีข้อพิพาทด้านสิทธิบัตรเทคโนโลยีกับคู่กรณีในสหรัฐอเมริกา สถานะคดียังไม่สิ้นสุดและอยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป ส่งผลให้ยังมีปัจจัยกดดันจากค่าใช้จ่ายในส่วนนี้