ทรัมป์ทุบเศรษฐกิจไทยเสี่ยงถดถอย ต่างชาติเบรกลงทุน-สินค้าจีนทะลัก

economic
ดร.กิริฎา เภาพิจิตร-อมรเทพ จาวะลา-ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย-ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล

ทรัมป์ประกาศกำแพงภาษีช็อกการค้าทั่วโลก ดร.พิพัฒน์-KKP ชี้เศรษฐกิจโลกติดกับดัก-เศรษฐกิจไทยเสี่ยงถดถอย หากเจรจากับสหรัฐไม่บรรลุผล TDRI กังวลผลกระทบทางอ้อมสินค้าจีนทะลัก-ต่างชาติที่ยื่นขอบีโอไอ เบรกแผนลงทุน ดร.อมรเทพ-CIMBT มองไทยเผชิญปัญหา “ส่งออกศูนย์เหรียญ” ซ้ำเติมภาคผลิต หวั่นกระทบลูกโซ่ครึ่งปีหลังอาการหนัก ทุกสำนักวิจัยฟันธงประชุม กนง. 30 เม.ย.นี้ “ลดดอกเบี้ย” ช่วยพยุง ศูนย์วิจัยกสิกรฯประเมินส่งออกติดลบ -3.8% เซ็นทรัลเกาะติดสถานการณ์มู้ดกำลังซื้อ

เศรษฐกิจโลกติดกับดัก

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) เปิดเผยว่า หลังการประกาศขึ้นภาษีทั่วโลกของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ โดยประเทศไทยโดนเรียกเก็บภาษีถึง 36-37% ซึ่งเรียกว่าเป็นอัตราภาษีที่สูงมาก ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจจะเห็นภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว หากภาษียังอยู่ในระดับสูง และสหรัฐก็อาจอยู่ในภาวะเศรษฐกิจชะลอ แต่เงินเฟ้อขึ้น หรือ Stagflation แต่ประเทศที่เป็นผู้ส่งออกจะเจอเศรษฐกิจชะลอ และราคาสินค้าในประเทศลดลง หรือเงินฝืด (Deflation)

“KKP ประเมินว่าอัตราภาษีที่สูงมากขนาดนี้ไม่มีทางที่จะอยู่ได้ทั้งปี เพราะถ้าเก็บภาษีเท่านี้จริงเชื่อว่าภายในไม่ถึง 1 ปี เศรษฐกิจสหรัฐแย่แน่นอน เงินเฟ้อจะสูงขึ้น เชื่อว่าจะเป็นการขู่ และเรียกคนเข้ามานำเสนอเงื่อนไขที่ทรัมป์อยากได้ และอัตราภาษีคงไม่มีโอกาสที่จะกลับไปอยู่ในระดับเดิม”

5 ประเด็นที่ทรัมป์เรียกร้อง

ดร.พัฒน์กล่าวว่า โดยทรัมป์พูดชัดเจนว่าหากให้ลดอัตราภาษีลงให้แต่ละประเทศ ต้องทำ 5 อย่าง 1.นำสินค้ามาผลิตในสหรัฐ 2.แต่ละประเทศต้องไปลดภาษีนำเข้าที่แพงลง 3.ลดมาตรการกีดกันทางการค้าต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ภาษีนำเข้าลง 4.อย่าแทรกแซงค่าเงิน 5.ซื้อสินค้าจากสหรัฐเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม หากมีการเก็บภาษีนำเข้าแบบนี้อยู่ตลอดทั้งปีประเมินว่า ผลกระทบทางตรงผ่านการส่งออกในเอเชียทั้งหมดประมาณ อยู่ที่ 0.6% ขณะที่ประเทศไทยผลกระทบจะสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ประมาณ 1.1% ต่อจีดีพี เนื่องจากสัดส่วนการส่งออกของไทยต่อจีดีพีมีค่อนข้างสูง

ทางเลือกการเจรจา

ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า การเจรจาหาทางลงที่สหรัฐพอใจ อาจเป็นหนทางที่ดีที่สุด เช่น ปรับลดภาษีที่ไทยเก็บสหรัฐสูง ๆ ยอมเปิดตลาดที่เราปกป้องอยู่ ลดภาษีศุลกากร เช่น เนื้อสัตว์ อาหาร เกษตรกรรม และอาจจะต้องนำเสนอทางออกให้สหรัฐอีก เช่น การนำเข้าพลังงาน นำเข้าสินค้าเกษตรเพิ่มเติม นำเข้าสินค้าใหญ่ ๆ อย่างเครื่องบิน อาวุธ เครื่องจักร หรือต้องหาทางเพิ่มการลงทุนในสหรัฐ และอาจต้องเปิดเสรีด้านต่าง ๆ ที่สหรัฐบ่นมาตลอด เช่น บริการทางการเงิน การคุ้มครองสิทธิทางปัญญา ประเด็นสิทธิของแรงงาน

ADVERTISMENT

“หากมีการเจรจาผลกระทบต่อจีดีพีอาจน้อยลง อย่างไรก็ดี ภาษีทรัมป์จะกระทบต่อผู้ส่งออก แต่การไปเจรจาแปลว่าเอาภาคอื่น ๆ ไปเสนอให้สหรัฐ เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ส่งออก ดังนั้นการเจรจาจะมี 2 ระดับ ได้แก่ เจรจาภายนอกกับสหรัฐ และเจรจาภายในกับภาคธุรกิจอื่น ๆ ที่จะต้องเอาไปแลกกับสหรัฐ ซึ่งกลุ่มอื่น ๆ จะยอมแลกด้วยหรือไม่”

ศก.ไทยเสี่ยงถดถอย

ดร.พิพัฒน์กล่าวต่อว่า ทั้งเหตุการณ์แผ่นดินไหว รวมถึงผลกระทบอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐ ไทยอาจจะต้องมีนโยบายเข้ามาช่วยเหลือมากขึ้นทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน โดยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้อีก 2 ครั้ง ไปอยู่ที่ 1.50% และมีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก ในการประชุมวันที่ 30 เม.ย.นี้ด้วย และปีหน้าอีก 1 ครั้ง ไปอยู่ที่ 1.25 % โดยมีโอกาสดอกเบี้ยนโยบายลงไปต่ำกว่า 1.25% หากอัตราภาษีที่สูงยังอยู่อีกนาน

ADVERTISMENT

“ทั้งนี้เชื่อว่าผลกระทบไทยโดนเยอะ และมีโอกาสที่ไทยเสี่ยงเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ หากยังโดนภาษีที่สูง หรือยังเจรจาไม่ได้ และการส่งออกหากยังรุนแรง เศรษฐกิจไทยที่ตั้งไว้ที่ 2.3% ลดลงไปเหลือเพียง 1% กว่า ๆ ในบางไตรมาสไทยอาจจะเสี่ยงเกิดเศรษฐกิจถดถอยได้”

ช็อกการค้าทั่วโลก

ดร.สันติธาร เสถียรไทย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย และที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจอนาคต (Future Economy) ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า การประประกาศกำแพงภาษีครั้งใหญ่ของสหรัฐที่เปรียบเสมือน “แผ่นดินไหว” ช็อกการค้าไปทั้งโลก โดยอาฟเตอร์ช็อกของมาตรการครั้งนี้อาจจะรุนแรงและซับซ้อน เพราะว่า 1.หลายประเทศอาจเลือกที่จะใช้ไม้แข็งตั้งกำแพงภาษีกลับ ทำให้การค้าโลกโดยรวมทรุดกว่าที่คิด 2.บางประเทศอาจเสี่ยงตกเข้าภาวะเศรษฐกิจถดถอย รวมทั้งอเมริกาเอง

3.เมื่อตลาดอเมริกาเหมือนจะกลายเป็นเมืองล้อมด้วยกำแพงภาษีที่สินค้าเข้าไม่ได้หรือยากขึ้น ทุกประเทศก็จะคิดคล้าย ๆ กัน คือต้องส่งออกไปตลาดอื่น ดังนั้นการแข่งขันจะเข้มข้นขึ้น ทั้งสำหรับการส่งออกของไทยในตลาดที่ 3 และสินค้านำเข้าจากประเทศต่าง ๆ อาจทะลักเข้ามาในไทยมากขึ้น

ลงทุนต่างชาติชะงัก

4.การลงทุนจากต่างชาติที่เดิมไทยได้อานิสงส์จากการหลบเลี่ยงสงครามการค้า อาจชะงักหรือชะลอ เพราะตอนนี้ไทยเองก็โดนภาษีในระดับสูงเช่นกัน และ 5.ยังมีความไม่แน่นอนอีกหลายอย่าง เช่น กำแพงภาษีทั้งหมดนี้เจรจาต่อรองได้แค่ไหน ความไม่แน่นอนนี่เองก็จะทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ทั่วโลกต้องหยุดเพื่อรอดู ปรับแผนมีผลลบกับเศรษฐกิจการลงทุนทันที

“ธุรกิจต่าง ๆ ต้องเตรียมรับแรงกระแทกและปรับกลยุทธ์หาโอกาสในวิกฤต เพราะช็อกครั้งนี้อาจไม่ใช่กระแทกระยะสั้น แต่จะมีผลปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจการค้าโลกระยะยาวด้วย” ดร.สันติธารกล่าว

“ส่งออกศูนย์เหรียญ” ซ้ำเติมไทย

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า การปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากไทยของสหรัฐถือว่าเกินคาดหมายค่อนข้างมาก เพราะขึ้นภาษีถึง 36% โดยรัฐบาลไทยน่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหากันอยู่เบื้องหลัง ซึ่งต้องมองการเดินหน้าต่อไป เพราะสหรัฐถือเป็นตลาดใหญ่ของไทยราว 20% ของมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐ หรือคิดเป็น 10% ของจีดีพีไทย หากไม่ทำอะไรจะมีผลกระทบแน่นอน โดยประเมินว่า GDP ไทยมีโอกาสโตต่ำ 2%

วันนี้ยอมรับว่ายากมาก ๆ เพราะนอกจากจะต้องเจรจากับสหรัฐในการเปิดตลาด ชะลอไม่ให้เก็บภาษี และต้องส่งออกให้ได้ตามปกติ ขณะเดียวกันก็ต้องตั้งรับสินค้าที่ทะลักเข้ามาสวมสิทธิจากไทยเพื่อส่งออกไปสหรัฐ ที่อาจเรียกว่า “ส่งออกศูนย์เหรียญ” เพราะเป็นการนำวัตถุดิบเข้ามาแทบทั้งหมด มูลค่าที่ควรจะได้มีน้อย ทำให้ต้องมาดูว่าเราจะตั้งรับอย่างไร ว่าจะเพิ่มมูลค่าและประสิทธิภาพในการผลิตได้อย่างไร และต้องตั้งหลักให้ดี ดูภาคการผลิตของไทย ว่าควรดำเนินการอย่างไร เพราะภาคการผลิตของไทยก็มีความอ่อนแอ แม้เกินดุลส่งออกสินค้า ซึ่งจะแก้ไขอย่างไรให้ครบวงจร

กระทบลูกโซ่ครึ่งปีหลังหนัก

“ต้องดูว่ามาตรการตั้งรับที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน ทั้งการส่งออกและในประเทศ เพราะภาคการผลิตกำลังจะถูกผลกระทบค่อนข้างมาก จากดัชนีภาคการผลิตที่อ่อนแอมากอยู่แล้ว ซึ่งมาตรการทางการเงินจะต้องเข้ามามองว่าจะดูแลผู้ได้รับผลกระทบทำได้อย่างไร เพราะผลกระทบจะเป็นลูกโซ่และเห็นชัดในช่วงครึ่งหลังของปีนี้”

ดร.อมรเทพกล่าวว่า โดยแนวทางแก้ไขปัญหา คือ วางแผนเจรจาการค้าในเรื่องการเก็บภาษีจากสหรัฐต้องมีความเสมอภาคกัน สินค้าส่งออกไปสหรัฐจะต้องระบุว่าผลิตและใช้วัตถุดิบของไทยมากที่สุด การบิดเบือนค่าเงิน ทรัพย์สินทางปัญญา และบริษัทที่ผลิตสินค้าในไทย อาจต้องย้ายไปผลิตสินค้าที่สหรัฐเพื่อเชื่อมโยงฐานการผลิตมากขึ้น

“ไม่ได้มองแค่ภาคการผลิตเท่านั้น เพราะผู้บริโภคก็กำลังได้รับผลกระทบเช่นกัน จากการจ้างงานที่อาจลดลง เศรษฐกิจกำลังเติบโตช้าลง จึงต้องหามาตรการประคองเศรษฐกิจ แต่ไม่ใช่การแจกเงิน ต้องเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อให้ประชาชนมีรายได้อย่างยั่งยืน ความท้าทายทางการคลังกำลังเกิดขึ้นพอ ๆ กับความท้าทายทางการเงิน ซึ่งถือเป็นโจทย์สำคัญของทั้งรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)” นายอมรเทพ

อาเซียน “สวมรอยส่งออก”

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ให้สัมภาษณ์ในรายการ “Suthichai” ว่า ภายหลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้า (Reciprocal Tariffs) จากไทยในอัตรา 36% ยอมรับว่า ตัวเลขที่ออกมาค่อนข้างตกใจและสูงกว่าที่คิดไว้ ถือเป็น “ระเบิด” ที่แรงกว่าที่คิด

โดยจะเห็นว่ายุโรปขาดดุลการค้ากับสหรัฐค่อนข้างสูง แต่โดนเรียกเก็บอัตราภาษีเพียง 20% สะท้อนว่าพื้นที่เป้าหมายสำคัญคือ ภูมิภาคอาเซียน และเอเชีย ซึ่งอาเซียนเกินดุลสหรัฐค่อนข้างเยอะ ส่วนหนึ่งมาจากจีนมาตั้งโรงงานและสวมรอยส่งออกสินค้าไปสหรัฐ โดยอาเซียนจะโดนเรียกเก็บเยอะกว่าเอเชีย เช่น กัมพูชา 49% สปป.ลาว 48% เวียดนาม 46% เมียนมา 45% เนื่องจากมองว่ากลุ่ม CLMV เป็นโครงข่ายและเป็นพันธมิตรกับจีน ขณะที่ภูมิภาคเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น 24% เกาหลี 26% อินเดีย 27% ไต้หวัน 32% และจีน 34% ซึ่งเป็นการ On Top จากเดิม 20% เพิ่มเป็น 54%

อย่างไรก็ดี ในเอกสาร USTR มีการระบุถึงสินค้าที่มีข้อยกเว้น 500 รายการ ซึ่งสินค้าไทยที่ส่งออกไปสหรัฐ มีอยู่ในกลุ่มข้อยกเว้นด้วย ดังนั้นอาจจะต้องดูรายละเอียดและอัตราที่คิดจริงสุทธิ อาจจะเหลืออัตราภาษีนำเข้าเพียง 27-29% เท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องคิดว่าผลกระทบจริง ๆ คืออะไร

เศรษฐกิจทั่วโลกปั่นป่วน

ดร.กอบศักดิ์กล่าวอีกว่า จากการเก็บอัตราภาษี จะเห็นประเทศแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ประเทศที่ตอบโต้สหรัฐ เช่น จีน ยุโรป สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งจะทำให้เหตุการณ์ลุกลาม 2.ประเทศที่ยอม จะเป็นประเทศที่โดนเรียกเก็บน้อย เช่น อังกฤษ ออสเตรเลีย โดนเก็บ 10% และ 3.ประเทศที่อยากเจรจา ส่วนประเทศเม็กซิโก และแคนาดา จะเป็นประเทศที่ถูกจัดคนละกลุ่ม เนื่องจากสหรัฐมีการใช้ซัพพลายเชนร่วมกับเม็กซิโกในการผลิตรถยนต์ และมีการส่งชิ้นส่วนไปกลับและถูกเลื่อนออกไปก่อน

หลังจากนี้ “สงครามการค้า” จะทำให้ “เศรษฐกิจทั่วโลกปั่นป่วน” นำมาถึงการส่งออกลดลง เศรษฐกิจโลกผลิตได้น้อยลง คนตกงานมากขึ้น และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ลดลง ซึ่งเริ่มเห็นคนพูดถึง “ภาวะเศรษฐกิจถดถอย” หรือ Recession มีโอกาสมากขึ้น ซึ่งสหรัฐยังเชื่อว่าเศรษฐกิจดีอยู่ แต่สหรัฐจะปรับตัวอย่างไร เพราะอัตราเงินเฟ้อจะปรับขึ้นมากขนาดไหน ทำให้เศรษฐกิจมีลมต้าน และการส่งออกของไทยไม่ง่ายอย่างที่คิด

แค่จุดเริ่มต้น Trade War

ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า การขึ้นภาษีนำเข้าเป็นแค่ส่วนเดียวของกลยุทธ์ 3 ชั้นทรัมป์ ที่จะประกอบด้วย 1.การขึ้นภาษีระดับประเทศ 2.รายอุตสาหกรรม เช่น จีน ที่โดนอุตสาหกรรมเหล็กและอะลูมิเนียม และ 3.ระดับโรงงาน เช่น โรงงานจีนที่แปลงร่างมาอยู่ไทย เพื่อใช้เป็นฐานส่งออกไปสหรัฐ โดยใช้สิงคโปร์ถือหุ้น 49% แต่จริง ๆ คือ จีน 100% ซึ่งสหรัฐมองทะลุ จึงมีมาตรการตอบโต้โซลาร์เซลล์ในเวียดนามและไทย ซึ่งกลยุทธ์ของทรัมป์มีหลายชั้น ดังนั้นจึงมองว่านี่เป็นแค่จุดเริ่มต้นของ Trade War ที่กำลังก่อตัวขึ้น และมาอีกหลากหลายรูปแบบ

“ทรัมป์ต้องการ Restructure โลก และตอนนี้ฝุ่นตลบ แต่สิ่งที่น่ากังวลใจคือ แผ่นดินไหวจะเห็นว่ามีอาฟเตอร์ช็อกตามมา แต่การปรับขึ้นภาษีเป็น On Top เช่น จีน ก่อนหน้านี้โดนไปแล้ว 20-25% และรวมครั้งนี้อีก สินค้าจีนจะอยู่ที่ 80% ทำให้ตลาดจะเปลี่ยนไปอีกแบบ ดังนั้นอาฟเตอร์ช็อกตามมาไม่ใช่แผ่นดินไหว แต่เป็น On Top ที่เป็นยาพิษที่สะสมเรื่อย ๆ ยิ่งนานวันระบบจะแย่ลงเรื่อย ๆ”

ต่างชาติเบรกย้ายฐานผลิต

นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) กล่าวว่า หากมีการปรับขึ้นอัตราภาษีตามที่ประกาศ จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มชะลอตัวลงชัดเจน และมีโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มขึ้นมาก และจากอัตราภาษีตอบโต้ที่สหรัฐประกาศกับไทยที่ 36% จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยราว 1.35% จากที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.8% จะเหลือเพียง 1.45%

โดยยังไม่นับรวมผลของมาตรการที่รัฐบาลจำเป็นต้องบังคับใช้เพื่อประโยชน์ต่อการเจรจาต่อรอง เช่น การเพิ่มโควตานำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐ ของหลายประเทศ อาจส่งผลให้สินค้าไทยที่คล้ายคลึงกับสหรัฐ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบทางอ้อม ที่ส่งผลกับเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า อาทิ แนวโน้มการลงทุนจากต่างชาติที่อาจลดลง เนื่องจากอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ทำให้การตัดสินใจย้ายฐานการผลิตทำได้ยากขึ้น และสุดท้ายมองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้ง รวม 0.50% ในการประชุมปลายเดือนเมษายนนี้ 1 ครั้ง และอีก 1 ครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยอาจลดลงเหลือ 1.50% ในสิ้นปีนี้

TDRI ห่วงสินค้าจีนทะลัก

สอดคล้องกับ ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผอ.วิจัย Economic Intelligence Service (EIS) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นอกจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการส่งออกไทยแล้ว คาดว่าสินค้านำเข้าก็จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากทุกประเทศต้องหาตลาดใหม่ โดยเฉพาะสินค้าจากจีน และสินค้าประเภทเหล็ก อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสหรัฐต้องการให้นานาประเทศ รวมทั้งไทยเจรจาเพิ่มเติมเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับสหรัฐมากขึ้นกว่าเดิม แลกกับการขอปรับลดอัตราภาษีนำเข้า เพราะในเอกสารของสหรัฐระบุว่า ทุกอย่างปรับเปลี่ยนได้หากมีการเจรจา

และสิ่งที่น่าเป็นกังวล คือท่าทีของธุรกิจต่างชาติที่ต้องการมาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งมีภาคธุรกิจจากต่างประเทศจำนวนมากที่มาขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ และได้รับบัตรส่งเสริมไปแล้วในสองปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้เข้ามาลงทุน เมื่อมีความไม่แน่นอนนี้เกิดขึ้นและไทยถูกขึ้นภาษี 36% บางธุรกิจอาจจะชะลอการลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์หลังการเจรจาระหว่างประเทศต่าง ๆ กับสหรัฐ

ส่งออกติดลบ -3.8%

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า จากการประกาศอัตราภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐ สูงกว่าที่ศูนย์วิจัยประเมินไว้ โดยคาดว่าจะกระทบภาคส่งออกทางตรงและทางอ้อมรวม -3.8% จากเดิมมองโต 2.5% โดยคาดว่าจะฉุดมูลค่าการส่งออกราว 4 แสนล้านบาท ส่งผลให้ดัชนีภาคผลิตอุตสาหกรรมเสี่ยงติดลบสูงขึ้น จากเดิม -1% เป็น -3.4%

และคาดว่าจะกระทบต่อจีดีพีไทยปีนี้ราว 1% จากที่คาดการณ์ 2.4% เหลือ 1.4% โดยเศรษฐกิจในครึ่งแรกของปียังขยายตัวได้ราว 3% แต่ครึ่งหลังของปีจะไม่ขยายตัวเลย ดังนั้น ขึ้นอยู่กับการเจรจากับสหรัฐ และดีลที่จะได้รับ และมองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 30 เมษายนนี้ และอีกครั้งครึ่งหลังของปีนี้

เซ็นทรัลห่วงกระทบมู้ดจับจ่าย

ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา กล่าวว่า กำแพงภาษีของรัฐบาลสหรัฐ อาจส่งผลต่อมู้ดของผู้บริโภคในช่วงหลังจากนี้ ซึ่งต้องจับตาดูช่วงสงกรานต์นี้เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าผลกระทบจะเกิดในระยะเวลาจำกัดเท่านั้น เนื่องจากชาวไทยมีความสามารถด้านการปรับตัวสูง สะท้อนจากการผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาแล้วหลายครั้ง

ทั้งนี้ ในด้านการรับมือเบื้องต้น อยากให้ภาครัฐมีการส่งเสริมการใช้จ่ายในประเทศ อาทิ การเพิ่มสิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกันให้เยอะขึ้น เพื่อกระตุ้นให้คนไทยเที่ยวในประเทศ เพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐและสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุน รวมไปถึงอาจต้องดูว่าจะสามารถสร้างความร่วมมือด้านการส่งออกกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนแทนได้หรือไม่ เช่นเดียวกับภาคท่องเที่ยวที่ไทยยังได้เปรียบในฐานะเป็นเดสติเนชั่นที่ค่าใช้จ่ายจับต้องได้ง่ายที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค ซึ่งอาจเป็นโอกาสที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา