ธปท.เตือนพายุเทรดวอร์ ลากยาว-ไม่จบเร็ว-อย่าชะล่าใจ

Dr.Setthaput ธปท.เตือนพายุเทรดวอร์ ลากยาว-ไม่จบเร็ว-อย่าชะล่าใจ
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

“ตอนนี้มองไปข้างหน้าพายุมาแน่ ๆ แต่ตอนนี้เราไม่เห็นตัวเลขชัด ๆ และไม่เห็นกรอบเจรจาการค้า แต่เริ่มเห็นการลงทุนชะงักเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งเราต้องรอดูการเจรจา และเห็นผลกระทบหนัก ๆ ในช่วงครึ่งหลังของปี หรือไตรมาส 4 ปี 2568 แต่พายุนี้ไม่จบเร็ว แม้จะเลื่อน 90 วัน จำนวนประเทศเยอะมาก ดังนั้น พายุนี้ใช้เวลายาว และนานกว่าจะจบ” 

เสียงเตือนจาก “ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กล่าวในงานพบสื่อมวลชน เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

ภาษี “ทรัมป์” ทุบเศรษฐกิจไทย

โดยผู้ว่าการ ธปท. ประเมินผลกระทบจากนโยบายภาษีตอบโต้ของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ต่อเศรษฐกิจไทย ว่า จุดต่ำสุดที่เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบ คงไม่เห็นเร็วกว่าไตรมาส 4 ปี 2568 เพราะใช้เวลารอความชัดเจน และผลที่จะเห็น แต่ความลึกของช็อก มองว่าไม่เท่ากับช็อกครั้งก่อน ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการเงินโลกปี 2551 ที่การส่งออกของไทยหดตัว -13% แต่รอบนี้ตามสมมุติฐานคาดว่าจะหดตัว -1%

อย่างไรก็ดี มองว่าไม่ควรชะล่าใจเกินไป แต่ก็ไม่ควรตกใจเกินไป โดยสมมุติฐานที่ว่า หากเกิดสงครามการค้าเต็มที่ จะเห็นเศรษฐกิจลงลึกกว่า แต่การเก็บภาษีเกิน 100% ก็มีคนคิดว่าน่าจะเป็นไปไม่ได้ เพราะภาคการผลิตของสหรัฐต้องพึ่งพาสินค้าขั้นกลางจากจีนถึง 46% ดังนั้น โอกาสเกิดเทรดวอร์เต็มที่ คงไม่เกิดขึ้นแน่

“แต่การเก็บภาษี 10% ก็ถือว่าเยอะมากแล้ว และยังไงเศรษฐกิจโลกและการค้าโลกคงต้องชะลอลง จึงต้องจับตาช่วงแรกและช่วง 2 คือการเจรจา การลงลึกของเศรษฐกิจ แต่คิดว่าเศรษฐกิจไม่ลงลึกเมื่อเทียบกับ Episode อื่น”

ห่วงใช้เวลานานในการฟื้นตัว

“ดร.เศรษฐพุฒิ” กล่าวว่า การฟื้นตัวใช้เวลาค่อนข้างยาว เพราะเป็นการปรับตัวของซัพพลายเชน จึงต้องใช้เวลาเป็นปี ซึ่งการปรับตัวไม่ได้เป็นเรื่องที่ง่ายกว่าจะกลับมาสู่โลกปัจจุบัน

ขณะที่หลังพายุผ่านไป หากไม่ปรับตัวการเติบโตจะต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดช็อก เพราะนโยบายภาษีทำให้การค้าโลกชะลอลง ซัพพลายเชนปรับเปลี่ยน จะบั่นทอนประสิทธิภาพ ทำให้การเติบโตโลกและไทยเติบโตชะลอลง ซึ่งหากไทยไม่ปรับตัวโอกาสที่ไทยจะ “เติบโตต่ำ” กว่าในอดีตมีค่อนข้างสูง จึงควรใช้จังหวะนี้ในการปรับตัว

ADVERTISMENT

“โอกาสจะเติบโตสูงกว่าช่วงก่อนก็มี อย่างตลาดสหรัฐ ที่ค่อนข้างใหญ่ สัดส่วนการนำเข้าสินค้าของสหรัฐอยู่ที่ 15% ของการค้าโลก ที่เหลือ 85% จะทำอย่างไร หากเดินหน้าค้าขายกันเอง ลดกำแพงภาษีลง ทำให้ 85% รวมตัวกันค้าขายมากขึ้น จะทำให้การค้าขายของไทยทำได้มากขึ้น และหากไทยยกระดับภาคบริการโอกาสเติบโตเพิ่มสูงขึ้นก็มี เพราะเทียบประเทศอื่นพึ่งพาภาคผลิต แต่ไทยมีเศรษฐกิจภาคบริการค่อนข้างมาก”

นโยบายแก้ปัญหาต้องไม่ ปูพรม

ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายจะต้องเอื้อให้การปรับตัวได้เร็วขึ้น และเอื้อในระยะยาวหลังพายุผ่านไป และสามารถเติบโตได้ดีกว่าเดิม ดังนั้น มาตรการที่จะออกมาไม่ควร “ปูพรม” อย่างเซ็กเตอร์ ที่ส่งออกไปสหรัฐสูง แต่ผลกระทบแตกต่างกัน อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า, อาหารแปรรูป, เครื่องนุ่งห่มสิ่งทอ เป็นต้น

“ช็อกที่เราเจอ เหมือนพายุที่กำลังมา เรือจะแล่นในสปีดเดิมไม่ได้ โจทย์ของนโยบายตอนนี้ ผมว่าไม่ใช่เรื่องกระตุ้นเพื่อให้สปีด หรือเรือวิ่งเร็วแบบเดิม เพราะการเจอช็อกแบบนี้ยังไงการเติบโตก็ต้องชะลอลง หนีไม่พ้น

ดังนั้น การรับมือคือ ต้องทำให้ช็อกที่เจอเบาลง อย่าทำให้ผลกระทบลึกมาก และมาตรการต้องเอื้อให้เกิดการปรับตัวได้เร็วในการเติบโตระยะยาว เมื่อพายุผ่านไป”

ยันพร้อมออกมาตรการดูแล

“ดร.เศรษฐพุฒิ” กล่าวว่า หากถามว่า ธปท.ทำอะไร ต้องบอกว่า 1.นโยบายการเงิน ทำมาต่อเนื่อง โดยดูนโยบายการเงินควบคู่กับนโยบายอื่น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ย 0.25% มา 2 ครั้งต่อเนื่อง แต่กระสุนมีจำกัดต้องใช้อย่างระมัดระวัง

2.ตลาดการเงินค่อนข้างผันผวน เงินดอลลาร์แกว่ง และทองคำแกว่ง ธปท.ก็ดูแลต่อเนื่อง แต่ก็ผันผวนสูง และ 3.มาตรการการเงินที่ใช้อยู่ เช่น การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) เน้นเรื่องของการปรับโครงสร้างหนี้ก่อนและหลังเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)

“ธปท.พร้อม หากมีความจำเป็นที่จะออกมาตรการเพิ่มเติม แต่ต้องดูผลกระทบออกมาในรูปแบบไหน หน้าตาแบบไหน

ภาพตอนนี้เข้าใจว่า ภาพหนัก มัวหมอง และพายุกำลังมาชัดเจน ซึ่งภาพมันทำให้เรารู้สึกหนักเป็นพิเศษ แต่มันเป็นเรื่องที่สะสมมาตั้งแต่เจอโควิด-19 มาเจอค่าครองชีพสูง เราไม่เถียง เพราะเราโดนหลายด้าน สารพัดด้าน ภาคประชาชนเจอเรื่องหนี้ครัวเรือน เอสเอ็มอีอ่อนแอและมาเจอสินค้าจีนทะลัก”

หนุนรัฐทบทวนดิจิทัลวอลเลต

ส่วนกรณีเรื่องของ “แจกเงินหมื่นบาท” หรือ “ดิจิทัลวอลเลต” นั้น “ดร.เศรษฐพุฒิ” กล่าวว่า ต้องขอบคุณภาครัฐที่มีการทบทวนความเหมาะสมเรื่องนี้ เพราะในยามนี้บนสถานการณ์ที่เปลี่ยน บวกกับสินค้าต่างประเทศทะลักเข้าไทย การทำนโยบายต่าง ๆ ต้องเน้นความคุ้มค่าและมีประสิทธิผลที่ดี ภายใต้ขีดความสามารถด้านการเงินและการคลังมีอย่างจำกัดมากขึ้น

“ความเห็นเราคงไม่เปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยสื่อสาร คิดว่าโครงการนี้จะต้องดูในเรื่องความคุ้มค่า ประสิทธิผลให้ดี และยิ่งยามนี้ที่สถานการณ์เปลี่ยนไป มีทั้งเรื่องความท้าทายใหม่ ๆ ที่เข้ามา”

ฝากโจทย์ผู้ว่าการ ธปท. คนใหม่

ทั้งนี้ เนื่องจากตนเองจะครบวาระทำงานในสิ้นเดือน ก.ย.นี้ “ดร.เศรษฐพุฒิ” ฝากผู้ว่าการคนใหม่ว่า นอกจากการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เข้ามานั้น สิ่งที่ต้องทำ คือ เรื่องของระยะยาว การปูพื้นฐานโครงสร้างต่าง ๆ เป็นสิ่งที่พยายามทำมาต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ช่วยทำให้ภาพรวมของระบบดีขึ้น เช่น ภูมิทัศน์การเงินใหม่ (Financial Landscape) อาทิ เรื่องของ 3 Open ตัวอย่าง Open Data ที่จะเข้ามาช่วยเรื่องของการแข่งขัน และปัญหาเชิงโครงสร้าง เป็นสิ่งที่อยากให้ช่วยสานต่อ

“แต่ละคนมี Priority แตกต่างกัน แต่สิ่งที่อยากจะให้ช่วยสานต่อ คือ เรื่องของระยะยาว แม้เป็นสิ่งที่ไม่ได้เห็นผลในเร็ววัน แต่เป็นสิ่งที่จะช่วยทำให้ภาพรวมดีขึ้น และแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง”