
“ไพบูลย์” ซีอีโอ บล.ทิสโก้-นายกสมาคมนักวิเคราะห์ โพสต์เฟซุบ๊กฉายภาพ “แรงกดดันรอบด้าน ตลาดหุ้นไทยจะไปต่ออย่างไร ?
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า “แรงกดดันรอบด้าน ตลาดหุ้นไทยจะไปต่ออย่างไร”
นับจากต้นปี 2568 ตลาดหุ้นไทยเผชิญแรงกดดันหลายด้าน ตั้งแต่แรงขายจากกองทุน LTF ที่ครบกำหนดการถือครองรวมกว่า 40,000 ล้านบาท เหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในรอบศตวรรษ ไปจนถึงมาตรการภาษีนำเข้าตอบโต้จากสหรัฐ ที่เรียกเก็บจากไทยในอัตราสูงถึง 36%
แม้สหรัฐจะเลื่อนการจัดเก็บภาษีออกไป 90 วัน แต่ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น ก็ทำให้หลายโครงการลงทุนขนาดใหญ่ชะลอการตัดสินใจ ขณะเดียวกันสถานการณ์การเมืองภายในประเทศที่เริ่มร้อนแรง ยิ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน
ภาคการท่องเที่ยวที่ถูกคาดหวังให้เป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ กลับเผชิญแรงเสียดทานจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ต่ำกว่าคาด ขณะที่นักท่องเที่ยวจากประเทศอื่น ก็เริ่มลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายถึง 2 ครั้งในปีนี้ และภาครัฐได้ออกมาตรการส่งเสริมตลาดทุนอย่าง Thai ESGX ที่ให้สิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม ผลลัพธ์กลับยังไม่สามารถฟื้นฟูความเชื่อมั่นของตลาดได้เต็มที่ สะท้อนถึงความเปราะบางของตลาดทุนไทยในมุมมองของนักลงทุน
ด้านผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน ไตรมาสแรกปี 2568 ขยายตัว 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ถือเป็นการเริ่มฟื้นตัวหลังจากหดตัวต่อเนื่อง 3 ปี แต่ระดับการเติบโตยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ สะท้อนถึงความเปราะบางของภาคธุรกิจโดยรวม
ด้วยปัจจัยลบเหล่านี้ ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับลดลงกว่า 15% จากต้นปี ยังคงเป็นตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนแย่ที่สุดในเอเชีย และ Underperform ตลาดโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 3
พัฒนาการเชิงบวกล่าสุด คือ ท่าทีที่ผ่อนคลายลงของประธานาธิบดีทรัมป์ ขณะที่ข้อเสนอจากฝ่ายไทยก็ดูเหมือนได้รับการตอบรับอย่างเป็นมิตรในเบื้องต้น อย่างไรก็ตาม โครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ยังพึ่งพาการส่งออกสินค้าเป็นหลัก (เกือบ 60% ของ GDP) ยังคงเป็นจุดอ่อน โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย (18% ของมูลค่าส่งออกรวม)
ในบริบทของกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่ชัดเจนขึ้น การฝากความหวังไว้กับการส่งออกในฐานะเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจเช่นในอดีตน่าจะไม่ใช่คำตอบที่ยั่งยืน ขณะเดียวกันด้วยสถานะเศรษฐกิจเปิดขนาดเล็กที่เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ประเทศไทยก็ไม่อาจพึ่งพาการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศเพียงลำพังได้
ทางออกระยะยาว คือการยกระดับศักยภาพการส่งออกของไทย ควบคู่กับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีความหลากหลายและสมดุลมากยิ่งขึ้น รัฐบาลควรเร่งกระจายความเสี่ยงโดยการขยายตลาดส่งออกใหม่ พร้อมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย โดยมุ่งเน้นการผลิตสินค้านวัตกรรมและสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เพื่อรักษาบทบาทของไทยในห่วงโซ่อุปทานโลก
สำหรับเศรษฐกิจในประเทศ รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนให้ต่ำกว่า 80% ต่อ GDP เพื่อเสริมสร้างกำลังซื้อในระยะยาว
ข่าวดี คือ ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในปี 2567 ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.1 ล้านล้านบาท และยังคงขยายตัวต่อเนื่องในไตรมาสแรกของปีนี้ โดยเติบโตเกือบ 100% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แตะระดับกว่า 4 แสนล้านบาท นำโดยการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์
แม้ความไม่แน่นอนอาจส่งผลให้บางโครงการชะลอการตัดสินใจลงทุน แต่โดยรวมแล้ว โครงการที่ยื่นขอส่งเสริมส่วนใหญ่ไม่ได้เน้นการส่งออกไปยังสหรัฐโดยตรง ทำให้ความเสี่ยงในการถูกยกเลิกมีอยู่ในระดับต่ำ
ในช่วงเวลาที่เหลือของปี รัฐบาลยังจำเป็นต้องใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อพยุงกำลังซื้อ แต่ด้วยพื้นที่ในการใช้นโยบายการคลังมีจำกัด มาตรการที่ออกมาควรมุ่งเน้นให้เกิดผลทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจสูงสุดและมีความยั่งยืน โดยเฉพาะการส่งเสริมโครงการที่นำไปสู่การจ้างงานและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
ด้านผลประกอบการ แม้ภาพรวมยังคงอ่อนแอ แต่เริ่มมีสัญญาณว่า วัฏจักรขาลงอาจใกล้สิ้นสุด โดยเฉพาะเมื่อไม่รวมกลุ่มพลังงานซึ่งมีความผันผวนสูง จะเห็นได้ว่ากำไรรวมของบริษัทจดทะเบียนเริ่มทยอยฟื้นตัวตั้งแต่ปีที่ผ่านมา
อีกหนึ่งปัจจัยบวกคือ จำนวนบริษัทจดทะเบียนที่อาจได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงครามการค้ายังอยู่ในระดับจำกัด
มองไปข้างหน้า ตลาดหุ้นไทยมี Downside risk เหลือไม่มาก ดูได้จาก ค่า Forward P/E ที่ 12 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปี ขณะที่ค่า P/BV อยู่ที่ 1.1 เท่า ต่ำกว่าช่วงวิกฤตโควิด อีกทั้งยังมีหุ้นจดทะเบียนมากกว่า 60% ที่ซื้อขายต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี
แต่โอกาสที่ตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นยังค่อนข้างจำกัดในระยะสั้น จากความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวม เว้นแต่ผลการเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐ จะออกมาดีเกินคาด จนส่งผลให้มีการปรับประมาณการ GDP ของไทยกลับไปเติบโตในระดับมากกว่า 2%
อย่างไรก็ตาม ตลาดอาจได้รับแรงหนุนทางอ้อมจากการฟื้นตัวของบรรยากาศการลงทุนทั่วโลก หากทรัมป์สามารถผลักดันสองนโยบายเศรษฐกิจหลักที่เหลือได้สำเร็จ ได้แก่ การลดภาษีเงินได้ และการผ่อนคลายกฎระเบียบภาคธุรกิจ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยเชิงบวกต่อตลาดทุน
ในระยะยาว หากประเทศไทยสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) รอบใหม่ได้สำเร็จ ตลาดหุ้นไทยก็มีศักยภาพในการฟื้นตัวและเติบโตอย่างยั่งยืน บนฐานเศรษฐกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
ทั้งหมดนี้ยังขึ้นอยู่กับความสามารถของภาครัฐในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุน และสร้างความมั่นใจว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนจะสามารถกลับมาเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
ในช่วงนี้ ตลาดหุ้นไทยยังลงทุนได้ แต่ควรดำเนินการด้วยความระมัดระวัง โดยเน้นเลือกหุ้นที่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง แนวโน้มกำไรเติบโต และราคายังต่ำกว่ามูลค่าที่เหมาะสม โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มที่พึ่งพาปัจจัยภายในประเทศ (domestic plays) อาทิ กลุ่มอาหาร โทรคมนาคม โรงพยาบาล บริการ และโรงไฟฟ้า ตลอดจนหุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ