แบงก์หวั่นเขื่อนลาวแตกบานปลายกระทบสินเชื่อก้อนโต

(Attapeu Today via AP)

แบงก์ลุ้นระทึกหวั่นปัญหาเขื่อนไฟฟ้าลาวแตกบานปลายกระทบความเสี่ยงสินเชื่อโครงการ หลังรัฐบาลลาวชี้อาจเกิดจากปัญหาโครงสร้างเขื่อน ยอมรับต้องเพิ่มความระมัดระวังปล่อยกู้กลุ่มอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น ฟากบริษัทประกันส่งทีมเซอร์เวเยอร์ลงพื้นที่ประเมินความเสียหาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีเขื่อนดินของโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย ในแขวงจำปาสัก และแขวงอัตตะปือ สปป.ลาว ทรุดตัวเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีบริษัท ไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย จำกัด เป็นผู้พัฒนาและก่อสร้าง โดยเป็นการร่วมทุนของบริษัท SK Engineering and Construction จำกัด ถือหุ้น 26% บริษัท Korea Western Power จำกัด ถือหุ้น 25% บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 25% และ Lao Holding State Enterprise ถือหุ้น 24%

แบงก์ลุ้นระทึก

แหล่งข่าวจากแวดวงธนาคารพาณิชย์ระบุว่า จากกรณีที่นายคำมะนี อินทิรัด รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ ของ สปป.ลาว ได้ระบุว่า กรณีเขื่อนดินย่อยของเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยพังลงนั้น สาเหตุที่เป็นไปได้คือมาจากปัญหาการก่อสร้างที่โครงสร้างของเขื่อนมีความไม่ยืดหยุ่นเพียงพอ ซึ่งหากเกิดจากปัญหาจากการก่อสร้างจริงก็จะทำให้บริษัทร่วมทุนดังกล่าวมีความเสี่ยงที่ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งในส่วนของโครงการและความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินโดยรวม

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้คงต้องมีการพิสูจน์หาข้อเท็จจริงกันต่อไป ซึ่งแม้ว่าโครงการจะมีการทำประกันไว้ แต่ก็คงต้องดูในรายละเอียดของความรับผิดชอบ หมายความว่าธนาคารพาณิชย์ผู้ปล่อยกู้โครงการก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้น เพราะนอกจากผลกระทบที่จะเปิดเดินเครื่องขายไฟล่าช้าออกไปจากที่กำหนดในเดือน ก.พ. 2562 ที่ทำให้ไม่มีรายได้เข้าบริษัท และยังมีภาระที่อาจต้องชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการประเมินความเสียหายออกมา นอกจากนี้ยังอาจกระทบความเชื่อมั่นต่อโครงการเขื่อนไฟฟ้าอื่น ๆ ใน สปป.ลาว ซึ่งมีบริษัทไทยเข้าร่วมลงทุนหลายโครงการ

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย ใช้งบฯลงทุน 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 22,000 ล้านบาท โดยมีสถาบันการเงินไทย 4 แห่ง ให้เงินกู้ก่อสร้างโครงการในรูปแบบสินเชื่อร่วม (syndication loan) ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารธนชาต

รอผลพิสูจน์ข้อเท็จจริง

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) กล่าวว่า การปล่อยกู้สร้างเขื่อน แบงก์มีการพิจารณาความเสี่ยงต่าง ๆ เป็นกระบวนการปกติอยู่แล้ว กรณีเขื่อนแตกใน สปป.ลาวที่เกิดขึ้นขณะนี้ หากมีการชี้ว่าเป็นปัญหาจากโครงสร้าง ก็อยู่ในความรับผิดชอบของผู้รับเหมา ซึ่งทาง สปป.ลาวคงมีการตรวจสอบและพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ส่วนการปล่อยกู้สร้างเขื่อนใน สปป.ลาวในอนาคต คงไม่ถึงกับปล่อยกู้ยากขึ้น เพราะแบงก์ก็พิจารณาการอนุมัติเงินกู้ไปตามเกณฑ์ปกติ แต่กรณีการก่อสร้างที่อาจจะไม่ได้มาตรฐานหรืออย่างไรนั้น ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็คงมีการเข้าไปตรวจสอบไล่เบี้ยกันต่อไป

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า กรณีเขื่อนแตกใน สปป.ลาว ความเสี่ยงในอนาคตน่าจะทำให้การสร้างเขื่อนอาจทำได้ยากขึ้น เนื่องจากจะถูกคัดค้านจากเอ็นจีโอมากกว่า

SCB เข้มปล่อยกู้เขื่อนลาว

ด้านนายวศิน ไสยวรรณ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุด ด้านธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า กรณีเขื่อนลาวแตกนั้น ธนาคารไม่ได้ปล่อยกู้โครงการดังกล่าว แต่ก็ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเอสซีบีได้ร่วมปล่อยกู้ให้กับโครงการเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบด้านความเชื่อมั่น โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการตามแผนในต้นปี 2562 ซึ่งการปล่อยกู้มีการทำประกันภัยเพื่อรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน และภัยต่าง ๆ รวมถึงภัยธรรมชาติไว้เรียบร้อยแล้ว

“จากเหตุการณ์นี้ก็ทำให้เราต้องดูสถานการณ์ใกล้ชิดกับการปล่อยกู้ในอนาคต แต่ก็ไม่ได้ถึงกับไม่ปล่อยกู้โครงการที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนเลย เพราะเหตุการณ์ภัยธรรมชาติเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งทุกโครงการที่ธนาคารปล่อยสินเชื่อก็ดูข้อกฎหมาย มาตรฐานของบริษัทที่จะปล่อยกู้ต่าง ๆ ไว้อย่างรัดกุมและรอบด้าน”

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารมองว่าการปล่อยกู้แก่โครงการสร้างเขื่อนหรือโรงไฟฟ้ายังอยู่ในขอบเขตในการพิจารณาตามปกติ เนื่องจากธนาคารได้พิจารณาปล่อยกู้แก่โครงการที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานโลกอยู่แล้ว เช่น เขื่อนไซยะบุรี โครงการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าในแม่น้ำโขง ที่มีขนาดใหญ่และมีโครงสร้างที่แข็งแรงทนทาน หรือโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่มีกฎเกณฑ์ในการคัดกรองที่เหมาะสม ทำให้ธนาคารมองว่ากลุ่มเหล่านี้ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงในการปล่อยกู้ในอนาคต ทั้งนี้ธนาคารให้ความสำคัญในการพิจารณาโครงการที่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า

ประกันส่งทีมลงสำรวจพื้นที่

ขณะที่นางสาวนิตยา พิริยะธรรมวงศ์ ประธานกรรมการบริหารของบริษัท บมจ.ชับบ์สามัคคีประกันภัย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในส่วนของบริษัทได้เข้าไปรับประกันภัยเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ที่ สปป.ลาว โดยเป็นการรับประกันภัยต่อมาจาก บมจ.อลิอันซ์ ประกันภัย ลาว (Allianz General Laos) ในสัดส่วน 17.5% บนกรมธรรม์ประกันการก่อสร้าง (contractors all risks) รวมทั้งการประกันความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ซึ่งขณะนี้บริษัทได้แต่งตั้ง surveyor loss ad-juster เพื่อเข้าไปทำการสำรวจตรวจสอบความเสียหายในพื้นที่ โดยเบื้องต้นที่ยังไม่มีข้อมูลจากผู้สำรวจภัย แต่จากที่ประเมินความเสียหายในส่วนของชับบ์สามัคคีประกันภัย ที่รับประกันภัยต่อมา คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 180 ล้านบาท

รายงานข่าวระบุสำหรับบริษัทประกันในประเทศไทยที่ได้รับประกันภัยต่อจาก บมจ.อลิอันซ์ ประกันภัย ลาว มี 2 บริษัทคือ บมจ.ชับบ์สามัคคีประกันภัย และบริษัท ไอเอจี ประกันภัย (ประเทศไทย) จํากัด

BGRIM ยันไม่กระทบเชื่อมั่น

นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีปัญหาเขื่อนดินย่อยส่วน D ของโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ

เซเปียน-เซน้ำน้อยทรุดตัว ขณะนี้รัฐบาล สปป.ลาวยังไม่ได้มีการประสานเรื่องการเพิ่มมาตรการตรวจสอบความมั่นคงของเขื่อนอื่น ๆ แต่คาดว่าในอนาคตอาจมีการเพิ่มมาตรการดูแลการก่อสร้างมากขึ้น ซึ่งบริษัทไม่กังวลว่ากรณีนี้จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนหรือขยายโครงการใหม่ ๆ และขณะนี้บริษัทก็ยังไม่มีแผนขยายการลงทุนโครงการใหม่ใน สปป.ลาว เนื่องจากบริษัทเพิ่งเริ่มโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมกับเวียดนาม จึงชะลอการขยายโครงการในลาวไว้เพียงแค่นี้ก่อน

สำหรับการลงทุนของ บี.กริมฯใน สปป.ลาว ส่วนที่ร่วมทุนกับบริษัทเอสวี พัฒนาโครงการเขื่อนโรงไฟฟ้าพลังน้ำทั้งหมด 8 โครงการ และเปิดดำเนินการแล้ว 2 โครงการ เมื่อกลางปี 2560

(เซน้ำน้อย 2 และเซกะตำ 1 รวม 20.1 เมกะวัตต์) อีก 6 โครงการ (น้ำแจ 1 และน้ำคาว 1, 2, 3, 4, 5) คาดว่าจะเปิดดำเนินการในปี 2562 ยังเป็นไปตามแผนเดิมที่ทำสัญญาไว้ทั้งหมด

“เขื่อน บี.กริม ในลาวเป็นเขื่อนคอนกรีตสำหรับโรงไฟฟ้าขนาดเล็กเพียง 15-30 เมกะวัตต์ และใช้ระบบ run of river hydroelectric generation ซึ่งเป็นคนละระบบกับเขื่อนที่มีปัญหาครั้งนี้ซึ่งจะเป็นเขื่อนดินโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ประมาณ 410 เมกะวัตต์” นางปรียนาถกล่าว

ช.การช่างมั่นใจ 2 เขื่อนในลาว 


แหล่งข่าวจาก บมจ.ช.การช่างเปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์เขื่อนแตกใน สปป.ลาว ซึ่งในส่วนของ ช.การช่างมีโครงการก่อสร้างเขื่อนใน สปป.ลาวอยู่ 2 แห่ง โดยตั้งอยู่ในพื้นที่ลาวกลางและลาวเหนือ ยังไม่มีผลกระทบอะไรในขณะนี้ โดยเขื่อนน้ำงึม 2 ที่สร้างเสร็จแล้ว 7-8 ปี ยังสามารถปั่นไฟได้อย่างเต็มที่ ขณะนี้ก็ได้ติดตามปริมาณน้ำในเขื่อนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ปริมาณน้ำยังไม่เต็มอ่าง หากเต็มก็จะมีอ่างที่ 2 รองรับการระบายน้ำไว้อยู่แล้ว ส่วนเขื่อนไซยะบุรีที่กำลังก่อสร้าง ซึ่งตามแผนจะแล้วเสร็จปลายปี 2562 รูปแบบก่อสร้างเป็นการสร้างเขื่อนที่เป็นฝายทดน้ำ ไม่ใช่กักเก็บน้ำ เมื่อน้ำไหลมาถึงระดับจะมีการปล่อยน้ำออกไป