สศค.ชี้เศรษฐกิจไทย ก.ค. โต 3 ดี คงเป้าจีดีพี 4.5%

สศค. แจงภาวะเศรษฐกิจไทย ก.ค. 61 ขยายตัวต่อเนื่อง ปัจจัยหลักมาจากการบริโภคภาคเอกชน-การส่งออกสินค้า-ผลผลิตการเกษตร มั่นใจเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังโตต่อเนื่อง พร้อมคงเป้าจีดีพี 4.5%

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกรกฎาคม ปี 2561 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนกรกฎาคม ปี 2561 ขยายตัวจากอุปสงค์ภายในประเทศ โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ดีสะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งที่ขยายตัวในระดับสูง ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 69.1 สูงสุดในรอบ 42 เดือน สำหรับอุปสงค์จากต่างประเทศ สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้ายังคงขยายตัวต่อเนื่อง ด้านอุปทานได้รับแรงสนับสนุนจากภาคเกษตร โดยดัชนีผลผลิตการเกษตรขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่อง 8 เดือนติดต่อกัน ส่งผลให้รายได้ที่แท้จริงของเกษตรกรขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมขยายตัวสูงสุดในรอบ 62 เดือน ถือว่าเติบโตดีทั้ง 3 ภาคส่วน

สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ดี ที่สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนกรกฎาคม 2561 ยังคงขยายตัวอยู่ในระดับสูงที่ 21.4% ต่อปี และปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนกรกฎาคม 2561 ขยายตัว 5.3% ต่อปี ขณะที่ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนกรกฎาคม 2561 หดตัว -4.0% ต่อปี ขณะที่รายได้เกษตรกรที่แท้จริงในเดือนกรกฎาคม 2561 ขยายตัวต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันที่ 5.2% ต่อปี สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนกรกฎาคม 2561 ขยายตัวในระดับสูงที่ 18.2% ต่อปี คิดเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 68 เดือน นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ในเดือนกรกฎาคม 2561 อยู่ที่ระดับ 69.1 สูงสุดในรอบ 42 เดือน โดยเป็นผลมาจากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนในเดือนกรกฎาคม 2561 ขยายตัวจากการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขยายตัวในระดับสูงที่ 28.8% ต่อปี เนื่องจากยอดจำหน่ายรถกระบะขนาด 1 ตัน ขยายตัว 25.5% ต่อปี ขณะที่ปริมาณนำเข้าสินค้าทุนหดตัวเล็กน้อยที่ -0.8% อย่างไรก็ดี หลังจากหักสินค้าพิเศษ (เครื่องบิน เรือ รถไฟ) ปริมาณนำเข้าสินค้าทุนขยายตัว 5.0% สำหรับการลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวที่ 15.4% ต่อปี ขณะที่ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ขยายตัวในระดับสูงที่ 10.5% ต่อปี สำหรับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือนกรกฎาคม 2561 ขยายตัว 4.7% ต่อปี สูงสุดในรอบ 75 เดือน

นายพรชัยกล่าวต่อว่า อุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนกรกฎาคม 2561 มีมูลค่า 20.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 8.3% ต่อปี และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 โดยเป็นการขยายตัวได้ดีในตลาดสำคัญ เช่น ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป อินเดีย CLMV เป็นต้น ทั้งนี้ สินค้าที่สนับสนุนการส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ที่ขยายตัว 11.2% และ 11.1% ต่อปี ตามลำดับ สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 20.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องที่ 10.5% ต่อปี โดยสินค้านำเข้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ เชื้อเพลิง และสินค้าทุนหักเครื่องบิน เรือ รถไฟ ทั้งนี้ ผลของมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่สูงกว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนกรกฎาคม 2561 ขาดดุลจำนวน 516 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานในเดือนกรกฎาคม 2561 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรม นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยที่ยังคงขยายตัวได้ โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 7.4% ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวได้ดีในหมวดพืชผลสำคัญ และหมวดประมง ที่ขยายตัว 11.4% และ 8.8% ตามลำดับ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) อยู่ที่ระดับ 93.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 62 เดือน โดยความเชื่อมั่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาจากยอดคำสั่งซื้อและยอดขายโดยรวมที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับกำลังซื้อภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะภาคเกษตร

ทั้งนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนกรกฎาคม 2561 มีจำนวน 3.18 ล้านคน ขยายตัว 2.8% ต่อปี โดยนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีมาจากนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียเป็นสำคัญ ในขณะที่นักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัวได้ดี เช่น นักท่องเที่ยวชาวฮ่องกง อินเดีย เวียดนาม และญี่ปุ่น เป็นต้น สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวต่างประเทศมูลค่า 166,378.22 ล้านบาท ขยายตัว 6.4% ต่อปี


อย่างไรก็ตามเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพภายนอกอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2561 อยู่ที่ 1.5% ต่อปี เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกัน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.8 ต่อปี สำหรับอัตราการว่างงานในเดือนกรกฎาคม 2561 อยู่ที่ 1.0% ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.8 แสนคน ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 7 เดือน ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2561 อยู่ที่ 41.0% ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งเพดานไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ต่อ GDP ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2561 อยู่ที่ระดับ 205.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 3.4 เท่า สำหรับในช่วงครึ่งปีหลังของปี 61 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ดีกว่าครึ่งปีแรก โดยปัจจัยหลักมาจากการท่องเที่ยวและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะเชื่อมโยงในระดับภูมิภาคมากขึ้น ยังคงเป้าจีดีพีในปีนี้ที่ 4.5%