แบงก์ชาติตั้งบิ๊กดาต้า “ดูดข้อมูลการเงิน” คนไทย เชื่อมธุรกรรมการเงินทุกมิติ

ธปท.ซุ่ม หารือ “คลัง-ดีอี” ตั้งศูนย์ข้อมูลการเงินคนไทยทั้งประเทศ เชื่อมธุรกรรมการเงินทุกมิติ ทั้งสินเชื่อ-เงินฝาก-โอนเงิน/ชำระค่าน้ำค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ประกัน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพนโยบายภาครัฐ ปูทางถึงจัดเก็บภาษี “วิรไท”ยันเป็นเรื่องดีช่วยประชาชนเข้าถึงเงินกู้ได้ง่ายขึ้น แวดวงการเงินหวั่นปัญหาละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล

ธปท.ตั้งบิ๊กดาต้าการเงิน ปท.

แหล่งข่าวแวดวงการเงินเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ระหว่างศึกษาการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อบริหารจัดการระบบข้อมูลการเงินของประเทศ (Public Data Bureau) เป็นการเชื่อมโยงข้อมูลทางการเงินที่สำคัญ เพื่อมารวมอยู่ในศูนย์ข้อมูลเดียวกัน อาทิ ข้อมูลเครดิต, การโอนเงินชำระเงิน, เงินฝาก, เงินประกัน, ข้อมูลของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), ข้อมูลการจ่ายสาธารณูปโภค อาทิ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ เป็นต้น รวมถึงข้อมูลภาคธุรกิจที่อยู่ในกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ฯลฯ

เนื่องจากปัจจุบันการจัดเก็บข้อมูลทางการเงินสำคัญของประเทศยังไม่มีศูนย์รวม และการเชื่อมโยงและแชร์ข้อมูลระหว่างกันยังทำได้จำกัด เนื่องจากติดข้อกฎหมาย หรือรูปแบบการจัดเก็บที่ไม่สอดคล้องกัน ทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการข้อมูลการเงินในภาพรวมได้ ส่งผลให้ไม่สามารถนำข้อมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

แหล่งข่าวกล่าวว่า ข้อมูลทางการเงินและธุรกรรมต่าง ๆ มีความสำคัญมากในการดำเนินนโยบายของภาครัฐและของภาคเอกชนในยุคเศรษฐกิจ ดิจิทัล โดยการนำข้อมูลรายธุรกรรมจากหลายแหล่ง หลายช่องทางมาประมวลผล และวิเคราะห์เชื่อมโยงเพื่อประโยชน์ในการดำเนินนโยบายของภาครัฐที่มี ประสิทธิผล และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ แก่ภาคเอกชน

เพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บภาษี

แหล่งข่าวกล่าวว่า ภาครัฐมีความต้องการเก็บและใช้ข้อมูลในระดับจุลภาคในลักษณะ big data database ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินนโยบายของภาครัฐมีประสิทธิผลมากขึ้น เช่น กรณีการดำเนินนโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยตรง

กลุ่มเป้าหมายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังจะเป็นฐานข้อมูลสำคัญที่ช่วยให้การดำเนินนโยบายการเงินการคลัง ได้ทันท่วงที ในภาวะที่เศรษฐกิจมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

“ขณะเดียวกันก็เป็นประโยชน์กับประชาชนเจ้าของข้อมูลด้วย เพราะปัจจุบันสถาบันการเงินยังมีปัญหาไม่มีข้อมูลเพียงพอ สำหรับการประเมินเครดิตของลูกค้าในกลุ่มที่ไม่มีข้อมูลการเดินบัญชีกับแบงก์ ทำให้อาจไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ หรือถูกคิดดอกเบี้ยสูง ดังนั้นข้อมูลการเงินจากแหล่งอื่น ๆ เช่น ข้อมูลการโอนเงินชำระเงิน หรือประวัติการจ่ายค่าน้ำค่าไฟ หรือการซื้อสินค้าอีคอมเมิร์ซ จะช่วยให้แบงก์มีข้อมูลในการประเมินศักยภาพและความเสี่ยงของผู้ขอสินเชื่อ ได้ดีขึ้น”

หวั่นปัญหาล้วงข้อมูลส่วนบุคคล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้นโยบายการจัดบิ๊กดาต้าข้อมูลการเงินจะเป็นประโยชน์หลายด้าน แต่ขณะเดียวกันผู้เกี่ยวข้องก็กังวลว่า การนำข้อมูลไปใช้ในการวิเคราะห์ต่าง ๆ นั้นจะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนตัวหรือไม่ อีกทั้งการนำข้อมูลไปใช้ในแนวทางที่ถูกต้องหรือไม่

“ตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่าศูนย์นี้จะมีขอบเขตแค่ไหน เพราะเป็นการดึงข้อมูลการเงินส่วนบุคคลทุกด้านมา หมายความว่า ภาครัฐ หรือผู้ที่นำข้อมูลไปใช้ สามารถรู้ข้อมูลส่วนตัวทุกอย่าง เรื่องนี้คงต้องมีการถกเถียงอีกมาก และต้องมีกฎหมายมารองรับ ทั้งการขออนุญาตเปิดเผยข้อมูล นำข้อมูลไปใช้ ซึ่งการทำศูนย์ข้อมูลการเงินนี้จะทำให้คนที่อยู่นอกระบบภาษีถูกต้อนเข้าสู่ ระบบภาษีในที่สุด เพราะรัฐก็มีข้อมูลอยู่ในมือ ผ่านการทำธุรกรรมทางการเงิน โอนเงินต่าง ๆ” แหล่งข่าวกล่าว

ผู้ว่า ธปท.แจงประโยชน์ ปชช.

ขณะที่นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธปท.อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตั้งหน่วยงานดังกล่าว อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) หลัก ๆ หน่วยงานนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของข้อมูลโดยตรง เนื่องจากเจ้าของข้อมูลสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น สามารถนำไปขอสินเชื่อ หรือสามารถสร้างความน่าเชื่อถือของข้อมูล คล้ายกับศูนย์ข้อมูลเครดิตที่มีในปัจจุบัน

“อย่างวันนี้จะขอกู้เงินต้องมีหลักประกัน แต่อนาคตมีฟินเทค มีเทคโนโลยี สามารถนำข้อมูลการชำระเงินต่าง ๆ มาใช้อ้างอิงเป็นข้อมูลเครดิตของตนเองได้ อย่างอาลีบาบา รู้หมดว่าแต่ละเดือนลูกค้าสั่งซื้อสินค้าเท่าไหร่ ซื้อต่อเนื่องหรือไม่ สิ่งเหล่านี้สำคัญกว่าการมีที่ดิน และสามารถนำไปขอสินเชื่อได้ แนวคิดการทำศูนย์ข้อมูลดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอีโคซิสเต็มให้เกิด ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ข้อมูลจากการทำธุรกรรมต่าง ๆ” นายวิรไทกล่าวและว่าการตั้งศูนย์จัดเก็บข้อมูลนี้ไม่ได้เจาะจง หรือมีเป้าหมายเรื่องภาษี หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นการสร้างข้อมูลพื้นฐานไว้ ส่วนอนาคตจะพัฒนา ต่อยอดทำอะไรก็สามารถทำได้ เช่น หากจะทำประกัน อนาคตข้อมูลประกันจะถูกแชร์ทั้งอุตสาหกรรม สามารถทราบเบี้ยเปรียบเทียบได้ ไม่เหมือนทุกวันนี้ ที่แต่ละบริษัทจะรู้และมีข้อมูลเฉพาะของตัวเอง

“เรื่องที่สำคัญคือเจ้าของข้อมูลได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลธุรกรรมของตัวเอง ให้เท่าทันกับโลกยุคใหม่ ส่วนโครงการนี้จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ขณะนี้กำลังคุยกับหลายหน่วยงานอยู่ และท้ายที่สุดแล้วก็ต้องมีการกฎหมายออกมารองรับ ซึ่งก็ต้องเป็นไปตามขบวนการเมื่อไหร่นั้น ยังไม่สามารถตอบได้” นายวิรไทกล่าว

“คลัง” หนุนเก็บข้อมูลการเงิน

ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงการคลังได้มีการพูดคุยเบื้องต้นกับ ธปท. ในเรื่องแนวคิดการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อบริหารจัดการระบบข้อมูล โดยจะมีการจัดเก็บข้อมูลธุรกรรมการเงินของประชาชน โดยหลักการถือว่าดี เพราะจะได้มีข้อมูลที่เป็นบิ๊กดาต้า โดยกระทรวงการคลังจะสนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ รัฐบาลอาจจะใช้ NIT (Negative Income Tax) เข้าไปดูแล รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ที่จะรวมไปไว้กับ Public Data Bureau ที่กำลังหารือกับ ธปท.

“เบื้องต้นคิดว่าต้องเป็นข้อมูลที่ เกี่ยวข้องกับเรื่องการเงิน ซึ่งส่วนราชการหรือแม้แต่ภาคเอกชนจะสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ใน เชิงนโยบายได้ ปัจจุบันข้อมูลอาจจะกระจัดกระจายอยู่หลายหน่วยงาน แต่ตรงนี้ยังไม่นิ่ง ต้องคุยกันอีกพอสมควร เรื่องการตั้งหน่วยงานก็ยังมีหลายโมเดล เช่น อาจตั้งขึ้นมาภายใต้ ธปท. หรืออยู่ภายใต้กระทรวงการคลัง หรือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ก็ได้”

กม.ฟินเทคเปิดช่องเข้าถึงข้อมูล

ด้านนายวรพล โสคติยานุรักษ์ ประธานคณะกรรมการพิจารณาศึกษาและเสนอแนะแนวทางการแก้ไขกฎหมายเพื่อพัฒนาและ กำกับดูแลธุรกิจเทคโนโลยีการเงิน และการทำธุรกรรมด้วยเทคโนโลยี กล่าวว่า แนวคิดการตั้งหน่วยงานข้างต้นขึ้นมา เป็นเรื่องที่มีการพูดมาตั้งแต่ในอดีต แต่ก็ยังไม่เป็นรูปธรรม ขณะที่ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการประกอบธุรกิจด้วยเทคโนโลยีทางการเงิน หรือฟินเทค ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถเชื่อมโยงกับกรณีการตั้งบิ๊กดาต้าการเงิน

สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือ ต้องการสนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีทางการเงินมาใช้พัฒนาและต่อยอดใน ประเทศไทย โดยให้หน่วยงานเอกชน หรือหน่วยงานของรัฐ มีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่ผู้ให้บริการทางการเงิน เพื่อให้เกิดการเข้าถึงข้อมูลที่สามารถนำไปวิเคราะห์ วิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการในอนาคต เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และจำเป็นต้องเอามาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศด้วย นอกจากนี้ กฎหมายยังเปิดช่องให้สามารถนำข้อมูลธุรกรรมการเงินต่าง ๆ ค่าน้ำ ค่าไฟ สินเชื่อ เงินฝากต่าง ๆ มาวิเคราะห์ วิจัยได้ และเปิดให้ผู้ให้บริการทางการเงินหน้าใหม่ เช่น ฟินเทค สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เคยอยู่ในการครอบครองของเอกชน ของรัฐ เพื่อนำไปพัฒนา ไปใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต” นายวรพลกล่าว