คปภ.เฮียริ่งประกันชีวิตตั้งไพรเวตฟันด์เอื้อยูนิตลิงก์ มิ.ย.

คปภ.ปลดล็อกธุรกิจประกันชีวิตตั้งไพรเวตฟันด์สับกองยูนิตลิงก์ จ่อออกประกาศเร็ว ๆ นี้-เฮียริ่งภาคธุรกิจต้นเดือน มิ.ย.นี้ หวังแก้ปัญหาลูกค้าเสียประโยชน์ต้องพักเงินในกองทุนตลาดเงินรับดอกเบี้ยต่ำ เตรียมร่อนหนังสือแจ้ง ส.ประกันชีวิตไทยบอกต่อสมาชิก

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คปภ.อยู่ระหว่างแก้ไขประกาศเกี่ยวกับการเปิดให้บริษัทประกันชีวิตจัดตั้งกองทุนส่วนบุคคล (ไพรเวตฟันด์) เพื่อบริหารหรือตัดสินใจแทนลูกค้าในการสับเปลี่ยนกองทุนรวมของประกันชีวิตควบการลงทุน (ยูนิตลิงก์) ได้ ซึ่งกำลังเสนอให้ นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. ลงนาม หลังจากนั้นคาดว่าจะทำประชาพิจารณ์ (เฮียริ่ง) กับภาคธุรกิจได้ในช่วงต้นเดือน มิ.ย.นี้ โดยระหว่างนี้ทาง คปภ.จะส่งหนังสือเวียนไปที่สมาคมประกันชีวิตไทย เพื่อจะได้แจ้งบริษัทสมาชิกต่อไป

“คงใช้เวลาไม่นานน่าจะมีผลบังคับใช้ได้ เพราะเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ โดยกฎเกณฑ์จะผ่อนคลายลง ซึ่งบริษัทประกันชีวิตที่สนใจตั้งไพรเวตฟันด์ ก็สามารถเตรียมตัวในเรื่องเอกสารกับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไว้ก่อน เมื่อประกาศมีผลบังคับใช้ ก็สามารถยื่นขออนุญาตจากทาง ก.ล.ต.ได้เลย” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทประกันชีวิตที่ขายกรมธรรม์ยูนิตลิงก์จะมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุน (LBDU) จากทาง ก.ล.ต. แต่หากต้องการสับเปลี่ยนกองทุนรวมจะต้องได้รับการอนุมัติ หรือมีคำสั่งยินยอมจากลูกค้าก่อน ซึ่งปัญหาคือเมื่อติดต่อลูกค้าไม่ได้ บริษัทประกันจะต้องโยกเงินส่วนนี้ไปไว้ในกองทุนตลาดเงิน (Money Market Fund) ซึ่งเสียโอกาสในการลงทุน

“การตั้งกองทุนส่วนบุคคลจะเหมาะกับบริษัทประกันชีวิตขนาดใหญ่ เนื่องจากต้องเสียค่าใบอนุญาตค่อนข้างแพง และมีค่าธรรมเนียมรายปีที่คิดตามยอดธุรกรรม ซึ่งบริษัทประกันชีวิตขนาดเล็กอาจจะไม่คุ้มกับการลงทุน”

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันนี้ใบอนุญาตกองทุนส่วนบุคคลจะมีค่าใบอนุญาตอยู่ที่ 5 ล้านบาท ค่าใบคำขอประมาณ 30,000 บาท ทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 25 ล้านบาท (กรณีลูกค้าเป็นรายย่อย) และทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 10 ล้านบาท (กรณีลูกค้าเป็นสถาบัน)

นางสาวอุมาพันธ์ เจริญยิ่ง รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาเรื่องนี้ หลังจากเมื่อเดือน เม.ย. ทาง ก.ล.ต.ได้แก้ไขประกาศเกี่ยวกับระบบงานกองทุนส่วนบุคคล โดยกรณีกองทุนปิดตัวบริษัทประกันชีวิตสามารถสับเปลี่ยนกอง หรือสลับ (switching) ไปไว้อีกกองที่มีความเสี่ยงใกล้เคียงกันได้ โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตกองทุนส่วนบุคคล แต่จะต้องมีระบบงาน โครงสร้างการบริหารงาน หรือหน่วยงานที่ทำการคัดเลือกกองทุนอย่างชัดเจน ส่วนกรณีกองทุนที่มีผลประกอบการ (performance) ไม่ดี หากจะโยกไปกองอื่นจำเป็นต้องมีใบอนุญาตกองทุนส่วนบุคคล เพื่อทำหน้าที่บริหารแทน

นายบัณฑิต เจียมอนุกูลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจนเนอราลี่ประกันชีวิต (ไทยแลนด์) กล่าวว่า บริษัทค่อนข้างสนใจ และทุกบริษัทประกันชีวิตก็น่าจะสนใจ เพราะการตั้งกองทุนส่วนบุคคลจะเอื้อให้บริษัทประกันทำอะไรได้มากขึ้น แต่อาจจะไม่ได้ขอเป็นใบอนุญาตไพรเวตฟันด์เต็มรูปแบบ เพราะสิ่งที่บริษัทประกันต้องการคือใบอนุญาตไพรเวตฟันด์สำหรับบริหารจัดการกรมธรรม์ยูนิตลิงก์โดยเฉพาะ ซึ่งเข้าใจว่าทาง ก.ล.ต.จะทำออกมาพิเศษ และค่าใบอนุญาตก็น่าจะถูกลง

“คงจะมีไม่กี่บริษัทที่จะขอสมัครทำไพรเวตฟันด์เต็มรูปแบบ เนื่องจากต้องมีการวางโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องค่าใบอนุญาต แต่มีระบบงานและรายละเอียดต่าง ๆ ที่ต้องมีให้ครบตามกฎหมายซึ่งจะแพงมาก จึงอาจจะไม่คุ้ม แต่หากบริษัทประกันมีผู้จัดการกองทุนไพรเวตฟันด์ ก็สามารถที่จะเลือกกองทุนอื่น ๆ ที่มีการพูดคุยกับลูกค้าไว้ล่วงหน้าใส่เข้าไปให้ลูกค้าได้เลย ซึ่งลูกค้าจะได้ประโยชน์ เพราะกอง Money Market Fund ดอกเบี้ยต่ำ ไม่ควรวางเงินไว้ในกองนี้นาน แต่วันนี้หากเกิดเหตุการณ์ที่กองทุนมี performance ไม่ดี จะต้องนำเงินลูกค้าไปไว้ที่กอง Money Market Fund หากติดต่อลูกค้าไม่ได้ ลูกค้าจะเสียประโยชน์ไปเรื่อย ๆ” นายบัณฑิตกล่าว