ลุ้นคลังชงแก้ กม.ประกันรถ เพิ่มคุ้มครองทรัพย์สิน พ.ร.บ.

คปภ.จ่อชงคลังให้ความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฉบับใหม่ สิ้น พ.ค.นี้ ชี้ สนช.ยกร่างขยายครอบคลุมความเสียหายแก่ทรัพย์สิน ด้าน “นายก ส.ประกันวินาศภัยไทย” หวั่นภาคธุรกิจไม่พร้อมให้บริการเคลมรถจักรยานยนต์ กังวลเคลมพุ่งเซอร์วิสไม่ทัน ประชาชนเดือดร้อน

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สำนักงาน คปภ.ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายร่วมกับสำนักงานนายทะเบียนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เสนอความเห็นร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฉบับใหม่ ที่อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นผู้เสนอร่างไว้ก่อนหน้านี้ โดยมีการแก้ไขประเด็นความเสียหายที่เกิดจากการใช้รถให้ครอบคลุมถึงทรัพย์สิน ซึ่งคาดว่า คปภ.จะเสนอความเห็นกลับไปยังกระทรวงการคลังได้ภายในสิ้นเดือน พ.ค. 62 นี้

โดยคณะกรรมาธิการสามารถเรียกผู้มีส่วนได้เสียเข้ามารับฟังความเห็นได้ แม้ว่าจะคาบเกี่ยวรัฐบาลใหม่แต่กฎหมายสามารถเดินหน้าไปได้ เพราะเสนอร่างไว้ในชั้น สนช. ซึ่งต้องไปดำเนินการต่อเมื่อมีการจัดตั้งสภาขึ้นมาใหม่

“เราไม่ได้ขัดอะไรพราะที่ผ่านมา เราประกันรถคุ้มครองคน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมันเกิดความเสียหายทั้งคนและทรัพย์สิน ซึ่ง 2 สาเหตุหลักคือ กรณีต่างชาติขับรถข้ามแดนเข้ามาแล้วก่อให้เกิดความเสียหายโดยไม่มีประกันรถภาคบังคับ และการใช้รถในประเทศที่รักษาแต่ร่างกาย ชดใช้การเสียชีวิต/ทุพพลภาพ แต่คุ้มครองทรัพย์สินยังไม่ได้รับการเยียวยา ซึ่งทรัพย์สินของภาครัฐเราเองก็ได้รับผลกระทบด้วย” แหล่งข่าวคปภ.กล่าว

ทั้งนี้ รายละเอียดความคุ้มครองยังไม่ได้มีการกำหนดเพิ่มเติม โดยปัจจุบันความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลอยู่ที่ 80,000 บาท กรณีเสียชีวิตจะได้รับการเยียวยา 300,000 บาท หลังจากนี้คงจะต้องเชิญภาคเอกชนเข้ามาร่วมพิจารณาตัวเลขคุ้มครองทรัพย์สินและอัตราเบี้ยประกันใหม่ โดยดำเนินการออกเป็นกฎหมายลูกต่อไป

“เบี้ยประกันรถภาคบังคับ สนช.คงอยากให้เท่าเดิมคือมอเตอร์ไซค์เบี้ยประกันคันละ 300 บาท รถยนต์คันละ 600 บาท เนื่องจากสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน แค่อัตราเบี้ยประกันขณะนี้ยังซื้อกันไม่ครบ หากยิ่งไปเพิ่มเบี้ยอาจมีผลต่อการบริโภคลดลง” แหล่งข่าวกล่าว

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ประกันภัยรถภาคบังคับถูกเสนอโดยพันตำรวจโทพงษ์ชัย วราชิต อดีตสมาชิก สนช. ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะคุ้มครองทรัพย์สินในวงเงิน 5 หมื่นบาทตามที่ได้ยินข่าวหรือไม่ เพราะยังไม่เห็น โดยในส่วนความคุ้มครองประกันทรัพย์สินสำหรับรถยนต์คงไม่มีปัญหา แต่รถจักรยานยนต์ภาคธุรกิจคงไม่พร้อมที่จะให้บริการ เพราะมีจำนวนมากอาจจะเซอร์วิสไม่ทัน

“มอเตอร์ไซค์เวลาเกิดเคลม คงเคลมกันเยอะมากเพราะมีตั้ง 20 กว่าล้านคัน เพราะฉะนั้นถ้ายกร่างไปแล้วกรณีมอเตอร์ไซค์จะเป็นปัญหา ดังนั้นภาคเอกชนไม่เห็นด้วยที่จะให้เพิ่มความคุ้มครองทรัพย์สินรถมอเตอร์ไซค์”

อย่างไรก็ดี คาดว่าภาครัฐคงจะเข้ามาหารือความพร้อมในการบริการของภาคธุรกิจ เพราะบริการหลังการขายเป็นสิ่งสำคัญมาก หากชนแล้วไม่มีคนออกไปทำเคลมที่เพียงพอประชาชนก็จะได้รับความเดือดร้อน