การจัดอันดับจังหวัดที่มีผู้มีรายได้น้อย “อ่อนแอ” ในทางเศรษฐกิจและสังคม

คอลัมน์ เช้านี้ที่ซอยอารีย์

โดย พงศ์นคร โภชากรณ์

ก่อนอื่นต้องบอกว่า อันนี้เป็นการจัดอันดับของผมเอง โดยใช้ “ข้อมูลคนจน” ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และ “ข้อมูลปัญหาพื้นฐานของชุมชน/หมู่บ้าน” หรือ กชช. 2 ค. ของคณะกรรมการชนบทไทยของกรมพัฒนาชุมชนมาทาบกันด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก เพื่อวิเคราะห์ดูว่าผู้มีรายได้น้อยของจังหวัดไหนที่มีความอ่อนแอมากน้อยกว่ากัน สิ่งที่เราต้องการ คือ เมื่อทราบแล้วว่าจังหวัดไหนมีความอ่อนแอ อ่อนแอจากอะไร เราจะแก้ปัญหาให้คนจนในจังหวัดนั้น ๆ อย่างไร นั่นคือ “โจทย์ใหญ่เชิงยุทธศาสตร์ของรัฐบาล”

เดิมทีเดียวนั้น เรามักจะใช้ตารางสัดส่วนคนจนต่อประชากรของสภาพัฒน์ เป็นตัวจัดอันดับ ที่ติดอันดับ 1-5 ก็จะมี จ.แม่ฮ่องสอน จ.ปัตตานี จ.นราธิวาส จ.กาฬสินธุ์ และ จ.นครพนม เป็นต้น พอดูไปหลายปีย้อนหลัง ก็พบว่า 10 อันดับแรก ใน 10 ปีล่าสุด เกือบจะเป็นจังหวัดหน้าเดิม ๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งการดูเฉพาะสัดส่วนคนจนต่อประชากรไม่ช่วยให้เราทราบ “สาเหตุของความยากจน” ผมจึงใช้ข้อมูล กชช. 2 ค. มาช่วย ทำให้เรา “ตาสว่างมากขึ้น” ซึ่งผมดึงมาแค่ 5 หมวด จาก 7 หมวด ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานในชนบท สภาพพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สุขภาวะอนามัย การศึกษา และทรัพยากรธรรมชาติ ที่จริงเครื่องชี้ทำนองนี้มีอีกเยอะที่เก็บเป็นเลข 13 หลัก แต่ขาดการรวบรวมมาสร้าง “data lake” เท่านั้นเอง

วิธีง่าย ๆ ที่ผมใช้คือ หาสัดส่วนผู้มีรายได้น้อยที่มีปัญหารุนแรงใน 5 หมวดข้างต้น แล้วเทียบกับจำนวนประชากร หากมีสัดส่วนมากกว่า 20% = 5 คะแนน สัดส่วน 15-20% = 4 คะแนน สัดส่วน 10-15% = 3 คะแนน สัดส่วน 5-10% = 2 คะแนน และสัดส่วนต่ำกว่า 5% = 1 คะแนน ทำแบบนี้จนครบ 5 หมวด แล้วรวมคะแนน คะแนนเต็มจะอยู่ที่ 25 คะแนน ปรากฏว่าคะแนนสูงสุดที่สะท้อนถึง “ความอ่อนแอเชิงโครงสร้าง” 10 อันดับแรก ได้แก่ จ.น่าน จ.แม่ฮ่องสอน จ.พะเยา จ.สุรินทร์ จ.แพร่ จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร จ.กำแพงเพชร จ.มหาสารคาม และ จ.กาฬสินธุ์ ในขณะที่คะแนนน้อยสุดที่สะท้อน “ความแข็งแรงเชิงโครงสร้าง” 10 อันดับท้ายสุด ได้แก่ จ.สมุทรปราการ จ.นนทบุรี จ.ภูเก็ต จ.สุราษฎร์ธานี จ.ระยอง จ.นครปฐม จ.กระบี่ จ.ปทุมธานี จ.ชลบุรี และ จ.สมุทรสาคร จากข้อมูลชุดนี้ พอจะสรุปได้ว่า จังหวัดที่มีความอ่อนแอมากกว่าจะอยู่ในภาคเหนือและภาคอีสาน ส่วนจังหวัดที่แข็งแรงมากกว่าจะอยู่รอบกรุงเทพฯ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ผลที่ได้ดูแล้วสอดคล้องตาม “common sense” เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราพุ่งความสนใจไปหามากกว่า คือ จังหวัดที่อ่อนแอกว่า แล้วเราจะมีมาตรการอะไรออกไปช่วยคนในจังหวัดเหล่านี้ คำตอบอยู่ที่เขาอ่อนแอด้านไหน เขามีปัญหาอะไร (ตามตารางแนบ) เช่น จ.น่าน มีปัญหาในระดับรุนแรงทั้ง 5 หมวด จึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาพร้อมกันทั้ง 5 ด้าน และต้องบูรณาการความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ จากส่วนกลางและในพื้นที่ หรือหากจะจัดลำดับก่อนหลังในการแก้ปัญหาต้องดูขนาดของปัญหา ความพร้อมของหน่วยงาน และงบประมาณที่ใช้ให้ละเอียด จ.แม่ฮ่องสอน ต้องเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เร่งยกระดับพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และเร่งสนับสนุนการศึกษา ก่อนเป็น 3 เรื่องแรก ต่อมาเป็นเรื่องเร่งปรับปรุงทรัพยากรธรรมชาติ และตามด้วยการเร่งส่งเสริมสุขอนามัย อย่างไรก็ตาม ทั้งข้อมูลคนจนและปัญหาชุมชนมีการจัดทำขึ้นทุกปี การปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยจะช่วยให้รัฐบาลสามารถ “ติดตาม” และสร้างเป็น “KPI เชิงพื้นที่” ได้

ดังนั้น การรักษาอาการป่วยต้องวินิจฉัยอย่างละเอียด แล้วค่อยให้ยาเฉพาะทาง ไม่ใช่ให้แต่ยาพาราเซตามอล นอกจากจะไม่หายแล้ว ยังสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ