จัดพอร์ตรับ Fund Flow ไหลเข้า

คอลัมน์ เติมความคิดพิชิตการลงทุน

โดย เอกภาวิน สุทราภิชาติ บล.ไทยพาณิชย์ จำกัด

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) ในเดือนพฤษภาคม 2562 ได้ปรับตัวลดลง 3.18% เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MOM) ซึ่งเป็นไปตามที่คาดว่าจะเกิด sell in may (ขายในเดือน พ.ค.) โดยดัชนีปรับตัวลงแรงในช่วงครึ่งเดือนแรก และ SET ทำจุดต่ำสุดที่ 1,599.10 จุด ก่อนแกว่งตัวออกด้านข้างในกรอบ 1,600-1,635 จุด ในช่วงครึ่งหลังของเดือน และเป็นช่วงประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 1/62 ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของตลาด รวมถึงความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐที่เข้มข้นขึ้น และการเมืองในประเทศที่ยังคลุมเครือ ที่เป็นปัจจัยลบที่กดดันตลาดในเดือนก่อน

อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าในเดือนมิถุนายนนี้ แม้สถานการณ์ภายนอกยังไม่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสงครามการค้าที่ยังต้องตามต่อ และราคาน้ำมันที่ปรับลง แรงกดดันราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานรวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจต่าง ๆ ส่วนใหญ่ล้วนออกมาแสดงถึงสัญญาณชะลอตัว โดยล่าสุดรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของจีนและสหรัฐ ประจำเดือนพฤษภาคมอ่อนตัวลง โดยจีนรายงานตัวเลขดัชนีภาคการผลิต (PMI) ต่ำกว่าระดับ 50.0 ที่ 49.4 ออกมาต่ำกว่าคาดที่ 49.9 และต่ำกว่าเดือนก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 50.1 ซึ่งเป็นอีกครั้งนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 62 ที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 50.0

ด้านสหรัฐ ตัวเลขภาคการผลิตของ ISM อยู่ที่ 52.1 ออกมาต่ำกว่าคาดที่ 53.0 และต่ำกว่าเดือนก่อนที่อยู่ระดับ 52.8 ซึ่งแม้ว่าจะอยู่เหนือกว่าระดับ 50.0 แต่ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ และดัชนีลดลงเป็นเดือนที่สองนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562

อย่างไรก็ตาม คาดว่าตลาดหุ้นไทยในเดือนมิถุนายนนี้ จะ “ฟื้นตัว” กลับได้ โดยมองกรอบบนไว้ที่ 1,645 และ 1,670 จุด ตามลำดับ ซึ่งคาดว่าจะได้ปัจจัยบวกภายในจากการจัดตั้งรัฐบาลเป็นแรงดึงดูดให้ fund flow (เงินลงทุนต่างชาติ) ไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นไทย ส่งผลให้คาดว่าดัชนี SET จะเคลื่อนไหว outperform (ดีกว่า) ตลาดหุ้นอื่น ๆ ท่ามกลางปัจจัยภายนอกที่ยังเป็นลบ โดยหลังจากการจัดตั้งรัฐบาล คาดว่าจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ล่าสุดมีการปรับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง โดยเพิ่มงบฯลงทุนผูกพันจาก 5% เป็น 8% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งผมมองว่าเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ส่งผลให้คาดว่า SET จะมีความโดดเด่นกว่าตลาดอื่น ๆ

ทั้งนี้ ในเดือนพฤษภาคม ทิศทาง fund flow จากต่างชาติไหลเข้าไทยเพียงแห่งเดียวในภูมิภาค โดยซื้อสุทธิใน SET ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 รวมกว่า 3.67 พันล้านบาท ซึ่งหากเปรียบเทียบกันในภูมิภาคอาเซียนด้วยกันแล้ว เดือนพฤษภาคม fund flow ไหลเข้าไทยรวม 114 ล้านเหรียญ ขณะที่ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ไหลออก 270,515 และ 558 ล้านเหรียญ ตามลำดับ ขณะที่เดือนพฤษภาคม ค่าเงินบาทแข็งค่า 0.83% ตรงข้ามกับเปโซ, รูเปียห์ และริงกิต ที่พากันอ่อนค่า 0.85%, 1.07% และ 1.36% ตามลำดับ ซึ่งเม็ดเงินไหลเข้ามาในตลาดพันธบัตร ตลาดหุ้น และนักลงทุนต่างชาติ เริ่มมีสถานะ long (ซื้อ) สะสม ในดัชนี SET50 futures ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของพฤษภาคมอยู่ที่ 3.3 หมื่นสัญญา

ดังนั้น theme การลงทุนเดือนมิถุนายน 2562 จากมุมมองที่คาดว่า ดัชนี SET มีโอกาสกลับมาฟื้นตัวได้ และให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า (outperform) ตลาดหุ้นประเทศอื่น ๆ ด้วยปัจจัยโดดเด่นเฉพาะตัว ท่ามกลางปัจจัยภายนอกที่ยังเป็นลบ ทำให้การจัดพอร์ตรับทิศทาง fund flow ที่จะไหลเข้า ผมเลือกกลุ่มหุ้นที่ลงมามาก และมีมูลค่าน่าสนใจ เพื่อซื้อดักการฟื้นตัวของตลาด ซึ่งผมให้น้ำหนักไปที่กลุ่มแบงก์ และธุรกิจโรงกลั่น

โดยกลุ่มแบงก์เลือกหุ้น บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และธนาคารกรุงไทย (KTB) ซึ่งจะได้ประโยชน์สูงสุดจากวัฏจักรการลงทุนที่กำลังเกิดขึ้นในไทย รวมถึงมีมูลค่าทางพื้นฐานที่น่าสนใจส่วนธุรกิจโรงกลั่น เลือกหุ้น บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) และ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ที่มีธุรกิจโรงกลั่นอยู่ด้วย นอกเหนือจากธุรกิจปิโตรเคมี โดย IRPC มองผลการดำเนินงานผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 1/62 ขณะที่ผลการดำเนินงานจะฟื้นตัวได้ในไตรมาส 2/62 นอกจากนี้ ยังมี valuation (มูลค่าหุ้น) น่าสนใจ และเงินปันผลในระดับที่ดี ขณะที่ PTTGC มี valuation ที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน และมีประเด็นบวกจากโครงการซื้อหุ้นคืน (วงเงินไม่เกิน 3 พันล้านบาท และจำนวนหุ้นซื้อคืนไม่เกิน 50 ล้านหุ้น หรือราว 1.1% ของหุ้นที่จำหน่ายแล้ว โดยจะเป็นการเข้าซื้อในตลาด ตั้งแต่วันที่ 11 มิ.ย.-9 ธ.ค. 2562) ส่วนตัวสุดท้ายสำหรับการจัดพอร์ตการลงทุน ผมเลือกหุ้น บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH) ซึ่งมีความน่าสนใจ สำหรับแนวโน้มกำไรที่ยังอยู่ในขาขึ้น

สุดท้ายนี้ ขอปิดท้ายด้วยการศึกษาในอดีตช่วง 10 ปี ย้อนหลัง SET ในเดือนมิถุนายนของทุกปี มักปรับตัวขึ้นได้ ด้วยความน่าจะเป็นอยู่ที่ระดับ 70% ทั้งนี้ ตลาดจะมีโอกาส downside risk หรือปรับลงได้ต่อ หากสหรัฐมีการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอีกมูลค่า 3 แสนล้านเหรียญ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ต้องระวัง…และพบกันใหม่ในฉบับหน้าครับ…ด้วยรักและหวังดี