“ไทยประกันชีวิต” ชี้ปีนี้เบี้ยรวมอุตฯโตแค่5% รับภาวะศก.โลก-ไทยชะลอฉุดกำลังซื้อ

“ไทยประกันชีวิต” ชี้ปี 62 เบี้ยรับรวมทั้งระบบโตแค่ 5% รับผลกระทบภาวะเศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจในประเทศชะลอฉุดกำลังซื้อ ครึ่งปีหลังรุกจับตลาดกลุ่มบน ปั้นตัวแทนคุณภาพผ่าน 4 คุณวุฒิหลัก ตั้งเป้าเบี้ยปีแรก 1.9 หมื่นล้านบาทโต 15%

นายสวัสดิ์ นฤวรวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Life Operation Officer บมจ.ไทยประกันชีวิต เปิดเผยว่า ในปี 2562 บริษัทตั้งเป้าเบี้ยประกันรับปีแรกอยู่ที่ 19,000 ล้านบาท เติบโต 15% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน มาจากช่องทางตัวแทน 13,000 ล้านบาท และช่องทาง อื่น (Non-Agent) อีกประมาณ 6,000 ล้านบาท ทั้งนี้ผลประกอบการช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.62) บริษัทมีเบี้ยประกันรับปีแรกอยู่ที่ 5,981 ล้านบาท เบี้ยประกันรับปีต่อไป อยู่ที่ 24,624 ล้านบาท เบี้ยประกันชำระครั้งเดียว อยู่ที่ 4,001 ล้านบาท และเบี้ยประกันรับรวม อยู่ที่ 34,606 ล้านบาท เติบโต 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน



อย่างไรก็ดี คาดว่าแนวโน้มธุรกิจประกันชีวิตในครึ่งปีหลังยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว ทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภายในประเทศ และผลกระทบจากเสถียรภาพทางการเมือง ส่งผลให้กำลังซื้อภายในประเทศชะลอตัว โดยเฉพาะผู้มีรายได้ประจำหรือกลุ่มเกษตรกร อย่างไรก็ตามคาดว่าธุรกิจประกันชีวิตในปี 2562 มีอัตราการเติบโตของเบี้ยประกันรับรวมประมาณ 5%

“ในช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทจะมุ่งขยายฐานลูกค้าเพิ่มเติม โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจมากนัก คือ กลุ่มระดับบน หรือ High Net Worth และการพัฒนาแบบประกันใหม่ ตามแนวคิดทุกคำตอบของการประกันชีวิต หรือ Life Solutions เพื่อตอบความต้องการของลูกค้าอย่างครบรอบด้าน อาทิ แบบประกันคุ้มครองโรคร้ายแรง แบบประกันเพื่อการวางแผนมรดก เป็นต้น รวมถึงการรีครูทตัวแทนใหม่ ทั้งในรูปแบบการรีครูทผ่านกิจกรรมต่างๆ และ Online Recruitment โดยสร้างสรรค์ภาพยนตร์โฆษณาชุดใหม่ เผยแพร่ผ่านสื่อ Online ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม รวมถึงจัดทำสปอตวิทยุ และ Banner Ad

นายอังกูร ศรีกัลยาณบุตร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Marketing Officer บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่บริษัทได้ประกาศปรับโมเดลการดำเนินธุรกิจ หรือ Reinvent Business Model เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นทุกคำตอบของการประกันชีวิต หรือ Life Solutions โดยให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนทัศนคติ หรือ Mindset ของคนในองค์กร โดยเฉพาะบุคลากรฝ่ายขาย ที่ต้องเป็นเพื่อนคู่คิด เคียงข้างผู้เอาประกันในทุกช่วงของชีวิต หรือ Life Partner

ไทยประกันชีวิตจึงได้กำหนดคุณวุฒิบุคลากรฝ่ายขายออกเป็น 4 ระดับ ตามทักษะ คุณสมบัติ และการผลิตผลงานได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด ประกอบด้วย คุณวุฒิ Life Partner (LP) มีใบอนุญาตตัวแทนประกันชีวิต และผ่านการอบรมตามหลักสูตรที่กำหนด คุณวุฒิ Life Partner Prime (LPP) เป็นผู้บริหารระดับหน่วยขึ้นไป ที่ผ่านการอบรมหลักสูตร Life Partner คุณวุฒิ Financial Partner (FP) ผู้บริหารระดับหน่วยขึ้นไป ผ่านการอบรมหลักสูตร LP และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ขายแบบประกัน Universal Life และคุณวุฒิ Financial Partner Prime ผู้บริหารระดับหน่วยขึ้นไป ที่มีใบอนุญาต IC License เพื่อขายสินค้า Unit Linked และผ่านการอบรมหลักสูตรที่บริษัทฯ กำหนด

ทั้งนี้ บุคลากรฝ่ายขายแต่ละกลุ่มจะได้รับการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ตามหลักสูตรที่ได้มาตรฐานของบริษัทฯ ทั้งทักษะด้านการขาย อาทิ หลักสูตรที่ปรึกษาทางการเงิน (Financial Advisor : FA) หลักสูตร Smart Agent หลักสูตร Life Partner หลักสูตรการนำเสนอขายแบบประกัน Unit Linked หรือ Universal Life หลักสูตรด้านการเงินและการลงทุน ขณะเดียวกันยังต้องผ่านการอบรมหลักสูตรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การตลาด การบริการหลังการขาย เพื่อให้ตัวแทนของบริษัทฯ เป็นผู้รอบรู้และรู้รอบ ในการเป็นทุกคำตอบของชีวิตลูกค้า

“บุคลากรฝ่ายขายของบริษัทฯ ต้องมีทักษะ 3 ด้าน ประกอบด้วย Knowledge Skill ทักษะการเป็นผู้รู้รอบ และรอบรู้ มีความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ การออมเงิน การลงทุน ภาษี รวมถึงความรู้ด้านสุขภาพ Technology Skill ทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยี การนำเทคโนโลยีมาช่วยนำเสนอขายให้สะดวกและรวดเร็วขึ้น และ Spirit Skill ทักษะความรู้ด้านการบริการด้วยใจ มีจิตวิญญาณของการดูแล โดยเฉพาะ Spirit Skill จะทำให้ฝ่ายขายของไทยประกันชีวิตแตกต่างจากฝ่ายขายของบริษัทอื่น รวมถึงสามารถสร้างความแตกต่างจากการบริการของเทคโนโลยีสมัยใหม่ และแข่งขันกับช่องทางการขายอื่น ในยุค Digital Disruptive ได้”นายอังกูรกล่าว

ดังนั้น บริษัทจึงได้มุ่งเน้นการสร้างทักษะทั้ง 3 ด้าน เพื่อปรับ Mindset บุคลากรฝ่ายขาย ผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ ของบริษัทฯ เช่น โครงการ Yes Club ซึ่งเป็นโครงการสำหรับฝ่ายขายรุ่นใหม่ โครงการ Thailife Family Spirit หรือโครงการสัมมนากลยุทธ์ประจำปี เพื่อให้ฝ่ายขายเข้าใจและเข้าถึงการดูแลผู้เอาประกันในลักษณะ Human Insight ไม่ใช่เพียงความต้องการในลักษณะ Customer Insight โดยการสร้างคุณค่าของมนุษย์ (Value of People) ให้เกิดกับผู้เอาประกันอย่างแท้จริง