อินเดีย เครื่องยนต์เสริมเศรษฐกิจไทย

คอลัมน์ เลียบรั้วเลาะโลก

โดย ขวัญใจ เตชเสนสกุล EXIM BANK

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนมีความเชื่อมโยงกับไทยในระดับสูง และมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในหลายมิติ โดยเฉพาะด้านการส่งออกและการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม จากภาวะเศรษฐกิจจีนที่มีทิศทางชะลอตัว ประกอบกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ยังไม่แน่นอน ได้เริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ ดังเห็นได้จากมูลค่าส่งออกของไทยไปจีนหดตัว 7 เดือนติดต่อกัน

ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนในไทยเริ่มหดตัวต่อเนื่องเกือบทุกเดือนมาตั้งแต่เดือน ก.ค. 2561 เป็นที่น่าสังเกตว่า ท่ามกลางเศรษฐกิจจีนที่ส่งสัญญาณชะลอตัวกลับพบว่า “อินเดีย” กำลังก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย และกลายเป็นเครื่องยนต์เสริมที่ช่วยชดเชยผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในหลายมิติ ดังนี้

มิติด้านการส่งออก นับตั้งแต่สงครามการค้า ดุเดือดขึ้นในช่วงครึ่งหลังปี 2561 การส่งออกของไทยไปจีนก็เริ่มซบเซาต่อเนื่อง โดยครึ่งหลังปี 2561 การส่งออกของไทยไปจีนหดตัวราว 4% และช่วง 5 เดือนแรกปี 2562 หดตัวเกือบ 9% สวนทางกับการส่งออกไปอินเดียที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยมูลค่าส่งออกของไทยไปอินเดียช่วงครึ่งหลังปี 2561 และช่วง 5 เดือนแรกปี 2562 ขยายตัวได้ 8% และ 2% ตามลำดับ ทำให้นับตั้งแต่ต้นปี 2562 อินเดียกลายเป็นตลาดส่งออกของไทยเพียงไม่กี่ตลาดที่ยังขยายตัวได้ และขยับขึ้นเป็นตลาดส่งออก top 10 ของไทยได้เป็นครั้งแรก นอกจากนี้ สินค้าส่งออกของไทยไปอินเดียพบว่าเป็นกลุ่มสินค้าเดียวกับที่ไทยส่งออกไปจีนและได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าค่อนข้างสูง อาทิ รถยนต์ เครื่องจักรกล คอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์พลาสติก และผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นต้น ทำให้อินเดียถือเป็นตลาดหลบภัยในช่วงที่เศรษฐกิจจีนสะดุดลง

มิติด้านการท่องเที่ยว ภาคการท่องเที่ยวถือเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่สำคัญตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของนักท่องเที่ยวจีน เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ของไทย อย่างไรก็ตาม จากภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลง มีส่วนทำให้นักท่องเที่ยวจีนในไทยหดตัวต่อเนื่อง โดย 5 เดือนแรกปี 2562 นักท่องเที่ยวจีนหดตัว 4.3% หรือลดลงราว 2 แสนคน อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมของไทย 5 เดือนแรกปี 2562 ยังขยายตัวได้กว่า 4% ดีกว่าที่หลายฝ่ายคาด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้อานิสงส์จากนักท่องเที่ยวอินเดียที่เพิ่มขึ้นถึงกว่า 23% หรือเพิ่มขึ้นราว 1.5 แสนคน ทำให้ปัจจุบันอินเดียก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 3 ของไทยรองจากจีนและมาเลเซีย จากที่เคยอยู่อันดับ 7 ในปี 2561 ซึ่งช่วยชดเชยนักท่องเที่ยวจากจีนที่หายไป และประคับประคองภาคการท่องเที่ยวโดยรวมได้ในปัจจุบัน

นอกจากมิติด้านการส่งออกและการท่องเที่ยวแล้ว อินเดียยังเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการเป็นแหล่งลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของนักลงทุนไทย โดยในช่วงปี 2559-2561 มูลค่าการลงทุนโดยตรงของนักลงทุนไทยในอินเดียเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7.2% ต่อปี สวนทางกับมูลค่าการลงทุนโดยตรงของไทยในจีนที่หดตัว 2.2% ต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน และสูงกว่าการลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศทั้งหมดที่ขยายตัวเฉลี่ย 4.7% ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบาย “Make in India” ที่เน้นดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติผ่านสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนต่าง ๆ รวมถึงการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาทั้งดัชนี Ease of Doing Business และดัชนี World Competitiveness ของอินเดียปรับอันดับขึ้นต่อเนื่อง เมื่อประกอบกับการที่ตลาดอินเดียมีขนาดใหญ่และเศรษฐกิจอินเดียขยายตัวสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ทำให้ปัจจุบันอินเดียกลายเป็นแหล่งลงทุนที่เนื้อหอมที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

แม้ว่าความเชื่อมโยงระหว่างไทยและอินเดียในทางเศรษฐกิจจะยังมีมูลค่าไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับจีน แต่ตลาดอินเดียเริ่มแสดงศักยภาพและทวีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งต้องจับตาดูว่าอินเดียจะก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่สำคัญอย่างที่จีนเคยเป็นได้มากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม ด้วยศักยภาพของอินเดียที่เริ่มโดดเด่นขึ้นมา นับเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการไทยในการเร่งรุกตลาดอินเดีย ทั้งในด้านการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุน ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดผลกระทบในช่วงที่เศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะซบเซาได้อีกทางหนึ่ง