สงคราม (การค้า) ยังไม่จบ แค่พักรบชั่วคราว

REUTERS/Aly Song/File Photo

คอลัมน์ Smart SMEs
โดย วีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ธนาคารกสิกรไทย

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ร้อนแรงกินเวลายาวนานมากว่า 1 ปี แม้ว่าล่าสุดจะสงบศึกกันชั่วคราวจากการประชุม G20 ที่ผ่านมา แต่ก็ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนว่าจะมีบทสรุปออกมาในรูปแบบใดและเมื่อใดจะจบลงเสียที ขณะที่ผลกระทบจากการตอบโต้ด้วยมาตรการทางการค้าของทั้ง 2 ฝ่ายก็ปรากฏชัดขึ้นเรื่อยมา โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ผลกระทบสงครามการค้าที่ส่งผลต่อภาคการส่งออกของไทยไปแล้วประมาณ 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะขยับสูงขึ้นอีก ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ต้องพร้อมรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ซึ่งน่าจะยืดเยื้อต่อเนื่องไปถึงปี 2563

ถึงแม้ว่าขณะนี้สหรัฐและจีนจะอยู่ระหว่างสงบศึกทางการค้าเป็นการชั่วคราว แต่มาตรการที่บังคับใช้ไปแล้วก็ยังคงมีผลอยู่ โดยปัจจุบันจีนมีการเก็บภาษีสินค้าสหรัฐไปหมดทุกรายการแล้ว แต่ฝั่งสหรัฐเก็บภาษีสินค้าจีนไปเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น และยังคงมีความเสี่ยงที่จะเก็บภาษีส่วนที่เหลืออีกมูลค่า 3.25 แสนล้านดอลลาร์ หากการเจรจายังล่าช้า ซึ่ง SMEs ไทยต้องติดตามการเก็บภาษีรอบนี้อย่างใกล้ชิด เพราะอาจส่งผลกระทบมากกว่ารอบอื่น ๆ ที่ผ่านมา ดังนี้

o ธุรกิจ SMEs ที่ส่งออกสินค้าขั้นกลางและวัตถุดิบไปจีนจะมีความเสี่ยงมากขึ้น ต้องเฝ้าระวังคำสั่งซื้อสินค้าจากตลาดจีนที่น่าจะลดลง หากสหรัฐเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนที่เหลือมูลค่า 3.25 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้าย ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า รองเท้า ของเล่นเด็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แท็บเลต และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไฮเทคต่าง ๆ ที่มีธุรกิจไทยเกี่ยวโยงอยู่พอสมควร แต่ก็มีสัญญาณบวกว่าสินค้าไทยอาจสามารถเข้าไปแทนที่สินค้าคู่กรณีได้ทั้งในตลาดสหรัฐและจีน เช่น เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ แต่ก็มีมูลค่าไม่สูงนัก เพราะมีข้อจำกัดเรื่องกำลังในการผลิต

o ธุรกิจ SMEs ที่ส่งสินค้าไปอาเซียนและซ้อนทับกับจีนอาจถูกชิงพื้นที่ตลาดมากขึ้น เนื่องจากสินค้าจีนโดยเฉพาะกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก หันมาทำตลาดในกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ประกอบกับหากสหรัฐเก็บภาษีสินค้าจีนเพิ่มขึ้นในกลุ่มที่เหลือก็เป็นไปได้ว่าสินค้าในกลุ่มเสื้อผ้าและรองเท้าจากจีนอาจทะลักมาแข่งขันกับสินค้าไทยทวีความร้อนแรงขึ้นไปอีก

o ภาพเศรษฐกิจทั้งสหรัฐและจีนรวมทั้งเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ซึ่งส่งผลต่อความต้องการบริโภคสินค้าในภาพรวมตามไปด้วย กระทบโดยตรงต่อ SMEs ไทยที่เน้นส่งออกสินค้าประเภทนี้ จึงควรเตรียมแผนสำรองสำหรับคำสั่งซื้อที่อาจลดลง โดยเฉพาะคำสั่งซื้อที่มาจากสหรัฐและจีน และตลาดอื่น ๆ ก็อาจได้รับผลพวงตามไปด้วย รวมทั้งการขยายตลาดใหม่ไปยังประเทศอื่นก็เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ อย่างเช่น อินเดีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง

ทั้งนี้ สิ่งที่ SMEs ต้องเฝ้าระวังมาก ๆ ในเวลานี้คือ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ที่เงินบาทอยู่ในทิศทางแข็งค่าอาจยิ่งทำให้ธุรกิจ SMEs ที่ค้าขายกับตลาดสหรัฐและจีนต้องรับศึกหลายด้าน ทั้งความไม่แน่นอนของสงครามการค้า และการอ่อนแรงของเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผ่านแรงกดดันสู่กำลังซื้อของตลาดส่งออกอื่น ๆ ของไทย ถึงแม้ว่าจะดูเป็นหนทางที่ยากลำบากสำหรับผู้ประกอบการ SMEs แต่ผมเชื่อว่าทุกปัญหามีทางออก หากมองในแง่ดีจะพบว่าทุกครั้งที่เจอปัญหา เราจะมีโอกาสลับฝีมือตัวเองให้แข็งแกร่งขึ้น

ผมขอเอาใจช่วยทุกท่านให้ประคับประคองธุรกิจฝ่าไปได้ครับ